‘วิษณุ’ แจงหนทางแก้กม.ลูกลต.ยังอีกนาน ชี้ต้องรอรธน.ประกาศใช้ ย้ำทุกอย่างจบที่กกต.

‘วิษณุ’ แจงหนทางแก้กม.ลูกลต.ยังอีกนาน ชี้ต้องรอรธน.ประกาศใช้ ย้ำทุกอย่างจบที่กกต. เปิดใจยังไม่เห็นร่างของกกต. ความจริงก็อยากรู้ แต่ยังไม่อยากรู้ตอนนี้

เมื่อวันที่​ 14 ตุลาคม​ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพูดคุยกับพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า วันนี้ (14ต.ค.) เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกกต. ซึ่งได้ข้อสรุปว่า 1.ทางกกต.จะเป็นผู้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทูลเกล้าฯถวายขึ้นไปแล้วอย่างน้อย 1 ฉบับคือกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ดูแล้วยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พาดพิงไปถึง แต่ดำริที่จะแก้ไขนั้นมันมีของมันอยู่เป็นเอกเทศก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีความเห็นจากคณะกรรมการกกต.ใหญ่ อีกครั้งหนึ่งว่า จะเอาอย่างไร หากกกต.ชุดใหญ่เห็นว่าควรต้องแก้ไข ทั้งสองฉบับไปในคราวเดียวกันทั้งส.ส.และพรรคการเมือง ก็จะเสนอมา แต่ถ้าจะเอาแต่เฉพาะที่เร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนจะมีฉบับเดียว ฉะนั้นรอให้เสนอกกต.ใหม่ก่อน

นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ทางสำนักงานกกต.ได้ยกร่างขึ้นมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประมาณ 30 มาตรา ซึ่งเป็นเรื่องของการกาบัตร 2 ใบ รวมถึงวิธีการนับคะแนน ซึ่งจะนับอย่างไรนั้นตนไม่รู้เพราะยังไม่ได้เห็นร่างดังกล่าว เพราะเขาต้องนำเสนอกกต.ใหญ่ก่อน จากนั้นจึงจะเปิดเผยให้สาธารณะชนทราบ และเมื่อกกต.ใหญ่เห็นชอบแล้วก็จะมีการรับฟังความคิดเห็นในส่วนกลาง คือฟังจากพรรคการเมือง และประชาชน จากนั้นจะส่งร่างไปให้กกต.จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรับฟังความเห็นในจังหวัดอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะรวบรวมความเห็นกลับเข้ามาที่ส่วนกลางเพื่อปรับปรุง จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม). ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 และเมื่อครม.เห็นชอบก็จะส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบอีกครั้ง แล้วก็จะเตรียมส่งร่างดังกล่าวให้รัฐสภา ที่ต้องใช้คำว่าเตรียม็เพราะว่ายังไม่ส่ง เนื่องจากตราบใดที่ยังไม่มีลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษาก็จะยังไม่ส่งไปยังสภา แต่เมื่อลงพระปรามาภิไธยลงมาประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วจึงจะได้ส่งให้รัฐสภาต่อไป ส่วนจะส่งเมื่อใดยังไม่ทราบ เพราะไปผูกติดกับพระปรมาภิไธย แต่ในชั้นนี้ก็ยกร่าง รับฟังความเห็น ตรวจและเตรียมนำเสนอต่อไป

ผู้สื่อถามว่ามาตรา 90 ที่ระบุบว่าต้องส่งส.ส.เขตก่อนส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างนี้จะทำให้เกิดระบบเลือกตั้งเบอร์เดียวทั่วประเทศไม่ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อันนี้ไม่ได้เกี่ยวกัน เพราะเรื่องดังกล่าวอยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง ที่จะมีการแก้ไขหรือไม่ก็ยังไม่รู้ ถ้ากกต.ใหญ่เห็นว่าเป็นปัญหาอาจจะแก้ไปด้วย แต่ถ้าคิดว่าไม่เป็นปัญหา ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนก็ยังไม่แก้ ซึ่งการแก้กฎหมายพรรคการเมืองมีประโยชน์อยู่ จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเสียเลยก็ไม่ได้เพราะเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตหรืออย่างอื่น ซึ่งถ้าเกิดการเลือกตั้งขึ้นเร็ว กระทันหัน ปุบปับขึ้นมา จะเตรียมการไม่ทันแต่ ตรงนี้ไม่เป็นไรรอให้กกต.ชุดใหญ่ได้พิจารณากันอีกครั้งหนึ่งก่อน

เมื่อถามว่า จะคุยกับทางกกต.อีกครั้งเมื่อใด นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่คุยแล้ว จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจึงจะได้มาดูฤกษ์ดูยามว่าจะส่งร่างไปที่สภาเมื่อไหร่ ระหว่างนี้ทุกคนทำงานของตัวเองไปได้ทั้งนั้น ทั้งยกร่างซึ่งร่างเสร็จแล้ว 30 มาตรา และเตรียมที่จะเสนอกกต.ใหญ่ ซึ่งคิดว่าคงเสนอในอีกไม่กี่วัน เมื่อกกต.ใหญ่เห็นอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น ซึ่งคือการรับฟังความเห็นส่วนกลางจากนั้นก็ส่งให้กกต.จังหวัดไปรับฟังความเห็นของจังหวัดตัวเอง แต่สมัยนี้รับฟังความเห็นออนไลน์กันได้ก็เชื่อวาาจะเร็ว และรวบรวมเพื่อเสนอครม. แล้วในระหว่างที่ยังไม่ลงพระปรมาภิไธยก็ทำส่วนนี้ไปพลางก่อนได้แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้ ซึ่งกกต.ก็จะประสานกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นระยะอยู่แล้ว หรืออาจจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตรวจสอบดู

Advertisement

เมื่อถามว่าได้เห็น 30 มาตราแล้วหรือยัง นาบวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เห็น เพราะเขาต้องเสนอกกต.ใหญ่ก่อน จึงไม่อยากเอามาแสดงก่อน แต่พอผ่านกกต.ใหญ่แล้วมันก็ต้องเปิดเผยให้คนรับรู้เพื่อติชม ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่ารับฟังตาม มาตรา 77 ได้อย่างไร

เมื่อถามว่าถ้าติชมแล้วสามารถปรับแก้ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ เพราะการให้ติชมก็เพื่อที่จะแก้ไข ไม่ว่าใครก็สามารถติดชมได้ ทั้งครม.หรือแม้แต่ประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองเขาต้องทำอยู่ ส่วนที่หลายพรรคกำลังทำอยู่นั้นเขาก็มีสิทธิเสนอได้ เพราะผู้ที่จะเสนอได้ก็เป็นครม.ตามข้อเสนอเเนะขอกกต.หรือส.ส.1ใน10 ประมาณ 50 คนสามารถทำได้ แต่ส.ส.คงยังไม่เสนอร่างของตัวเองต่อสภาจนกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญเหมือนกัน ซึ่งจะเสนอไปได้อย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้ไข เพราะฉะนั้นถึงเวลาประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเสร็จ ก็จะเสนอเข้าสภาไป ถ้ามีหลายฉบับก็จะไปรวมพิจารณากัน โดยเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาและต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน เมื่อรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งกลับไปให้กกต.อีกภายใน 15 วัน

นายวิษณุ กล่าวว่า เพื่อดูว่าการที่คณะกรรมาธิการนำไปแก้นั้นผิดไปจากเจตนารมย์ของกกต.หรือไม่ แล้วกกต.จะต้องตอบกลับมาภายใน 10 วัน จากนั้นสภาก็จะทำการแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน เสร็จแล้วจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไรก็ตามตนไม่ได้ให้คำแนะนำอะไรไปกับเลขาฯกกต.ทั้งนี้เข้าใจว่าสัปดาห์หน้าก็หน้าจะรู้แล้ว

Advertisement

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่การนับคะแนนจะกลับไปเหมือนปี 50 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ยังไม่เห็นร่าง ซึ่งความจริงก็อยากรู้ แต่ยังไม่อยากรู้ตอนนี้ เพราะกกต.ใหญ่เขาอาจเปลี่ยนแปลงเนื่องจากทางกกต.ยังไม่เห็น

เมื่อถามว่า คาดจะเสนอเข้าสู่ครม.ได้เมื่อไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า อีกนานกว่าขั้นตอนทุกอย่างกว่าจะเสร็จ แต่เรายังมีเวลา แม้สภาจะเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน แต่ถึงอย่างไรก็ยังเสนอไม่ได้จนกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image