กทม.เร่งวางกระสอบทรายจุดเสี่ยงท่วม เฝ้าระวัง 24 ชม.

กทม.เร่งวางกระสอบทรายจุดเสี่ยงท่วม เฝ้าระวัง 24 ชม.

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานคร บริเวณนอกแนวคันกั้นน้ำ กทม.ว่า ล่าสุดได้ช่วยระบายน้ำในแนวคลองหกวาสายล่าง โดยเปิดประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ ประตูระบายน้ำคลองสามวา และประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ (ตอนหนองใหญ่) เพื่อช่วยระบายน้ำจาก จ.ปทุมธานี ผ่านเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนทางด้านตะวันออกรับน้ำด้านนอกคันผ่านทางคลองแสนแสบโดยใช้ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) และประตูระบายน้ำแสนแสบ (บางชัน) คลองประเวศบุรีรมย์ใช้ประตูระบายน้ำคลองประเวศ (ลาดกระบัง) และประตูระบายน้ำประเวศ (กระทุ่มเสือปลา)เพื่อเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน จากนั้นจึงใช้อาคารบังคับน้ำที่มี ได้แก่ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำในการทำหน้าที่เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการเดินเครื่องสูบน้ำตลอดเวลา และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวมไปถึงการควบคุมระดับการ เปิด-ปิด ประตูระบายน้ำให้มีความสัมพันธ์กับการเดินเครื่องสูบน้ำและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 87.93 กิโลเมตร ซึ่งเป็นแนวป้องกันตนเองของเอกชนหรือหน่วยงานอื่น ยาวประมาณ 8.30 กิโลเมตร (ปี 2563 มีแนวป้องกันตนเอง ยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ลดลง 700 เมตร) และเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมของกทม. ซึ่งก่อสร้างโดยสำนักการระบายน้ำ ความยาวประมาณ 79.63 กิโลเมตร (ปี 2563 มีแนวป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร เพิ่มขึ้น 700 เมตร) โดยมีค่าระดับความสูงของแนวป้องกันน้ำท่วม ดังนี้ 1.ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานกรุงธนบุรี ความสูง +3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) 2.ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานกรุงธนบุรี ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความสูง +3.25 ม.รทก. 3.ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานพุทธฯ ความสูง +3.00 ม.รทก. 4.ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพุทธฯ ถึงบางนา ความสูง +2.80 ม.รทก. 5.ริมคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ความสูง +3.00 ม.รทก.

“นอกจากนี้ ได้ดำเนินการเรียงกระสอบทรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวร และบริเวณที่แนวป้องกันมีระดับต่ำ จำนวนทั้งสิ้น 76 จุด ครอบคลุม 17 เขต ความยาว 2,918 เมตร ความสูงประมาณมากกว่า 2.30-2.40 ม.รทก. ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ ใช้กระสอบไปทั้งสิ้น 92,400 ใบ กระสอบบรรจุแล้วคงเหลือ 11,000 ใบ (ใต้สะพานรัชวิภาฯ 2,000 ใบ ศูนย์ฯบึงหนองบอน 1,000 ใบ ใต้สะพานพุทธมณฑลสาย 1 ใบ ใต้สะพานทางด่วนสาทร 3,000 ใบ ใต้สะพานแก้มลิงบางแค 5,000 ใบ) ความพร้อมกระสอบเปล่า 1,040,000 ใบ (อยู่ระหว่างจัดซื้อ 300,000 ใบ) นอกจากนี้ สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้จัดเตรียมบิ๊ก แบค (Big Bag) 200 ใบ ตะกร้าใส่ทรายสำหรับเรียงกระสอบ 5,150 ใบ และพนังกั้นน้ำฉุกเฉิน 9 เส้น (1 เส้น ยาว 15 ม.) พร้อมดำเนินการตรวจสอบความพร้อมและความมั่นคงแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำตลอด 24 ชั่วโมง” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

Advertisement

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า เบื้องต้น ได้มอบหมายสำนักการระบายน้ำ กทม.ประสานสำนักงานเขตลงพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน โดยแจกยารักษาโรค อาหาร และเข้ารับฟังปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงตรวจสอบสภาพพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้น สำหรับชุมชนที่อยู่นอกแนวคันป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ที่ไม่สามารถเรียงประสอบทรายเพื่อเป็นคันป้องกันน้ำท่วมได้ สำนักการระบายน้ำได้ประสานกรมเจ้าท่าในการใช้มาตรการเรื่องการเดินเรือ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับบ้านเรือนของประชาชน

ทั้งนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า เพื่อให้น้ำเหนือหลากและเมื่อน้ำทะเลที่ขึ้นหนุนสูงได้ไหลลงอ่าวไทยได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น กทม.ได้ประสานงานกองทัพเรือขอสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 12 ลำ ติดตั้งในคลองลัดโพธิ์ โดยเรือผลักดันน้ำเรือ 1 ลำ มีประสิทธิภาพระบายน้ำ 100,000 ลบ.ม./วัน มีประสิทธิภาพระบายน้ำได้ 1,200,000 ลบ.ม./วัน นอกจากนี้ หากมีฝนตกหนักทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นทางกองทัพเรือก็จะสนับสนุนเรือผลักดันน้ำติดตั้งเพิ่มเติม โดยประสานงานร่วมกันระหว่าง กทม. กรมอุทกศาสตร์ และกรมชลประทาน ในการติดตามสถานการณ์น้ำขึ้น น้ำลง และการเดินเครื่องเรือผลักดันน้ำให้สัมพันธ์กับการเปิดปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จนกว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image