ยิ่งนาน ยิ่งร้าวลึก ความสัมพันธ์ 3 ป. อนาคต รบ .‘บิ๊กตู่’

หน้า 3 วิเคราะห์ : ยิ่งนาน ยิ่งร้าวลึก ความสัมพันธ์ 3 ป. อนาคต รบ.‘บิ๊กตู่’

วิเคราะห์หน้า 3 : ยิ่งนาน ยิ่งร้าวลึก ความสัมพันธ์ 3 ป. อนาคต รบ.‘บิ๊กตู่’

การเมือง ณ เวลานี้ ทุกสายตาจับต้องที่ 3 ป.

สังเกตคำถามเกี่ยวกับ ครม. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต้องตอบ

หนีไม่พ้นเรื่องปรับ ครม.และเรื่องยุบสภา !

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยืนยันทุกครั้งที่มีผู้ถามว่าไม่ปรับ ครม. และไม่ยุบสภา แต่แลดูความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐแล้ว

Advertisement

ตอบยอมรับว่า ทุกพรรคกำลังสะสมแต้มเพื่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เดินสายทุกวันหยุดไปทั่วประเทศ และทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครของพรรค

พรรคก้าวไกล นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ยกพลขึ้นอีสาน ฝากผีฝากไข้กับพ่อแม่พี่น้อง ด้วยวาทะ พรรคการเมืองไหนถ้าคนอีสานไม่สนับสนุน พรรคการเมืองนั้นยากที่จะได้เป็นนายกฯ

พรรคการเมืองอื่นๆ ก็มีความเคลื่อนไหว เดินหน้าออกพบปะประชาชน

โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ สั่งการให้ ส.ส.ลงพื้นที่ดูแลประชาชน

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ออกตรวจพื้นที่บ่อยครั้ง

เพียงแต่การตรวจพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร ถูกจับโยงกับการออกตรวจพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์

เพราะ 2 ป. นี่เพิ่งมีเรื่องเคืองกันมาก่อน

ความจริงแล้วเหตุผลเรื่องการปรับ ครม. และเรื่องการยุบสภานั้น มิได้ล่องลอยมาแบบไร้มูล

กระแสข่าวปรับ ครม. เกิดขึ้นภายหลังจากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย

เมื่อรัฐบาลขาดรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

ตำแหน่งดังกล่าวก็ควรตกเป็นของคนใดคนหนึ่ง

กระแสการปรับ ครม. จึงเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ระยะหลังมีโพลสำรวจความคิดเห็นระบุเห็นด้วยกับการยุบสภาเลือกตั้งใหม่หลายต่อหลายครั้ง

กระแสความต้องการดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสังคมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคนเจ็บปวดกับสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจ

ประกอบกับความเคลื่อนไหวหาเสียงของบรรดาพรรคการเมืองเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ข่าวคราวการยุบสภาเลือกตั้งใหม่กระหึ่ม

แม้ว่าขณะนี้ยังต้องรอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง แต่หลายฝ่ายก็มองว่า ถึงเวลาที่ต้องลงพื้นที่เก็บคะแนนเสียง

เพราะอาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบวาระ

สาเหตุของความเชื่อมาจากความสัมพันธ์ของ 3 ป. มีปัญหาจนเชื่อว่ายากจะประสานรอยร้าวกันได้แล้ว

การลงตรวจพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร เป็นสัญญาณบ่งบอกการ “แยกกันเดิน”

แม้ว่า 3 ป. จะแสดงความสัมพันธ์กันเหมือนเดิมด้วยการประชุมร่วมหลังประชุม ครม. แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ทำให้เชื่อว่าขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ กับขั้ว พล.อ.ประวิตร ยากจะอยู่ร่วมกัน

เมื่อ พล.อ.ประวิตร แต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นที่ปรึกษา

ทันทีทันใดก็เกิดกระแสต่อต้านจากคนในพรรคพลังประชารัฐ

ทั้งนี้เพราะมีกระแสข่าวว่า นายพีระพันธุ์ถูกส่งเข้ามาเพื่อสืบทอดพรรคพลังประชารัฐ โดยนายพีระพันธุ์นั้นเป็นคนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ใจ

เมื่อครั้งที่นายพีระพันธุ์ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.ประยุทธ์ นี่แหละที่ดึงตัวมาทำงาน

ดังนั้น การที่นายพีระพันธุ์เข้าพรรคพลังประชารัฐ จึงทำให้ขั้วอำนาจเดิมหวั่นไหว

ตอกย้ำความไม่ไว้วางใจของ 3 ป.

การปรับ ครม. ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนถึงภาพความสัมพันธ์ใน 3 ป.

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ปลดรัฐมนตรีช่วย 2 เก้าอี้ ก็มีกระแสข่าวสะพัดว่าจะผลักดันให้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยงานในตำแหน่งรัฐมนตรีที่มหาดไทย

ในขณะที่โควต้ารัฐมนตรีช่วย 2 คนดังกล่าวนั้น พล.อ.ประวิตรเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าเป็นของพรรคพลังประชารัฐ

เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า ไม่ใช่โควต้านายกฯ

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันหลายครั้งว่า ไม่ปรับ ครม. แต่แวดวงการเมืองเชื่อว่าในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องปรับ ครม.

การปรับ ครม.นี้ มีกระแสข่าวว่า ตำแหน่งรองนายกฯ มีความสำคัญ

เพราะรองนายกฯ คนใหม่จะเป็นผู้รับการแบ่งปันภารกิจที่ พล.อ.ประวิตร กำกับดูแลอยู่

อาจหมายถึงการหั่นอำนาจของ พล.อ.ประวิตรออกไป

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐ

ตามปกติแล้วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใน ครม. และการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคแกนนำของ พปชร. จะมีความสัมพันธ์

พรรคพลังประชารัฐสมัยที่นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้า และกลุ่ม 4 กุมารเป็นผู้บริหาร สมาชิกในกลุ่มก็ได้รับเก้าอีรัฐมนตรี และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารพรรค โดยมี นายอนุชา นาคาศัย มาเป็นเลขาธิการพรรค และ พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้า

การปรับ ครม. ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

ในครั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคถูกปรับออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย จึงเป็นคำถามว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคตามมาหรือไม่

ทั้งนี้เพราะแม้ตำแหน่งเลขาธิการพรรคจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ก็เกิดการแต่งตั้ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หรือบิ๊กน้อย มาเป็นประธานยุทธศาสตร์

และแต่งตั้งนายพีระพันธุ์ กับนายสมศักดิ์ เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค

หากสืบสาวราวเรื่องย่อมทราบความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.วิชญ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส

และทราบความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ นายพีระพันธุ์

ดังนั้น ทั้งการปรับ ครม. และการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐ จึงล่อแหลมต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

การปรับ ครม. ที่จะเกิดขึ้นย่อมสร้างแรงกระเพื่อม

สมาชิกในพรรคพลังประชารัฐล้วนต้องการเก้าอี้ ขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ และขั้ว พล.อ.ประวิตร ก็ต้องการเก้าอี้

ขณะเดียวกัน หากเป็นไปได้ พรรคร่วมรัฐบาลที่ยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็ต้องการเก้าอี้

ดังนั้น ไม่ว่าใครจะได้เก้าอี้ ย่อมมีกลุ่มคนที่ผิดหวัง

นอกจากนี้ การประลองกำลังกันภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างขั้ว พล.อ.ประวิตร และขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังปรากฏให้เห็น

แม้ขณะนี้ดูเหมือนว่า ตำแหน่งบริหารของพรรคพลังประชารัฐจะยังนิ่ง

แต่ในความเป็นจริง ทุกๆ นาที ความมั่นคงของเก้าอี้แกนนำพรรค ไม่ได้มั่นคงเหมือนเก่า

เมื่อฝ่ายหนึ่งอ่อนล้า อีกฝ่ายหนึ่งพร้อมจะรุกคืบ

มีการประลองกำลังกันตลอดเวลา

ภาพการเมืองในเวลานี้ จึงเป็นการงัดข้อกันระหว่าง 3 ป.

ทั้งกระแสข่าวยุบสภา ทั้งการลงพื้นที่หาเสียง

ทุกประการล้วนมาจากการมองความสัมพันธ์ของ 3 ป.

มองเห็นรอยร้าวที่มีมากขึ้นจนยากจะเยียวยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image