‘นิกร’ เผย ‘ชทพ.-ภท.’ ทำร่างแก้พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เสร็จแล้ว ย้ำ ต้องแก้พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วย

‘นิกร’ เผย ‘ชทพ.-ภท.’ ทำร่างแก้พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เสร็จแล้ว ย้ำ ต้องแก้พ.ร.ป.พรรคการเมืองด้วย เหตุ เนื้อขัดร่างแก้รธน.ว่าด้วยระบบลต.

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์กรณีการแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ขณะนี้พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคภูมิใจไทย ได้ยกร่างแล้วเสร็จแล้ว มีเนื้อหาที่แก้ไข ไม่เกิน 10 มาตรา โดยแก้ไขรายละเอียดให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเท่านั้น ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่ามีการแก้ไข 30 มาตรา นั้น เชื่อว่าจะแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ที่มีปัญหากับการบริหารงาน ฐานะองค์กรอิสระที่ดูแลการเลือกตั้ง หากเสนอแล้วมีเหตุผลพรรคการเมืองยินดีสนับสนุน

“การเสนอแก้ไขกฎหมายลูก เชื่อว่าจะใช้เวลาพอสมควร เพราะร่างกฎหมายลูก มีสถานะเป็นกฎหมายการเงิน เมื่อพรรคการเมืองเสนอให้ประธานรัฐสภาแล้ว ประธานรัฐสภาต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีอนุมัติก่อน และเมื่อนายกรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาวาระแรก และต้องจัดการรับฟังความเห็นด้วย” นายนิกร กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายวิษณุ ระบุว่ายังไม่มีความเร่งด่วนที่จะแก้ไขพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ไขใหม่ นายนิกร กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องแก้ไข เพราะมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง โดยเฉพาะมาตรา 51(2) ที่กำหนดเนื้อหาต่อการส่งส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำหนดให้มี 150 คน ทั้งที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่รัฐสภาเห็นชอบ กำหนดให้มี 100 คน

Advertisement

นายนิกร กล่าวว่า ในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยังมีเนื้อหาที่สร้างปัญหาต่อการปฏิบัติ คือ กรณีที่กำหนดให้มีผู้แทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อมีส่วนร่วมต่อการพิจารณาส่งผู้สมัคร ส.ส. เนื่องจากมีการปรับจำนวน ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง เป็น 400 เขต ทำให้ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด เพราะของเดิมกำหนดให้มี 350 เขต ดังนั้นต้องมีการขีดเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ แต่กว่าจะทำได้ ต้องรอให้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้มีการเลือกตั้งก่อน ดังนั้นจะทำให้พรรคการเมืองมีปัญหาต่อการเตรียมพร้อม จึงควรแก้ไข โดยกำหนดให้มีผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดแทนประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อให้มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) ซึ่งเนื้อหาเหมือนกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) วันที่ 14 กันยายน 2561 หรือเนื้อหาตามร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image