‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ ย้อน 1 ปีสลายม็อบ 16 ตุลา จากปทุมวัน สู่ทะลุแก๊ซ ชี้ รัฐมีส่วน ‘ยกระดับรุนแรง’

‘มูลนิธิผสานวัฒนธรรม’ ย้อน 1 ปีสลายม็อบ 16 ตุลา จากปทุมวัน สู่ทะลุแก๊ซ ชี้ รัฐมีส่วน ‘ยกระดับรุนแรง’

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ในวาระครบรอบ 1 ปี สลายการชุมนุม 16 ตุลาคม 2563 “มูลนิธิผสานวัฒนธรรม” ได้ร่วมโพสต์คลิปวิดีโอ “จุดเริ่มต้น แฟลชม็อบ สู่ ทะลุแก๊ซ จากจีโน่ สู่ กระสุนยาง” ผ่านทางแฟนเพจ Cross Cultural Foundation (CrCF) ความยาวประมาณ 7 นาที พร้อมระบุข้อความด้วยว่า

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชวนทุกคนย้อนเวลากลับไปเมื่อ 1 ปีก่อน เพื่อทบทวนถึงเหตุและที่มาของเยาวชนและประชาชนคนรุ่นใหม่ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านการชุมนุมโดยสงบหลายครั้ง หลายวัน หลายสัปดาห์ หลายเดือนตลอดทั้งปี 2563

และอะไรเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งทิศทางการชุมนุมที่เปลี่ยนไป นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2564 จนกระทั่งวันนี้ที่ภาพของการออกไปชุมนุมคือ การออกไปปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องอะไร และควรจะต้องทำเช่นไรในสถานการณ์นี้

Advertisement

ติดตามได้ในวิดีโอนี้

https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/videos/570267600860315/

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวิดีโอดังกล่าว ได้ฉายภาพเหตุการณ์จริงประกอบกับเสียงเล่าดำเนินเรื่อง ความว่า ย้อนกลับไปปี 2563 กระแสการต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เพิ่มมากขึ้น ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก รัฐบาลสั่งปิดประเทศ และยุติกิจกรรมนอกบ้าน ทั้งกลางวัน กลางคืน เป็นผลให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลผ่านสื่อออนไลน์ทุกแขนง

Advertisement

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นในเดือน มิถุนายน ก็เกิดการบังคับสูญหาย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศกัมพูชา เมื่อ 4 มิถุนายน 2563 สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก เกิดการชุมนุมบนท้องถนนครั้งแรกในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยื่น 3 ข้อเสนอ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. ยุบสภา ก่อนเริ่มมีการปราศรัยถึงการปฏิรูปสถาบันฯ โดย อานนท์ นำภา เมื่อ 3 สิงหาคม 2563 และการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 พร้อมกระแสการออกมาเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น

บรรยากาศการชุมนุมเริ่มถูกยกระดับมากขึ้น เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม ทวีความรุนแรงหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพฯ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงเช้ามืด แกนนำ 3 คน คือ ทนายอานนท์เพนกวิน และรุ้ง ถูกจับกุม ในที่ชุมนุม ขณะที่ช่วงเย็นวันนั้น การชุมนุมยังคงดำเนินต่อ โดยย้ายสถานที่มาเป็นแยกราชประสงค์ มีการปราศรัยแยกจุดย่อยทั้งท้องถนน ก่อนจะย้ายไปในเวลา 22.00 น.

เหตุการณ์เหมือนจะผ่านไปด้วยดี แต่แล้วสถานการณ์ก็เปลี่ยนไปในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เมื่อคณะราษฎร 2563 ประกาศนัดชุมนุมที่แยกปทุมวัน ช่วงบ่าย จากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) ตั้งแถว นำรถจีโน่เข้ามายังพื้นที่ ก่อนมีคำสั่งให้สลายการชุมนุมภายใน 5 นาที และใช้รถจีโน่ฉีดน้ำแรงดันสูงและน้ำผสมสีฟ้าเข้าสู่ผู้ชุมนุม ในช่วงวลา 18.00 น. ถือเป็นการสลายชุมนุมครั้งแรก และมีการบุกจับผู้ชุมนุมที่มีสารสีฟ้าติดตัว เป็นผลให้การชุมนุมยุติลง ท่ามกลางความโกรธแค้นของประชาชนที่มีมากยิ่งขึ้น และถือเป็นจุดเปลี่ยนของทิศทางการชุมนุมหลังจากนั้น

ต่อมา เกิดกลุ่มราษฎร และการชุมนุมแบบกระจายตัว ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้พร้อมต่อการป้องกันความปลอดภัย สื่อสารผ่าน “เทเลแกรม” และเกิดการใช้สัญลักษณ์มือ “หมวกกับแว่น” เพื่อขออุปกรณ์เสริม ไปจนถึงการใช้เป็นยางเป็นโล่กำบัง

แต่สถานการณ์ไม่มีท่าทีดีขึ้น 17 พฤศจิกายน คฝ. ฉีดน้ำแรงดันสูงอีกครั้ง จากการชุมนุมหน้า รัฐสภา เกียกกาย มีการใช้แก๊สน้ำตาครั้งแรก นับแต่วันนั้น การชุมนุมเริ่มมีทิศทาการสลายที่รุนแรงมากขึ้น นับแต่ 31 ธันวาคม – ต้นปี 2564 การใช้แก๊สน้ำตา และวิ่งไล่จับฝูงชนมีเพิ่มมากขึ้น แทบทุกการชุมนุม

จุดเริ่มต้นของการสลายชุมนุมอย่างรุนแรง เริ่มในการชุมนุมของกลุ่มรีเดม ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อ 2 พฤษภาคม 2654 โดย คฝ.วิ่งไล่จับผู้ชุมนุมที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ โดยอ้งาว่า มีการปาระเบิดปิงปองและพลุใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในวันดังกล่าวมีผู้ถูกจับกุม 4 ราย

ต่อมา 7 สิงหาคม 2564 กลุ่มรีเดม นัดชุมนุม ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อมุ่งหน้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 ระหว่างทางมีการปะทะกับตำรวจ ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง มีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเพื่อสลายชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมเริ่มมีการใช้ระเบิดปิงปองและหนังสติ๊กยิงลูกแก้วใส่เจ้าหน้าที่ แม้ท้ายที่สุดจะยุติการชุมนุม 17.40 น. แต่กระนั้น การปะทะยังคงดำเนินมาเรื่อยๆ

จากนั้นมา การชุมนุมเริ่มปะทะรุนแรง ระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในชุมชนย่านดินแดง ขณะที่ผู้ชุนนุมได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา

เป็นที่ทราบกันดีว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ และเป็นหลักการสากล ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ขณะที่เมื่อการชุมนุมเริ่มมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น การสลายชุมนุมในบริบทของตำรวจ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจาการสลายชุมนุมในทุกวันนี้ จึงสะท้อนให้เห็นว่า รัฐมีส่วนสำคัญในการยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์ และการสลายชุมนุมเสียเอง รัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถอดบทเรียน และมีกลไกมากขึ้น เพื่อพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีการเยียวยา และการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เกิดพื้นที่สันติวิธีในพื้นที่ขัดแย้ง เช่น ดินแดง ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image