09.00 INDEX จากราคา”ข้าว” ถึงราคา”ยาง” “ประชานิยม”หรือ”ประชารัฐ”

14528217891452824531l

โครงการนำเงิน 12,000 ล้านบาทไปพยุงราคายางพาราในราคา 45 บาทต่อ 1 กิโลกรัมมีผลสะเทือนอย่างลึกซึ้ง
ทำให้จุดต่าง “ประชารัฐ” กับ”ประชานิยม” พร่าเลือน
เป็นอาการพร่าเลือนในห้วงซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังจะขึ้นสู่กระบวนการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ในคดีอันเกี่ยวกับ “โครงการรับจำนำข้าว”
โครงการรับจำนำข้าวที่บรรดา “นักวิชาการ” จากสถาบันวิจัยแห่งประเทศไทยหรือ “TDRI” ออกมาวิพากษ์อย่างดุเดือด เข้มข้น
ว่าเป็นการ”บิดเบือน” กลไกราคา กลไก”ตลาด”
“นักวิชาการ” จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “NIDA” ถึงกับนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
เพื่อ “สกัด” ขัดขวาง และ”ระงับ”ยับยั้ง
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ หรือ”ป.ป.ช.” ส่งคำเตือนให้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม “โครงการ”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ปาฐกถาวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง
ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น “ออมสิน” ไม่ว่าจะเป็น “ธ.ก.ส.”ปฏิเสธที่จะให้เงินกู้
แต่ถามว่า “จำนำข้าว” ต่างกับการ”ซื้อนำ”ราคายางพาราตรงไหน
จะต่างก็เพียงแต่ โครงการรับจำนำข้าว เป็นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เท่านั้นเอง
จะต่างก็เพียงแต่อย่างแรกเป็นการรับจำนำทุกเม็ด ไม่มีเงื่อนไข และด้วยอัตรา 15,000 บาทต่อเกวียน
        เป็นความต่างในเรื่อง “จำนวน”
นอกนั้น “ระบบ” และ”โครงสร้าง”ก็เหมือนกัน

ถามว่าราคาที่เป็นจริงของยางพาราในขณะนี้ โดยเฉพาะราคายางดิบที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดกลางเป็นอย่างไร
คำตอบคืออยู่ระหว่าง 32 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม
มติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพาราอันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกำหนดเมื่อวันที่ 14 มกราคม
ให้ซื้อในราคา 45 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม
อาจมิได้เป็นการสนองตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ 60 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม
แต่ 45 บาทก็มี”ส่วนต่าง”กับ 32 อยู่ถึง 13 บาท
ถามบรรดา “นักวิชาการ” ไม่ว่าจะเป็นที่สถาบันเพื่อการวิจัยประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
มาตรการนี้ “บิดเบือน” กลไก “ราคา” หรือไม่
มาตรการนี้ “บิดเบือน” กลไก “ตลาด” หรือไม่
ไม่ว่าในที่สุด “มาตรการ” ทุ่มเงินเพื่อซื้อ “นำราคา” เช่นนี้จะประสบผลสำเร็จ หรือไม่และอย่างไร
แต่ก็จะย้อนกลับไปยัง “โครงการรับจำนำ”
แต่ก็จะย้อนกลับไปยัง “โครงการประกัน”
ในที่สุดแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจาก “การเลือกตั้ง”ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจาก

“รัฐประหาร” ก็จะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
เหมือนที่เลือกในกรณีของ “ข้าว” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร “ชาวนา”
เหมือนที่เลือกในกรณีของ “ยาง” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร “ชาวสวนยางพารา”
เพียงแต่ในกรณีของโครงการ “จำนำข้าว”ถูกมองว่าเป็น “ประชานิยม” ขณะที่โครงการ “ยางพารา”ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ประชารัฐ”
นี่คือ “ความต่าง” ภายใน “ความเหมือน”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image