โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ : รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา VS รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ใช้กำลังทหารทำการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีนี้ แล้วประกาศตั้งรัฐบาลใหม่โดยตัว พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ได้ตั้งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเอง (เหมือนกับปรากฏการณ์ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557) ได้จับตัวบรรดารัฐมนตรี ส.ส. รวมทั้ง นางออง ซาน ซูจี และแกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย โดยอ้างข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ซึ่งพรรคของนางออง ซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

เมื่อกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ นางออง ซาน ซูจี ได้แล้วก็ประกาศจะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในเวลา 1 ปี แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 พลเอกอาวุโส มิน
อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะประธานสภาบริหารแห่งรัฐ กลับประกาศว่า เมียนมาจะยุติการประกาศภาวะฉุกเฉินภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 แล้วจึงจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง ทำให้เมียนมาต้องอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารนาน 2 ปีครึ่ง แทนที่จะเป็น 1 ปีตามที่เคยประกาศไว้ในตอนแรกเริ่มไม่กี่วันหลังการยึดอำนาจ

ชาวเมียนมาพากันออกมาต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างแข็งขันตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหารและได้ออกมาต่อต้านอย่างไม่ลดละ แม้จะถูกปราบปรามจากรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาอย่างรุนแรงก็ตาม โดยนับถึง
วันที่ 16 ตุลาคมนี้ ปรากฏว่ามีคนเสียชีวิตแล้ว 1,178 คน จากการที่กองทัพเมียนมาปราบปรามผู้เห็นต่าง และมีคนถูกจับกุมอย่างน้อย 7,355 คน ชาวเมียนมาทั่วประเทศได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญและความเชื่อมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างน่าทึ่งในการเผชิญกับความรุนแรงอย่างกว้างขวาง

นายจ่อ โม ทุน ผู้แทนถาวรของเมียนมา ประจำองค์การสหประชาชาติ เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ได้แถลงการณ์โจมตีเพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมาผู้ทำรัฐประหารโดยประกาศในที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ว่า “เราต้องการแรงกดดันจากประชาคมโลกที่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อยุติการยึดอำนาจ ยุติการกดขี่ข่มเหงประชาชนในเมียนมา เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็ว และกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย”

Advertisement

การออกมาประกาศในที่ประชุมสหประชาชาติดังกล่าวแตกต่างมากจากทูตในประเทศที่มีการ
รัฐประหารอื่นๆ เพราะโดยปกติ เมื่อประเทศต่างๆ ที่มีการรัฐประหาร ผู้แทนถาวรประจำประเทศนั้นๆ มักทำได้
เพียงนั่งรับฟังการประณามจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติต่างๆ พร้อมกับชี้แจงเหตุผลของการรัฐประหาร และให้คำมั่นว่าจะกลับคืนสู่การเลือกตั้งโดยเร็วเท่านั้น ไม่มีใครเคยกล้าถล่มรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของทหารเลยในประวัติศาสตร์

ปรากฏว่าสมัชชาใหญ่สหประชาชาติยังคงรับรองนายจ่อ โม ทุน เป็นผู้แทนถาวรของเมียนมา ประจำองค์การสหประชาชาติอยู่แม้ว่ารัฐบาลของคณะรัฐประหารเมียนมาจะปลดตัวนายจ่อ โม ทุน ออกจากตำแหน่งแล้วก็ตาม

ต่อมาสมาชิกรัฐสภาพม่าที่ถูกทหารยึดอำนาจประกาศเมื่อวันที่ 16 เมษายน จัดตั้งรัฐบาลเอกภาพ
แห่งชาติขึ้นเป็นรัฐบาลคู่ขนานโดยมี นายอู วิน มินต์ เป็นประธานาธิบดี นายดูวา ลาชิ ลา เป็นรองประธานาธิบดี นางออง ซาน ซูจี เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ นายมาน วิน คาย ถั่น เป็นนายกรัฐมนตรี และมีบรรดานักการเมืองของพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พร้อมด้วยผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์อีกจำนวนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีด้านต่างๆ เช่น กลาโหม คลัง ศึกษาธิการ สาธารณสุข แรงงาน และสิทธิมนุษยชน รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติมีเป้าหมายสำคัญในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐในพม่า ที่สามารถรวบรวมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและเผ่าพันธุ์ในประเทศ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิและทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเพศ เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมใดๆ

Advertisement

เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐสภาสหภาพยุโรปเพิ่งลงคะแนนเสียงเพื่อรับรองรัฐบาลเอกภาพ
แห่งชาติของเมียนมาอย่างเป็นทางการ ในฐานะตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายของพม่า และถือว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเป็นเหมือนรัฐบาลรักษาการของเมียนมา จากการเคลื่อนไหวจากสหภาพยุโรปซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศแรกที่รับรองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา โดยผู้แทนในรัฐสภายุโรปโหวตรับรอง แบบท่วมท้นถึง 647 เสียง มีเสียงคัดค้านเพียง 2 เสียง และงดออกเสียงอีก 31

นอกจากนี้ รัฐสภาฝรั่งเศสก็เพิ่งโหวตเพื่อรับรองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติอย่างเป็นทางการ เสียงภายในรัฐสภาฝรั่งเศสที่โหวตสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติแบบเป็นเอกฉันท์เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐสภาในอีกหลายประเทศในยุโรปกำลังเคลื่อนไหวเพื่อรับรองรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติไปในทิศทางเดียวกัน

เมื่อโลกกำลังเดินไปทางนี้ ในอนาคตองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ คงออกมาสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมาเพิ่มมากขึ้น

ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องกันในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันศุกร์ว่า อาเซียนจะเชิญ “ผู้แทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง” ของเมียนมา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ คำแถลงไม่ได้เอ่ยชื่อ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย หรือระบุว่าจะเชิญใครเข้าร่วมแทน แต่โดยนัยแล้ว คำแถลงนี้หมายความว่าผู้นำรัฐบาลเมียนมาจะไม่ได้รับเชิญให้ร่วมการประชุมแถลงการณ์กล่าวถึงการดำเนินการตามแผน 5 ข้อ ที่ผู้นำเมียนมาและผู้นำอาเซียนเคยเห็นพ้องกัน
เมื่อเดือนเมษายนปีนี้เพื่อยุติวิกฤตการเมืองในเมียนมาหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ โดยเฉพาะข้อ 5 ที่ให้คณะผู้แทนพิเศษของอาเซียนเดินทางไปยังเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมา เช่น นางออง ซาน ซูจี เป็นอาทิ ได้ถูกฝ่ายเมียนมาปฏิเสธโดยสิ้นเชิง

เนื่องจากสถานการณ์จลาจลในเมียนมาปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาค รวมไปถึงความเป็นเอกภาพ ความน่าเชื่อถือ และความเป็นกลางของอาเซียนเป็นอย่างยิ่ง อาเซียนจึงส่งสัญญาณทางการเมืองต่อรัฐบาลทหารเมียนมาว่า อาเซียนไม่ใช่กลุ่มที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย จะมาบงการได้ จากที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาบ่ายเบี่ยงที่จะให้นายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 2 ของบรูไน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษอาเซียน ได้พบปะกับ นางออง ซาน ซูจี โดยอ้างว่าไม่สามารถให้พบกับบุคคลที่อยู่ระหว่าง
การถูกพิจารณาคดี ซึ่งรวมถึงนางซูจีและสมาชิกรัฐบาลของนางหลายรายที่โดนจับกุมและตั้งข้อหาต่างๆ นานา ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียและอินโดนีเซียต่างแสดงท่าทีชัดเจนว่า ประเทศของพวกเขาไม่ต้องการเชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ร่วมประชุมอาเซียนซัมมิต

ต้องจับตาดูกันต่อไปนะครับ พร้อมให้กำลังใจแก่ฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้ชัยชนะเหนือเผด็จการในทุกแห่งในโลกนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image