ครม.เห็นชอบ ‘ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี’ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน

ครม.เห็นชอบ ‘ร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี’ ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน ส่ง “รมว.คค.” เซ็น 22 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุมระดับสูงว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19) พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว โดยมีกำหนดรับรองในวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ในการประชุม High-Level Conference on COVID-19(HLCC 2021) ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมรายงานว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(International  Civil Aviation Organization : ICAO) ได้มีหนังสือแจ้งเชิญประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม HLCC 2021 ระหว่างวันที่ 12-22 ตุลาคม 2564  ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในหัวข้อหลักคือ หนึ่งวิสัยทัศน์เพื่อการฟื้นฟูการบิน ความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์และความยั่งยืนภายหลังภาวะระบาดใหญ่ทั่วโลก  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรลุฉันทามติร่วมกันตามแนวทางพหุภาคีในการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการบินที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ และความยั่งยืนในภาคการบินในอนาคต และจะมีการรับรองปฏิญญาภายใต้หัวข้อดังกล่าวด้วย

สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยเน้นย้ำความสำคัญของการร่วมมือกันระหว่างรัฐสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ICAO และองค์การอนามัยโลก(WHO) มีรายละเอียดที่สำคัญเช่น ประเด็น การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมการบินจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19  จะสนับสนุนการทำงานของคณะทำงาน ICAO Council Aviation Recovery Taskforce (CART) และให้ความสำคัญของมาตรฐานร่วมในการเดินทาง การทำงานร่วมกันผ่านระบบดิจิทัลแอปพลิเคชัน ตลอดจนการถอดบทเรียนจากโรคระบาดในปัจจุบัน  และการทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นบนแนวทางของICAO และ WHO  รวมทั้งจัดตั้งยุทธศาสตร์ Public Health Corridors ในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี หรือความตกลงในรูปแบบอื่นๆที่มีผลเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับวัคซีนร่วมกันและการลดความเสี่ยงเพิ่มเติมอื่นๆตามความจำเป็น

ขณะที่การประสานกันของแนวปฏิบัติในการเดินทางระหว่างประเทศนั้น ผู้โดยสารทุกคนควรได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ความสามารถในการเดินทางและการได้รับวัคซีนจะต้องไม่เป็นเงื่อนไขสำหรับการเดินทาง รวมถึง การบรรเทาหรือยกเว้นข้อกำหนดในการตรวจหาเชื้อและกักตัวสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ โดยจัดให้มีทางเลือกอื่นๆสำหรับผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับวัคซีน  และการอำนวยความสะดวกการขนส่งวัคซีนทางอากาศ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการต่อสู้กับโควิด-19 โดยเฉพาะการขนส่งไปยังประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image