ประจักษ์-พวงทอง นำทีมคนส.เดินเท้าจากมธ. ทวงสิทธิประกัน ย้ำสังคมปมนักโทษการเมือง

ประจักษ์-พวงทอง นำทีมคนส.เดินเท้าจากมธ. ทวงสิทธิประกัน ย้ำสังคมปมนักโทษการเมือง

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 19 ตุลาคม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “จากธรรมศาสตร์ สู่ศาลฎีกา เดินหาความยุติธรรม” เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้เยาวชนผู้ถูกคุมขังในคดีทางการเมือง

โดยรวมตัวที่ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเดินรณรงค์ผ่านท้องสนามหลวงมายังหน้าศาลฎีกา เพื่อร่วมกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” โดยมีผู้ร่วมกิจกรรม อาทิ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์, ดร.ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง, เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายอุเชนทร์ เชียงเสน นักวิชาการ, ผศ.นาตยา อยู่คง คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร, ผศ.ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มมวลชนจำนวนหนึ่งมาเข้าร่วมกิจกรรม เช่น นายไพศาล จันปาน นักกิจกรรมทางการเมือง และวรวรรณ แซ่อั้ง หรือ ป้าเป้า

เวลา 17.15 น. คณาจารย์ตั้งขบวนหน้า ประตู ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเดินเท้าข้ามถนนหน้าพระธาตุ ตัดท้องสนามหลวงมุ่งหน้าสู่ศาลฎีกา เพื่อร่วมกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” กับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ โดย รศ.ดร.ประจักษ์ถือป้ายภาพวาดของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำราฎร และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, รศ.ดร.ยุกติ ถือป้ายข้อความ “ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยให้กับการวิจารณ์”, ผศ.ดร.ภาสกร ถือป้ายภาพวาดนายพริษฐ์ที่มีข้อความว่า #FREEเพนกวิน เป็นต้น

Advertisement

ต่อมา เวลา 17.23 น. ขบวนของ คนส. เดินเท้าถึงหน้าศาลฎีกา ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ กระทั่ง เวลา 17.39 น. ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ยืนตั้งแถวบริเวณหน้าศาลฎีกา ยาวไปทางฝั่งรูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม

รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า วันนี้ ตนในฐานะตัวแทนของ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เราจัดกิจกรรมวันนี้ขึ้นเพื่อย้ำเตือนสังคมไม่ให้ลืมว่า วันนี้ประเทศไทยยังมีนักโทษการเมือง โดยเฉพาะเยาวชน นิสิต นักศึกษาถูกขังในเรือนจำ จำนวนมาก บางคนอย่าง นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน อยู่ในเรือนจำว่า 70 วัน นอกจากนั้น น.ส.เบนจา อะปัญ ซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์เช่นกัน ล่าสุดก็ถูกขังอยู่ในเรือนจำทั้งที่คดีของเบนจายังไมถึงขั้นถูกฟ้องโดยอัยการด้วยซ้ำ

“จริงๆ ทุกคนที่ติดคุกตอนนี้ ไม่ได้รับการประกันตัวเลย ในทางคดี ยังไม่มีคดีไหนที่มีคำพิพากษา ยังไม่มีการตัดสินโดยศาลชั้นต้น บางคดียังไม่เริ่มไต่สวนในศาลด้วยซ้ำ แต่พวกเขากลับถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในฐานะพลเมืองไทย มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ให้มาสู้คดีอย่างเป็นธรรม

Advertisement

ขนาดผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ ฆ่าข่มขืน รุมทำร้าร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต ยังได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี ในอดีตคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งหลาย ไม่ว่าเสื้อเหลือง, กปปส. แกนนำได้รับการประกันตัวทั้งสิ้นระหว่างสู้คดี ไม่ต้องถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ บางดดี พี่น้องคงเข้าใจว่า การพิจารณาคดีเกี่ยวกับการชุมนุม ลากยาวถึง 10 ปีกว่าจะมีคำตัดสินของศาลชั้นต้น ขอให้นึกภาพ ประชาชนที่ออกไปต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้รับการประกันตัวโดยยังไม่ตัดสิน เขาถูกจำคุกขังฟรี 10 ปีนั้น ชีวิตที่สูญหายไป ใครเป็นคนรับผิดชอบ ถ้าในเวลาต่อมาเขาถูกตัดสินว่าเป็นผู้บริสุทธิ์” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวต่อว่า คนเหล่านี้ถามว่าทำอะไรผิด เพนกวิน ไผ่ อานนท์ เบนจา และอีกหลายคน ไม่ได้ไปทำร้ายใคร ไม่ได้ไปใช้ความรุนแรง อุกฉกรรจ์แต่อย่างใด ความผิดเดียวที่เขามีคือ แสดงความคิดเห็น ใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและผู้มีอำนาจ เรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำได้ในสังคมประชาธิปไตย ฉะนั้น สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงฉบับปัจจุบัน ควรได้รับการประกันและประยุกต์ใช้กับผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองทุกกลุ่ม บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ต้องไม่ใช้แนวคิด อุดมการณ์ หรือจุดยืนทางการเมืองของตนมาใช้ในการตัดสิน ต้องเป็นกลาง มีความยุติธรรม สังคมจึงจะมีความสงบสุข

“เราไม่อยากเห็นกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพียงเพื่อรักษา หรือป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจถูกวิพาก์วิจารณ์ บุคคลสาธารณะ ที่ใช้งบประมาณของแผ่นดิน ย่อมไม่อยู่เหนือการตรวจสอบของประชาชน คือหลักการพื้นฐาน วันนี้ ‘พม่า’ ซึ่งเป็นเผด็จการกว่าเราด้วยซ้ำ ยังจะปล่อยนักโทษทางการเมืองถึง 5,000 กว่าคน เพราะถูกอาเซียนบอยคอต พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ถามว่า เกียรติภูมิ ศักดิ์ศรีของประเทศอยู่ตรงไหน ถ้าเข้าร่วมประชุมในฐานะหัวหน้ารัฐบาลที่ยังขังนักกิจกรรมการเมืองจำนวนมาก จับเยาวชน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่เคลื่อนไหวอย่างสงบสันติไปอยู่ในคุก โดยไม่ให้แม่แต่สิทธิประกันตัว เช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์ก็จะมีภาพลักษณ์ไม่ต่างจากนายพลมิน อ่อง หล่าย ของพม่า อาเซียน ควรร่วมกดดัน ให้รัฐบาลไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงจุดยืนตรงนี้ คืนความเป็นธรรมให้กับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกคน” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว และว่า

หลังจากนี้ เราจะพยายามเข้าเยี่ยมนักกิจกรรม ที่ราชทัณฑ์ และเรือนจำ ซึ่ง ม.ธรรมศาสตร์ จัดสอบผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ นายพริษฐ์ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในเทอมนี้และขาดสอบ จึงพยายามประสาน เพื่อนำเอกสารและข้อสอบ ให้นักศึกษาเข้าไปทำในเรือนจำได้

“พล.อ.ประยุทธ์ มักบอกว่า มาจากประชาธิปไตย เหตุใดจึงยังไม่ยอมใช้อำนาจในลักษณเปิดกว้าง รับฟังความเห็นของประชาชน เชื่อว่าสังคมนานาชาติจับตาอยู่ตลอด ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ‘เกียรติภูมิของชาติ’ สูญเสียไปมากแล้ว เป็นภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างตกต่ำอย่างยิ่ง ของรัฐบาลไทยในยุคปัจจุบัน” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ด้าน รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า เรามาวันนี้ก็เพื่อที่จะบอกกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจว่า เราจะไม่ลืมเยาวชนของเราที่ถูกขังอยู่ ไม่ว่าจะขังนานแค่ไหน เราก็ไม่ลืม จะติดตามเฝ้ามองด้วยความโกรธแค้น ไม่มีประเทศไหนที่เจริญได้ ด้วยการจับเยาวชนที่มีความปราถนาดีกับประเทศชาติ ไปขังคุกขนาดนี้

“ถ้าประเทศนี้เป็นบ้าน ก็ใหญ่โตแต่ภายนอก เสาที่ค้ำยันบ้านหลังนี้ ข้างในผุกร่อน เพราะว่าเยาวชนซึ่งเป็นคนที่กำลังเติบโต เขาถูกกดปราบ ลิดรอสิทธิ เสรีภาพ แต่คุณไม่สามารถหยุดความคิดเขาได้ ถ้ายังไม่ฟังเยาวชน ยังมุ่งแต่จะปราบปรามเขา ก็อยากจะบอกว่า บ้านหลังใหญ่หลังนี้ นับวันมีแต่ผุกร่อนและพังทลาย ถึงเวลารับฟังเสียงประชาชน เลิกปราบปราม กดขี่เสรีภาพของเขาเสียที วันนี้ประชาชนจำนวนมากพร้อมสนับสนุนเยาวชนที่ถูกคุมขังอยู่ อยากเตือนไปถึงผู้มีอำนาจ” รศ.ดร.พวงทองกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image