เปิดมติ 7:2 เสียงศาลรธน. ชี้ ให้ ‘ไพบูลย์’ รอด ยุบพรรคตัวเอง เข้าพปชร.ไม่ผิด

เปิดมติ 7:2 เสียงศาลรธน.ชี้ ให้ ‘ไพบูลย์’ รอด ยุบพรรคตัวเอง เข้าพปชร.ไม่ผิด

“ไพบูลย์ ” รอด มติศาลรธน.เสียงข้างมากวินิจฉัย ไม่สิ้นสุดสมาชิกภาพส.ส. ชี้ พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพ ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนข้อกล่าวหามีวาระซ่อนเร้น ไร้พยานหลักฐาน

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 20 ตุลาคม ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 60 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ จากกรณีที่ นายไพบูลย์ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป และส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฏิรูป ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากที่พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทั้งที่ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปอยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ และมิได้เป็นผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่

จากนั้นเวลา 15.20 น. องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง โดยฝั่งนายไพบูลย์ ในฐานะผู้ถูกร้อง ได้มอบหมายให้ทนายมาเป็นตัวแทนรับฟังคำวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญ มอบหมายให้นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกสารประกอบ ปรากฎว่าผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปผู้ถูกร้องเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคประชาชนปฏิรูป เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2562 พรรคประชาชนปฏิรูปประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ครั้งที่ 10/2562 และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปและให้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อไป ผู้ถูกร้องมีหนังสือลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป 2561 ข้อ 122 นายทะเบียนพรรคการเมือง ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งกกต.พิจารณาและประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562

ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2562 ผู้ถูกร้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แจ้งจำนวนสมาชิกตามมาตรา 25 วรรคสอง ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและนายทะเบียนพรรคการเมือง มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2562 แจ้งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่าผู้ถูกร้องเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐแล้ว มีข้อพิจารณาเบื้องต้นว่าการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูป ชอบด้วยพ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ประกอบวรรคสี่ หรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูปได้ประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เลิกพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป 2561 ข้อ 122 โดยเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กำหนดในข้อ 54 กล่าวคือ มีกรรมการบริหารพรรคการเมืองมาประชุมจำนวน 16 คนซึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนั้น คือ 29 คน และกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้มาประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 16 คน จึงเป็นเสียงข้างมาก ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ตามข้อ 55 มติของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ให้เลิกพรรค ประชาชนปฏิรูป จึงเป็นไปโดยชอบตามข้อ 122 ประกอบข้อ 54 และ ข้อ 55 โดยมีเหตุผลให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปว่า เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคการเมืองหลายคนลาออกและอีกหลายคนกำลังจะลาออก รวมทั้งขาดบุคลากรสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการพรรคประชาชนปฏิรูปต่อไปได้

Advertisement

เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับแจ้งการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคสอง และให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้เข้าร่วมประชุมลงมติครั้งนั้นให้ถ้อยคำต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้วปรากฏว่าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง 15 คนให้ถ้อยคำยืนยันสอดคล้องกันว่ามีการประชุมลงมติให้เลิกพรรคประชาชนปฏิรูปด้วยเหตุผลดังกล่าวจริงส่วนอีก 1 คนอยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ นายทะเบียนพรรคการเมืองจึงเสนอให้กกต.พิจารณา ซึ่งกกต.พิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาชนปฏิรูปและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 การสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปจึงเป็นไปโดยชอบ

ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ตามข้อบังคับพรรคอันเป็นเหตุให้พรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามประกาศของกกต.เป็นการกระทำของผู้ถูกร้องที่มีเจตนาซ่อนเร้นอาศัยมติของคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งตนเป็นหัวหน้าพรรค มีอำนาจเหนือกว่ากรรมการบริหารพรรคเห็นว่าไม่มีข้อเท็จจริงหรือพยาน หลักฐานใดแสดงให้ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นได้ว่ากรณีเป็นไปดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง เมื่อพรรคประชาชนปฏิรูปเลิกตามข้อบังคับของพรรคประชาชนปฏิรูป 2561 ข้อ 122 และกกต.ประกาศสิ้นสภาพของพรรคประชาชนปฏิรูปในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 มีผลให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสุดลงตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 90 (1) ประกอบมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) ทำให้สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง เมื่อพรรคประชาชนปฏิรูป สิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมือง ตามข้อบังคับพรรคประชาชนปฏิรูป 2561 ข้อ 62 วรรคหนึ่ง (6 ) ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2562 แต่ผู้ถูกร้องเป็นส.ส.ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10 )ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้เป็นการถูกยุบพรรคการเมืองโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสมาชิกที่เป็นส.ส.ซึ่งจะได้รับผลกระทบ
จากพรรคการเมืองสิ้นสภาพ อันเป็นหลักการเดียวกับการคุ้มครองส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10 ) ดังนั้น สมาชิกพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพ ตามมาตรา 91 สมาชิกที่เป็นส.ส. จึงเข้าไปสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ ผู้ถูกร้องจึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ซึ่งคดีนี้คือวันที่ 6 กันยายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 จึงเป็นระยะเวลาภายใน 60 วันนับแต่วันที่พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง สำหรับข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปต้องอยู่ปฎิบัติหน้าที่หัวหน้าพรรคจนกว่าจะชำระบัญชีเสร็จ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 95 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ของหัวหน้าพรรคการเมือง ที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบพรรคการเมืองต้องปฎิบัติหน้าที่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ โดยมีหน้าที่ให้ข้อมูลส่งบัญชีและงบดุลรวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือยุบและห้ามหัวหน้าพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือถูกยุบไปแล้ว แต่ไม่ห้ามดำเนินกิจกรรม ทางการเมืองในนามพรรคการเมืองอื่น

Advertisement

ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นบุคคลที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อกกต.ก่อนการปิดรับสมัครการเลือกตั้ง ผู้ถูกร้องจึงไม่สามารถเป็นส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 56 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 57 นั้น เห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 90 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการได้มาซึ่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองโดยมีวัตถุประสงค์ใช้บังคับกับกรณีที่อยู่ระหว่างการจัดการเลือกตั้งและก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 ( 10 ) ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 91 วรรคสี่ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการเลือกตั้ง และผู้ถูกร้องได้รับการประกาศผลการเลือกตั้งเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแล้ว อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้อง ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียง-ข้างมาก 7-2 เสียง โดยเสียงข้างน้อยประกอบด้วย นายนภดล เทพพิทักษ์ และ นายจิรนิติ หะวานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image