เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน รับ 46 ชาติเที่ยวไทย

รายงานหน้า 2 : เปิดประเทศ1พ.ย. รับ46ชาติเที่ยวไทย

รายงานหน้า 2 : เปิดประเทศ1พ.ย. รับ46ชาติเที่ยวไทย

หมายเหตุ เนื้อหาสาระตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 36) ดังนี้

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป อย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น

โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนและขับเคลื่อนแผนการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่ประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน อัตราการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน

Advertisement

ในเบื้องต้นจึงเห็นควรให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน ในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง

ในการนี้ รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมโดยประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทางและบูรณาการการทำงาน ของพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนในการกำหนดมาตรการรองรับเพื่อให้การปฏิบัติ ตามมาตรการต่างๆ ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบควบคู่กับการกำหนดมาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ให้ประชาชนมีความปลอดภัย รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชน อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อน ทางเศรษฐกิจและสังคมสามารถดำเนินการควบคู่กับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่เริ่มปฏิบัติกันในประเทศต่างๆ ที่มีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

Advertisement

ข้อ 1 การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้มีการกำหนดเขตพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการ

โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อการบังคับใช้ให้เหมาะสมและเป็นการเฉพาะจากเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์

การกำหนดเขตพื้นที่ใดให้เป็นเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามวรรคหนึ่ง หรือ การปรับปรุงเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวดังกล่าว ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

ข้อ 2 การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานที่ กิจการ หรือการดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

ข้อ 3 การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากการจำแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดนี้

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2564

ข้อ 4 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คนในเขตพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยว ให้นำวิธีปฏิบัติในส่วนของข้อห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขั้นตอน การขออนุญาตจัดกิจกรรม การพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรมหรือการรวมกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น ให้สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ 4 และข้อ 5 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2564 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 มาใช้บังคับด้วย

ข้อ 5 การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้ โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2564 เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ต่อไปตามแผน และกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนด

ข้อ 6 การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับระดับความเข้มข้นหรือการผ่อนคลายของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด ในความรับผิดชอบของตนได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในห้วงเวลาต่างๆ

ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

ข้อ 7 การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อเอื้อต่อการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางซึ่งได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และได้มีการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (13) ของข้อ 1 การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2563 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ 3 ของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 13) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 และข้อ 1 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 26) ลงวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2564 “(13) ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล”

ข้อ 8 มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในประเภทซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาต ให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุข ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ตามที่ได้เพิ่มเติมโดยข้อกำหนดนี้ เช่น การกำหนดประเทศหรือพื้นที่ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศอนุมัติ การมีหนังสือรับรองหรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การได้รับวัคซีน ป้องกันโรคครบตามเกณฑ์ การตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 การมีกรมธรรม์ประกันภัย ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลตามเกณฑ์ที่กำหนด และหลักฐานการชำระค่าที่พัก ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ 1.ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้กรมธรรม์โดยบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ภายใต้การกำกับและรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยกรมธรรม์ประกันภัยต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลกรณีการติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการด้วย

ส่อง 17 จังหวัดนำร่อง

1.กรุงเทพมหานคร 2.จังหวัดกระบี่ 3.จังหวัดชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียนและตำบลบางเสร่) 4.จังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง) 5.จังหวัดตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง) 6.จังหวัดบุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์) 7.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก) 8.จังหวัดพังงา 9.จังหวัดเพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ) 10.จังหวัดภูเก็ต 11.จังหวัดระนอง (เฉพาะเกาะพยาม) 12.จังหวัดระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด) 13.จังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน) 14.จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ) 15.จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า)

16.จังหวัดหนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และอำเภอท่าบ่อ)

17.จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)

กฎเหล็กรับนักท่องเที่ยว

⦁ มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

1.การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้โดยสารหรือผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

(13) ผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล

⦁ มาตรการก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

1) เดินทางมาจากประเทศ/พื้นที่ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศอนุมัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยการเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และได้มีการลงทะเบียนผ่านระบบหรือเว็บไซต์ที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะกรณีผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศทางอากาศ โดยผู้เดินทางต้องอยู่ในประเทศ/พื้นที่ดังกล่าวไม่น้อยกว่า 21 วันก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เว้นแต่ผู้ที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักรซึ่งได้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรและได้เดินทางไปยังประเทศ/พื้นที่ ที่ได้รับอนุมัติข้างต้น

2) ให้มีเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้

– หนังสือที่รับรองว่าเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้ (Certificate of Entry – COE) หรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศกำหนด

– เอกสารรับรองการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด – 19 (Medical certificate with a laboratoryresult indicating that COVID – 19 is not detected) โดยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ทั้งนี้ หากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่ามีเชื้อโรคโควิด-19 ให้มีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าเป็นผู้เคยติดเชื้อและหายแล้วไม่เกิน 3 เดือนด้วย

– กรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหรือหลักประกันอื่นใดตลอดระยะเวลาที่ผู้เดินทางอยู่ในราชอาณาจักรในวงเงินไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตามที่ทางราชการกำหนด เว้นแต่กรณีผู้เดินทางที่มีสัญชาติไทยและมีสิทธิในการรักษาพยาบาลตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

– หลักฐานการชำระค่าที่พักเมื่อผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร อย่างน้อย 1 วัน และค่าตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR ในโรงแรมหรือสถานที่พัก ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำหนด หรือสถานที่ซึ่งผู้เดินทางต้องเข้ารับการกักกันตามที่ทางราชการกำหนด ได้แก่ สถานที่ซึ่งผู้เดินทางต้องเข้ารับการกักกันซึ่งได้ขึ้นทะเบียนต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข หรือสถานที่ซึ่งผู้เดินทางต้องเข้ารับการกักกันตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี อนุมัติและตรวจสอบ

– เอกสารหรือหลักฐานรับรองการได้รับวัคซีน (Certificate of Vaccination) ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนกำหนด โดยวัคซีนดังกล่าวต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนออกเดินทาง เว้นแต่กรณีผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรมีอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งมิได้อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีนที่ได้เดินทางมาพร้อมบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ให้มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 (Medical certificate with a laboratory result indicating that COVID-19 is not detected) โดยวิธี RT-PCR โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ทั้งนี้ สำหรับกรณีผู้ที่เคยติดเชื้อและได้รับการรักษาหายแล้ว ให้มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และหลักฐานการได้รับวัคซีน 1 เข็มภายในเวลา 3 เดือนหลังการติดเชื้อโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันก่อนการออกเดินทาง

⦁ มาตรการเมื่อเดินทางถึง/ระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร

1) ให้คัดกรองอาการทางเดินหายใจและวัดไข้ผู้เดินทาง ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ก่อนเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (Enty screening)

2) ให้ยื่นเอกสารหรือแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ

3) ให้เดินทางออกจากท่าอากาศยานไปยังโรงแรมหรือสถานที่พัก สถานที่ซึ่งผู้เดินทางต้องเข้ารับการกักกันตามที่ทางราชการกำหนด หรือสถานที่ที่โรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการกำหนด แล้วแต่กรณี เพื่อทำการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 1 ครั้ง โดยยานพาหนะที่จัดไว้เป็นการเฉพาะ โดยต้องไม่มีการแวะหรือหยุดพัก ณ สถานที่ใดๆ (Sealed Route) ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอผล

การตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 ห้ามผู้เดินทางเดินทางออกนอกโรงแรมหรือสถานที่พัก หรือสถานที่กักกันซึ่งทางราชการกำหนด

4) ในกรณีที่ผลการตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในครั้งแรก ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ให้ผู้เดินทางสามารถเดินทางในราชอาณาจักรได้โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่อยู่ในราชอาณาจักร และให้โรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการโรงแรมหรือสถานที่พัก หรือสถานที่ซึ่งผู้เดินทางต้องเข้ารับการกักกันตามที่ทางราชการกำหนด แล้วแต่กรณี มอบชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS Cov-2 (เชื้อก่อโรค COVD-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (Antigen Selftest Kit หรือ ATK ให้กับผู้เดินทาง สำหรับการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง จำนวน 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 6-7 ของระยะเวลาที่พำนักหรือเมื่อมีอาการของโรคระบบทางเดินหายใจหรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เพื่อยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-19

5) กรณีผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในครั้งแรก ยืนยันว่าผู้เดินทางมีเชื้อโรคโควิด-19 โรงพยาบาลคู่ปฏิบัติการ พิจารณาดำเนินการดูแลรักษาพยาบาลตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือประสานส่งต่อผู้เดินทางไปยังสถานพยาบาลหรือสถานที่ตามที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนด และแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทันที โดยผู้เดินทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลทั้งหมด หรือเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายระหว่างโรงแรมหรือที่พักกับผู้เดินทาง หรือเป็นไปตามสิทธิในการตรวจหรือรักษาพยาบาลตามที่กฎหมายบัญญัติในกรณีที่ผู้เดินทางเป็นผู้มีสัญชาติไทย

6) ให้ใช้ระบบติดตามหรือติดตั้งแอพพลิเคชั่นตามที่ทางราชการกำหนด โดยให้เปิดระบบติดตามดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เพื่อเฝ้าระวังหรือติดตามอาการและบันทึกผลการตรวจหาเชื้อด้วยตนเองระหว่างที่ผู้เดินทางอยู่ในราชอาณาจักร

⦁ มาตรการก่อนเดินทางออกจากราชการอาณาจักร

– ให้ตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR กรณีประเทศ/พื้นที่ปลายทางกำหนด โดยให้ผู้เดินทางหรือหน่วยงาต้นสังกัดของผู้เดินทางเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image