‘บิ๊กตู่’มอบ รมว.คลัง ลงนามเรียกค่าเสียหายจำนำข้าวยิ่งลักษณ์แทน มั่นใจเช็กบิลทันเวลา

“บิ๊กตู่” มอบ “รมว.คลัง” ลงนามเรียกค่าเสียหายจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” แทน ย้ำมาตรา 44 ไม่ได้ชี้ถูกผิด หวังคุ้มครอง จนท.ให้กล้าทำงาน มั่นใจเช็กบินทันเวลา

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 27 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีการดำเนินคดีต่อโครงการรับจำนำข้าวกับนักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงไปตลอดเวลา ซึ่งตนยืนยันว่า ทุกคดีไม่เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่รออยู่แล้วทั้งหมด ตนมีหน้าที่ในการอำนวยความเป็นธรรมให้ฝ่ายกฎหมาย ศาล กระบวนการยุติธรรมทำงาน ไม่ได้ไปใช้อำนาจในการชี้ผิดชี้ถูก เพียงแต่ป้องกันเจ้าหน้าที่เขาไว้หน่อย เช่นนั้นเขาไม่กล้า อย่างเช่นกรณีที่ผ่านมามีการขู่เจ้าหน้าที่กันเยอะไปหมด ดังนั้น ตนก็ต้องมีมาตรา 44 เพื่อปกป้องข้าราชการ แต่ไม่ใช่เพื่อปกป้องให้เขารังแกคน แต่เพื่อให้เขากล้าทำงาน ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาในการทำงานวันข้างหน้า

“มาตรา 44 ผมไม่ได้ไปชี้ผิดถูก ไม่ได้เอามาตัดสินกรณีโครงการรับจำนำข้าว แต่เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะผิดจะถูกไปสู้กันตรงนั้น ตามหลักฐานที่มีอยู่และไม่ต้องห่วงในเรื่องระยะเวลา ดำเนินการทันอยู่แล้ว เวลานี้อยู่ในขั้นตอนของกระทรวงการคลังที่ดำเนินการให้ทันเวลาแน่นอน ลักษณะเดียวกับของกระทรวงพาณิชย์” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนที่มีการเรียกค่าเสียหาย 80-20 นั้นคือ ใน 80 เป็นเรื่องหลายส่วนที่ต้องมารับผิดชอบ ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดมี 850 คดี ที่ต้องหาผู้มารับผิดชอบ ส่วน 20 นั้นรับผิดชอบทางนโยบาย ฉะนั้นจะมีทั้งระดับสูงระดับกลางที่เกี่ยวข้อง โดยยืนยันว่าไม่ได้รังแกข้าราชการ แต่อยากให้เป็นบทเรียนให้รู้ว่าอะไรผิดถูก จะได้ไม่คล้อยตามไปหมด ยืนยันว่าพยายามเต็มที่ ในการแก้ไขปัญหาประเทศชาติให้ได้โดยเร็ว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะลงนามเรียกค่าเสียหาทางแพ่งเองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังดูอยู่ ถ้ามันคล้ายคลึงกันกับกรณีของจีทูจี ก็มอบหมายให้รัฐมนตรีลงนาม ซึ่งรัฐมนตรีก็สามารถมอบต่อได้ เหมือนกับคดีของกระทรวงพาณิชย์

เมื่อถามว่าเหตุผลที่ไม่ลงนามเองคืออะไร นายกฯกล่าวว่า เขาบังคับให้ตนลงนามเองหรือเปล่า และจริงๆ ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวง ข้าราชการเป็นคนรับผิดชอบเพราะเป็นกรรมการในการตรวจสอบ ฉะนั้น รัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีก็เซ็นในนามผู้บริหารราชการสามารถมอบหมายกันได้ โดยมีสองขั้นตอน

เมื่อถามย้ำว่าจะมอบหมายให้ รมว.คลัง เป็นผู้ลงนามใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขาเป็นหัวหน้าตั้งคณะทำงานนี้ขึ้นมา ซึ่งมีสองคณะ โดยคณะแรกเป็นกระทรวงพาณิชย์ เป็นการคิดทั้งสี่ฤดูกาล แต่กระทรวงการคลังตรวจสอบสองฤดูกาล ส่วนเรื่องระยะเวลาต้องดำเนินการให้ทันเดือนก.พ.ปี 2560 เพราะคดีจะหมดอายุความตอนนั้นยังไงก็ต้องทำ

Advertisement

“ขอให้เข้าใจว่าการทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องตรวจสอบทุกคลัง ตรวจสอบบัญชี ไล่หาทุกที่ ทุกคลังไม่ตรงกัน ทั้งข้าวหอมข้าวขาว กลายเป็นข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิกลายเป็นปลายข้าว” นายกฯกล่าว

เมื่อถามว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูในเรื่องการเรียกค่าเสียหายร่วม 80 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมมีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนนี้มีทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และฝ่ายการเมืองส่วนต่างๆ เรื่องนี้มีหลายคดี และรัฐมนตรีก็ทำในสิ่งที่ ป.ป.ช.และ ศอ.ตช.เตือน แต่ไม่ระงับยับยั้ง และในส่วนการทุจริตข้างล่างก็ต้องมีผู้รับผิดชอบเพิ่ม รวม 850 คดี เวลานี้มอบหมายให้ ศอ.ตช. ไปดูเรื่องการบริหารข้างบนว่าใครจะต้องได้รับการตรวจสอบบ้างเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และจะเป็นการทำงานร่วมกับฝ่ายกฎหมายด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image