สุชาติยก ‘อานนท์-เพนกวิน’ ดั่งกวี แม่สุ-รุ้ง-โตโต้-ทนาย เผย ‘จดหมาย’ ต่อชีวิต-เยียวยาใจ เพื่อนในเรือนจำ

สุชาติยก ‘อานนท์-เพนกวิน’ ดั่งกวี แม่สุ-รุ้ง-โตโต้-ทนาย เผย ‘จดหมาย’ ต่อชีวิต-เยียวยาใจ เพื่อนในเรือนจำ

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่สวนครูองุ่น ทองหล่อซอย 3 เขตวัฒนา กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดนิทรรศการ ประชาราษฎร์ เฟสติวัล “Looking Through Bars Hurts” ระหว่างวันที่ 23-24 ตุลาคมนี้ โดยมีกิจกรรม อาทิ เสวนา ร่วมเขียนจดหมายถึงเพื่อนนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในเรือนจำ, ลงชื่อเรียกร้องความยุติธรรม write for right เพื่อทวงคืนสิทธิในการประกันตัวไปจนถึงการแสดงดนตรีและการวาดภาพสด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศโดยทั่วไปมีการติดป้าย “สิทธิในการประกันตัว = สิทธิมนุษยชน” ที่หน้าทางเข้างาน ติดภาพ-ข้อความและจดหมายบนบอร์ดภายในกรงขังจำลองและรอบบริเวณสวนครูองุ่น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกลิดรอนสิทธิ พร้อมแจกใบปลิวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมือง ไปจนถึงเขียนข้อความบนโปสการ์ดจากลายเส้นศิลปินอิสระ บูธสิทธิมนุษยชนศึกษาเปิดรับอาสาสมัครร่วมขับเคลื่อนอุดมการณ์ปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยมีศิลปิน นักเคลื่อนไหว และนักสิทธิมนุษยชนหลั่งไหลเข้าร่วมชมนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ยังมีการตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ภายในงาน โดยทีมแพทย์อาสา นำโดย น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน

เวลา 14.00 น. นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย กล่าวถึงนิทรรศการ ”Looking Through Bars Hurts” ตอนหนึ่งว่า เพื่อยืนยันและใช้สิทธิของเราในการลงชื่อเรียกร้องปล่อยเพื่อนของเรา

Advertisement

“วันนี้ยังมีเพื่อนเราอีก 24 คน ที่ยังอยู่ในเรือนจำ มีแกนนำที่ต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพ ไม่ได้เจอครอบครัว มีหลายอย่างที่ต้องเผชิญข้างใน ทั้งๆ ที่พวกเขาเพียงใช้สิทธิแสดงออก ยังมีเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี เกือบ 300 คน ประเทศไหนในโลกที่ทำกับเด็กได้ขนาดนี้

การที่เรามาอยู่รวมกันวันนี้เป็นเครื่องยืนยันว่า เราจะแสดงพลัง ไม่ยอมอยู่ในกรงขัง ไม่ว่าเรือนจำหรือชีวิตข้างนอก เราก็จะไม่ทนในการปิดกั้นสิทธิมนุษยชน เสรีภาพการแสดงออกของเรา อยากให้ร่วมลงชื่อ ขอบคุณพี่แหวน (ณัฏฐธิดา มีวังปลา) ที่มาตั้งซุ้มตรวจโควิด-19 มีอาสาสมัครต่างๆ มาร่วมมากมาย ทั้งอาสาสมัคร ‘ในม็อบมีเด็ก’ มีการแสดงศิลปะ ที่สำคัญคือคนที่มาร่วมงาน มาร่วมแลกเปลี่ยนในสิ่งที่เกิดขึ้น” นางปิยนุชกล่าว

โดยผู้ร่วมกิจกรรมร่วมเปล่งเสียงว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” เพื่อเป็นการเปิดงาน

Advertisement

จากนั้น เวลา 14.25 น. นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตศิลปินแห่งชาติ ร่วมกล่าวว่า ตนเคยเขียนไว้นานแล้ว สมัยทำ ‘โลกหนังสือ’ และคอลัมน์ ‘สิงห์สนามหลวง’ ว่า การเขียนจดหมายเป็นศิลปะประเภทหนึ่ง

“ตอนนั้นการติดต่อใช้การเขียนจดหมาย ยังไม่มีเฟซบุ๊ก อินเตอร์เน็ต ผมจึงมีความเห็นว่าการเขียนจดหมายส่งพลังถึงกัน สำหรับผมคิดว่าเป็นการทำงานศิลปะประเภทหนึ่ง เพราะงานศิลปะคือการติดต่อ-สื่อสาร

ด้วยเหตุผลนี้ ในความหมายที่ว่า ปัจจุบันการสื่อสารอาจทำได้โดยไม่จำกัด ‘กาลเทศะ’ นั่นหมายถึงคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีเสรีภาพ แต่เพื่อนเราที่ถูกจำกัดเสรีภาพ ซึ่งการจะได้รับการติดต่อ-บอกกล่าวก็ด้วยการเขียน สำหรับผมการเขียนจึงยิ่งกว่างานศิลปะ ที่จะพูดสักคำหนึ่งว่า ‘คิดถึง ห่วงใย’ ความฝันของพวกคุณคือความหวังของเราเช่นนี้

ความฝันของเขา คือความฝันของผม อนาคตของผม คือเวลาที่เหลืออยู่ แต่สำหรับคนหนุ่มสาว ‘อนาคต’ คือ ‘ชีวิต’ คุณจับเอาอนาคตประเทศไปไว้ในที่กักขัง ด้วยการคุกคาม ขู่เข็ญ บังคับ เป็นการละเมิดที่ร้ายแรงที่สุด เพราะคือการคุกคามสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

แต่จะทำอย่างไรได้ เรามาไกลเกินกลับไปนับหนึ่ง อานนท์เขียน ผมชอบกวีบทนี้มาก อานนท์, เพนกวิน เป็นกวี พวกกวีเคยเห็นหรือไม่ สมาคมนักเขียน นักกลอน ไม่เคยให้ความสนใจในเรื่องนักกลอน นักกวี ศิลปิน ซึ่งเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงออก” นายสุชาติกล่าว

นายสุชาติกล่าวต่อว่า ‘ถ้อยคำ’ แสดงความรู้สึกหลายอย่าง และมีหลายระดับ เขียนถึงเพื่อน ถึงแม่ ถึงแฟน เมื่อสักครู่ตนก็ไปนั่งเขียนถึงเบนจา อะปัญ, อานนท์ นำภา, ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไผ่ ดาวดิน คนที่กำลังจะเรียนจบ เป็นหัวกะทิของประเทศ คุณไปจำขังจำกัดสิทธิเขา ทั้งที่สิ่งที่แสดงออกเป็นพลังร่วม “เป็นชีวิตของประเทศ” จึงอยากส่งใจไปถึงเขาว่า ห่วงใย คิดถึง และหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้พบกัน

“7-8 ปีที่ผ่านไป เราผ่านเวลาที่มืดสนิทแล้ว รอเวลาที่ฟ้าจะสางเท่านั้น เมื่อรุ่งอรุณวันใหม่มาถึง ผมก็หวังว่าความฝันของผมจะพบความสำเร็จ เหมือนที่เราเปล่งเสียงว่า ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”

จากนั้น เวลา 14.45 น. เปิดวงเสวนา “ประชาราษฎร์ Cafe” โดย น.ส.เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ฯ กล่าวว่า เรายังเชื่อมั่นในกระบวนการในไทย ว่าจะมีการพัฒนาเรื่องสิทธิ

“การชุมนุมคือหัวใจสำคัญของประเทศ ของสังคม ที่มีการเปิดพื้นที่ให้พูดคุยกันมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นมีการลิดรอนสิทธิมากมาย การยืนหยัดในการปกป้องสิทธิมนุษยชนสำคัญมาก เราเชื่อในพลังของการเขียน ทำให้คนข้างในรับรู้เรื่องราวข้างนอก เป็นพื้นที่ว่ายังมีคนเป็นห่วงเขา เชื่อว่าสิ่งที่เขาทำ ‘ถูกต้อง’ การเขียนจึงไม่ใช่แค่เรื่องเล็กๆ แต่ยังช่วยเยียวยาจิตใจคนข้างในได้ ในเชิงกฎหมายก็เขียนเพื่อช่วยกดดันรัฐบาลได้ด้วย เป็นการรวมพลังของคนธรรมดา” น.ส.เพชรรัตน์กล่าว

ด้าน นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม หรือทนายรอน จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก 18 กรกฎาคม 2563-กันยายน 2564 มีคนถูกดำเนิคดีกว่า 800 คดี ไม่น้อยกว่า 1,458 ราย ในจำนวนนี้มีนักต่อสู้ทางความคิดอย่างน้อย 24 คน ทั้งที่สิทธิการประกันตัว คือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย และหลักการสากล

“พูดถึงความสำคัญของจดหมาย ของการสื่อสารแทบทุกครั้งที่ผมไปเยี่ยมนักโทษในเรือนจำ คำถามที่เจอตลอดคือ ‘พี่ สถานการณ์ข้างนอกเป็นอย่างไรบ้าง’ ล่าสุด ผมเจอกับไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก ที่ศาลแขวงดุสิต ถามว่าอยากได้อะไรเพิ่มไหม เขาบอกว่า ‘ผมอยากได้จดหมายครับพี่’ จดหมายที่เราส่งไปจึงมีความสำคัญมาก เพราะเวลาที่พวกเขาถูกจับขังมันเหมือนกับพวกเขาถูกตัดขาดจากโลกไปใบนี้ เอาไปไว้ในหลุมมืด ไม่มีทีวีดูข่าว ได้ดูแต่การ์ตูน ละคร ไม่มีทางรับรู้โลกภายนอก”

“หลายครั้งที่ผมไปพบพวกเขา เอาจดหมายที่เพื่อนๆ พ่อ แม่ ไปอ่านให้เขาฟัง วินาทีที่เขาได้ยินเรื่องราวที่เพื่อนๆ แม่ๆ ฝากเข้าไป มีทั้งรอยยิ้ม คือยิ้มแบบมีความสุขเลยนะ และหัวเราะขึ้นมา หลายคนก็รู้สึกเสียใจ เศร้าที่เพื่อนเขาก็ถูกขังอยู่เหมือนกัน” นายนรเศรษฐ์กล่าว

นายนรเศรษฐ์กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 จดหมายสำคัญตรงที่สิ่งที่ส่งเข้าไปได้มีเพียงจดหมายที่เขียนเท่านั้น ทนายความไม่สามารถนำภาพ คลิป หรือเครื่องมือสื่อสารเข้าไปเปิดให้ดูได้ ทำได้อย่างมากคือเขียนข้อความว่าใครส่งอะไรมา ทำให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ยังเชื่อมต่อกับโลกภายนอกอยู่

นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ หัวหน้าการ์ดอาสา We Volunteer เปิดเผยถึงความรู้สึก ของจดหมายฉบับแรกที่ได้รับว่า จริงๆ แล้วทั้งเอกสาร ไม่เพียงจดหมาย แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ที่เป็นข้อความเขียน จะไม่สามารถผ่านเข้ารั้วเรือนจำได้เลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีหนังสือพิมพ์แปะบอร์ดให้ แต่ทุกวันนี้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้น ข้อความหรือจดหมายที่ถูกส่งเข้าไปนักโทษทั่วไปจะถูกสแกนเป็นทุนเดิม แต่ที่หนักหนาสาหัสคือ “นักโทษทางการเมือง” นักโทษทางความคิด ที่จะถูกกำชับให้ตรวจตราทุกตัวอักษร

“จดหมายฉบับแรกที่ได้รับจริงๆ คือที่เรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งไม่ง่าย จะต้องตรวจเหมือนกัน จึงใช้วิธีให้เพื่อนที่อยู่ข้างในทยอยส่งออกมาให้ผม ผมเคลือบไว้อย่างดีกลัวสูญหาย จดหมายพวกนี้เป็นกำลังใจมากๆ สำหรับคนที่อยู่ข้างใน บางฉบับผมอ่าน 3-4 รอบ อ่านแล้วอ่านอีก จากต่างประเทศก็มี

เคยดูหนังสงครามไหม นักรบแนวหน้า สิ่งเดียวจะติดต่อทางบ้าน หรือโลกภายนอกได้ คือจดหมาย เป็นสิ่งเดียวที่เขาปรารถนาวันหนึ่งผมนั่งอยู่ที่ห้อง 207 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แดน 2 ร่วมกับคุณสมยศ ไผ่ อานนท์ เพนกวิน ไมค์ ทุกคนถูกเรียกออกไปสายวันนั้นไปรับจดหมายมา มีผมคนเดียวที่ไม่ได้รับจดหมาย ก็กลัวผมเสียใจ เลยไปแอบอ่านกันคนละมุม เพราะผมไม่ได้จดหมาย จนกระทั่งผมต้องเดินไปถามหัวหน้าผู้คุม เขาบอกไม่มี จนได้ไปถามทนาย ทนายบอกของคุณมี เยอะด้วย ทราบอีกทีวันที่ออก คือไม่มีเวลามาตรวจจดหมาย เฉพาะน้องวีโว่ก็เยอะ และใช้ภาษาสื่อสารเป็นรหัสลับ กลัวมีการสั่งการอะไรออกไป จึงไม่อนุญาตให้ของผมผ่านสักฉบับ

จดหมายเป็นอะไรที่ให้กำลังใจคนอยู่ข้างใน เขาไม่มีอะไรทำ วันๆ เอาจดหมายออกมาอ่าน และเขียนตอบกลับไป ซึ่งอาจจะไม่ถึงข้างนอก เหมือนเขียนฆ่าเวลา ไม่ค่อยมีทางถึง เป็นกำลังใจ ข่าวสาร และเป็นสิ่งเดียวที่เชื่อมเรากับโลกภายนอก จดหมายคือสิ่งเดียวที่เราจะนั่งวิเคราะห์ นั่งยิ้มได้” นายปิยรัฐกล่าว

ขณะที่ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง โฆษกกลุ่มราษฎร กล่าวว่า ตอนอยู่ในเรือนจำไม่ค่อยได้จดหมาย แอบอิจฉาเพนกวินได้เยอะมาก ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำได้รับแค่ 2 รอบ ที่เป็นจดหมายชุด ประมาณ 20 กว่าฉบับ นอกจากนั้นก็จากพี่สาว ฉบับแรกที่ได้รับพี่สาวส่งมาเล่าว่าข้างนอกเป็นอย่างไร แมวเป็นอย่างไร แต่จดหมายที่อ่านบ่อยที่สุดคือจดหมายจากอาจารย์ในคณะ อ.สิทธิโชค ชาวไร่เงิน เราอ่านไม่หยุด แอบซุกเก็บไว้ใต้หมอน จะได้หยิบมาอ่านตอนตื่นกลางดึก หรือระหว่างวัน เขียนว่า

‘ขอบคุณ ที่ทำให้ได้เป็นรุ่นพี่คณะอย่างที่ควรเป็น
ขอบคุณ ที่ทำให้เขาได้เป็นอาจารย์อย่างที่ควรเป็น
ขอบคุณ ที่ทำให้เขาได้เป็นมนุษย์อย่างที่เขาควรเป็น’

“ไม่ได้มีอะไรมากมาย แต่เรารู้สึกขอบคุณเหมือนกัน ที่ทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำไปไม่ได้สูญเปล่า แค่จดหมายไม่กี่ฉบับ เราอ่านวันละไม่ต่ำกว่า 3-4 รอบ จนเพื่อนสงสัยขอไปอ่านบ้าง จดหมายแผ่นเล็กๆ นั้นช่วยต่อกำลังใจให้เราได้เยอะมาก ข้างในนั้นคือกำแพงที่ตัดขาดโลก ตัวกลางที่เชื่อมมีแค่ทนาย ญาติที่เยี่ยมได้เดือนละครั้ง และจดหมาย ที่ทำให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยวจนเกินไป ถึงมาอยู่ที่นี่ (ในเรือนจำ) ก็คุ้ม ทำให้สังคมเปลี่ยนไป คนตื่นรู้ แค่นี้ก็คุ้มแล้ว

อยากชวนให้ทุกคนเขียนจดหมายเยอะๆ บางทีอยู่ข้างนอกก็หยิบมาอ่านอยู่ เติมกำลังใจ” น.ส.ปนัสยากล่าว

ด้าน นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน กล่าวว่า เพนกวินพูดเสมอว่า เวลาได้รับจดหมาย ข่าวสารจากข้างนอก ทำให้เขามีชีวิตอยู่ มีแรงใจที่จะสู้ต่อไป พ้อยท์ (น้องสาว) ก็จะอัพเดตข่าวสารไปกับทนายทุกวัน ครั้งก่อนมีการเขียนจดหมายให้เพนกวิน ส่งไม่ถึง แต่ทนายพรินต์ไปอ่านให้ วันถัดมาเพนกวินบอกผ่านทนายว่าช่วยหาจดหมายฉบับนั้นให้หน่อย เขาอ่านแล้ว อ่านอีก ตอนนี้ขังเดี่ยวเพนกวิน คิดสภาพอยู่ในห้องขังคนเดียว ไม่มีเพื่อนคุยปรึกษา สิ่งเดียวที่จะได้รับคือจดหมาย เขาจะได้รู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมีคนเห็นคุณค่า หรือเขาหาวิธีประโลมใจเขา ถ้ามีคนแต่งกลอนฝากทนายไปอ่านให้ฟัง เขาก็จะแต่งกลอนกลับมา

“เขาพยายามจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อประโลมจิตตัวเอง จดหมายเขาจะชอบ นึกภาพกวิ้น เด็กอ้วนๆ ตัวกลมๆ ตาตี่ๆ ว่าเขาฟังทนายพูด เขาก็จะยิ้ม พริ้ม ทนายบอกเขาเป็นอย่างนั้น แต่เป็นอะไรที่ส่งยากมากๆ ห้ามส่งอะไรที่เกี่ยวกับการเมือง มันเป็นการสื่อถึงความรู้สึก อ่านแล้วซึมซาบความรู้สึก แม้จะส่งยากเย็น แต่ก็ไม่เกินความพยายาม ลองหย่อนสัก 100 ฉบับ ถ้าไม่ถึงเราจะไปถาม เพื่อหล่อเลี้ยงคนของเราว่าเขาไม่ถูกทอดทิ้ง ทุกคนยังเคลื่อนไหวอยู่ แม่รู้สึกว่าเขามีความหวัง มีแรงใจ อดทน เพื่อพร้อมออกมาต่อสู้กับพวกเรา” นางสุรีย์รัตน์กล่าว

จากนั้นต่อด้วยกิจกรรมเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง Safe Discussion Space ในหัวข้อ “จากเจ้าของตัวอักษร ถึงเพื่อนเรา” ดำเนินรายการโดย สมรัก ศิลา ผู้ก่อตั้ง WTF GALLERY ต่อด้วยการแสดงดนตรี โดยศิลปินเพื่อสิทธิมนุษยชน และการวาดภาพสด “Looking Through Bars Hurts”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image