เสวนาหน้าเรือนจำ ชี้ ‘ห้ามกระทำผิดซ้ำ’ ขัด รธน. แนะวิดีโอบันทึกคดี ‘มีชีวิตรอดให้ได้-อย่าทิ้งข้างใน-ผู้ใหญ่ฟังเด็ก’

เสวนาหน้าเรือนจำ ชี้ ‘ห้ามกระทำผิดซ้ำ’ ขัด รธน. แนะวิดีโอบันทึกคดี ‘มีชีวิตรอดให้ได้-อย่าทิ้งข้างใน-ผู้ใหญ่ฟังเด็ก’

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรมเสวนา “Free our friend  Free our Future” ระหว่างเวลา 16.00-19.20 น. เพื่อเรียกร้องคืนอิสรภาพผู้ต้องหาทางการเมือง และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

อ่านข่าว : ทะลุฟ้าเปิดเวทีขับขาน ‘พับดาวแห่งศรัทธา’ ทวงเพื่อน-คืนอนาคต ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

โดยเวลา 17.18 น. เข้าสู่ช่วงเสวนา Free our friend Free our Future ดำเนินรายการโดย นายอานนท์ ชวาลาวัณย์ หรือแว่น โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน หัวหน้าหน่วยพยาบาลอาสา First aid Volunteer 53 กล่าวว่า เหตุการณ์จากปี 2553-ปัจจุบัน กฎหมายที่นำมาใช้กับผู้เรียกร้องประชาธิปไตย มาจากทุกองคาพยพเท่าที่คิดได้ และอยากจะยัดเยียดความผิดให้กับประชาชนด้วยข้อหาที่มีโทษหนัก

Advertisement

เหนือสิ่งอื่นใด การจับผู้ต้องสงสัยยากที่สุดคือการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างการประกันตัว อดีตถึงปัจจุบันค่อนข้างยากมาก เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง

จากนั้น น.ส.ณัฏฐธิดากล่าวถึง ‘เรือนจำเฉพาะ’ ของนักโทษการเมืองว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ควรจะแยกเรือนจำ เพราะ 97 เปอร์เซ็นต์ เป็นคดีทั่วไปคือคดียาเสพติด มีคดีการเมืองแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ เอาผู้ต้องขังบริสุทธิ์ไปขังรวม ทั้งที่ควรได้รับสิทธิพื้นฐานคือการประกันตัว

“3 ปี 6 เดือน อยู่อย่างคนไร้ญาติ เรากลัวคนที่จะมาเยี่ยมเราว่าจะมีคนกลุ่มใหญ่ไปเยี่ยมเขาที่บ้าน ทำให้เพื่ิอนไม่ได้รับข่าวสารที่แท้จริงจากเรือนจำหญิงกลาง” น.ส.ณัฏฐธิดากล่าว

 

จากนั้น น.ส.ณัฏฐธิดาอ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และว่า การต่อสู้คดีเป็นไปอย่างยากลำบาก ตนขึ้นศาลทหาร ผ่านกระบวนการจับกุมแบบเกือบอุ้มหาย เพราะสงสัยใครจับกุมได้ทันที ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่มี ‘ความสงสัยในยุค คสช.’

“แหวนไม่เคยได้รับสิทธิใดๆ ทั้งติดต่อญาติ ทนาย ถูกลวนลาม จับหน้าอก ข่มขู่ ถ้าไม่ยินยอมให้การตามที่เขาพอใจ สืบสวนโดยกลุ่มผู้ชาย แหวนถูกปิดตาไว้ อยู่ในค่ายทหาร สิ่งที่น่าละอายใจมากที่สุดจากผู้ชายอกสามศอก คือผู้กำกับการท่านหนึ่งที่จะรับผิดชอบ แต่ก็หายไป”

“เราเสียสิทธิหาพยานหลักฐาน มาสู้คดี 3 ปี 6 เดือน ล้มหายตายจากไป 5 คน รวมทั้งพี่ชายลูกพี่ลูกน้อง คือความสูญเสียพยานบุคคลที่หายไป เจ้าของร้านซักรีด (พยาน) ก็ล้มหายตายจาก ฝากถึงกระบวนการยุติธรรรม ตำรวจ ทหาร ก่อนที่จะทำหน้าที่ของท่าน หันกลับไปมองว่าท่านคลอดออกมาจากไหน เป็นคนให้ได้ก่อน เราไม่เคยได้รับการปฏิบัติเฉกเช่นคน ยิ่งกดขี่ประชาชนก็ยิ่งลุกขึ้นสู้” น.ส.ณัฏฐธิดากล่าว และว่า

27 ตุลาฯ จะถูกส่งฟ้อง ม.112 อีกครั้ง ยืนยันต่อสู้ถึงที่สุด ทั้งหมดทั้งมวลเกิดมาจากปัญหาด้านโครงสร้าง

“ไม่ใช่เอาหลังคาทิ่มลงดิน แต่ต้องให้ตอม่อ ให้เสาแข็งแรงก่อน ปัญหาล้นคุกมาจากกระบวนการพิจารณา

ฝากถึงคนข้างในเรือนจำว่า ‘มีชีวิตรอดให้ได้’ และคนข้างนอก ‘อย่าทิ้งคนข้างใน’ ขอให้ผู้ใหญ่ฟังเด็ก แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว”

ด้าน น.ส.ปนัดดา สิริมาสกุล หรือ “ต๋ง ทะลุฟ้า” กล่าวว่า ปีที่แล้ว 23 ตุลาฯ 2563 เรามาทำม็อบเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อน ครบ 1 ปีแล้ว ยังต้องมาเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนอยู่ มันไม่ไหวจริงๆ

“เราได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรม เพื่อนรอบตัวหายไปทีละคนสองคน ถ้าหายไปตามกระบวนการ ตามหลักการ เราจะไม่รู้สึกโกรธขนาดนี้

เราต้องไปคุยกับพัดลมเพดาน 19 วัน เพราะแค่ไปสาดสี แต่คนเคยที่ล้มการเลือกตั้ง พฤติกรรมชัดเจนที่สุดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย เขาได้สิทธิในการประกันตัว แต่เพื่อนเราไม่ได้สิทธิ ตามหลักปฏิญญาสากล

ประยุทธ์เข้ามาโดยการรัฐประหาร แต่กระบวนการไม่ทำตามหลักการ” น.ส.ปนัดดากล่าว และว่า

รัฐทำทุกทางเพื่อให้เราหยุดสู้ ตอนเข้าไปอยู่ข้างในทัณฑสถาน เป็นธรรมชาติที่ทุกคนจะมีความกลัว เราไปรับรู้มาแล้วว่าแย่มาก การจับผู้หญิงเข้าไปทีละคน กำลังเล่นเกมอะไร ทำให้เราเจ็บปวด และรู้สึกแย่แค่ไหน

“เราไม่ต้องการให้ใครเข้าไปอยู่ในนั้นอีกแล้ว เราจึงพยายามทำทุกทาง ให้จบในรุ่นเรา ไม่ควรมีใครต้องไปประสบชะตากรรมแบบนั้น ทุกครั้งที่เพื่อนส่งข้อความมาจะบอกตลอดว่า ‘สู้ต่อไปนะ’ อยากชวนให้สู้ต่อ เราอาจเหนื่อยล้า แต่หยุดไม่ได้ เพราะเรากลับไปใช้ชีวิตปกติไม่ได้อีกต่อไป

สู้เพื่อไปให้ถึงตรงนั้นจริงๆ ขอให้มีความหวังไปจนสุดทางร่วมกัน” น.ส.ปนัดดากล่าว

โดยผู้ร่วมกิจกรรมปรบมือให้กำลังใจ

น.ส.ปนัดดากล่าวปิดท้ายว่า ทุกอย่างในสังคมควรจะถูกปฏิรูปทั้งหมด ที่สอนให้คนไม่เท่ากัน อยากให้กระบวนการยุติธรรมยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้ มีพื้นที่ให้พูดถึงได้ พิจารณาตามหลักการอย่างแท้จริง

“ตอนนี้เราไม่มีความหวังเลยกับกระบวนการ สิ่งเดียวที่พึ่งได้คือประชาชนพึ่งพาประชาชนกันเอง ภาพไม่ควรจะเป็นอย่างนี้” น.ส.ปนัดดากล่าว

ด้าน นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม หรือทนายรอน จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวรายชื่อ 24 นักกิจกรรม และจำนวนวันที่ถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว

“อีกไม่กี่วันเขาอาจถูกพิพากษาว่าผิดก็ได้ แต่ระหว่างนี้เขาไม่มีโอกาสแสวงหาพยานหลักฐานมาสู้คดีได้เลย

การดำเนินคดีทางการเมืองไม่ใช่แบบใช้กฎหมายเพียวๆ ยังมีเรื่องของนโยบายทางการเมือง ที่ผู้มีอำนาจต้องการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกับผู้เรียกร้องทางการเมือง ไม่ว่ายุคไหน กระบวนการพิจารณา การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่อย่างตำรวจ มีคณะกรรมการ ‘กรอง’ และประทับตราข้างหน้าว่าเป็น ‘คดีปรึกษา’ ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ไม่มีอิสระในการใช้ดุลพินิจได้ด้วยตัวเอง”

“วินาทีนี้กระบวนยุติธรรมอยู่ในจุดวิกฤตศรัทธาของประชาชน ครั้งหนึ่งเคยเป็นความหวังให้กับเรา ในปี 2561 ที่คนอยากเลือกตั้งออกมาเรียกร้อง ตำรวจยื่นฝากขัง แต่ไม่รับฝากขัง กลับกัน เมื่อนโยบายทางการเมืองเปลี่ยนไป ปัจจุบันมีการออกหมายจับโดยไม่ออกหมายเรียก ให้ฝากขัง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ดังนั้น สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันในการดำเนินคดีมีความชัดเจน” นายนรเศรษฐ์กล่าว

นายนรเศรษฐ์กล่าวต่อว่า ในยุค คสช.จนถึงยุคคนอยากเลือกตั้ง ปี 2561 มีการตั้งเงื่อนไข ‘ห้ามกระทำผิดซ้ำ’ ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งประมวลกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 108 วรรคท้าย ตั้งเงื่อนไขได้แต่เกินจำเป็น ซึ่งขัดกับ ป.วิ อาญา ม.112

การกำหนดเงื่อนไขเป็นการส่งเสริมให้รัฐใช้กฎหมายปิดปากประชาชนในทางอ้อม ทำให้เกิดภาระต่อประชาชนที่จะออกไปชุมนุม หวาดกลัวที่จะออกไปเรียกร้องเสรีภาพ แต่คนล้มการเลือกตั้งกลับได้รับประกันโดยไม่มีเงื่อนไขเช่นนั้น

“ผมเรียนว่า ขอให้ทุกคนมีความกล้าหาญ และซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตัวเอง ทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้องที่สุด ระดับปฏิบัติการเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่เขาไม่มีอำนาจ ขอเรียกร้องให้ซื่อสัตย์กับวิชาชีพของตัวเอง นึกถึงวันแรกที่เรียนกฎหมาย ตัดสินไปตามหลักวิชา และเมื่อนั้นองค์กรใดก็ตามที่ยืนข้างความถูกต้อง ข้างประชาชน ผมเชื่อว่าประชาชนจะยืนข้างองค์กรเหล่านั้นเช่นกัน” นายนรเศรษฐ์กล่าว

ก่อนเสนอแนะ 2 ข้อเร่งด่วนเพื่อกู้วิกฤตกระบวนการยุติธรรมว่า 1.คืนสิทธิการประกันตัว 2.กระบวนการโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยการ ‘ทำวิดีโอบันทึกคดี’

“งบประมาณมี เรื่องส่งสำคัญทำไมทำไม่ได้ สิ่่งต่างๆ จะได้ถูกบันทึกไว้ และใช้เป็นหลักฐานในศาลสูง”

ขณะที่ นายอริย์ธัช หรืออริ ผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนด้านกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ถ้าเราไม่มีสภาผู้แทนจะไม่มีปากเสียง ยังมีสภาผู้แทนเอาเรื่องราวต่างๆ เข้าไปพูด แต่ไม่ใช่ทุกคน ทุกพรรค

“ประเด็นดินแดง รถตำรวจจับ ชนผู้มาชุมนุม ไม่น่าใช่อุบัติเหตุ ถ้าไม่มีสภาคงไม่สามารถชี้หน้าว่าลูกน้องของคนสั่งการได้ การกระทำเหล่านี้จะต้องถูกนำมาย้อนเช็กบิล อย่างน้อยยังมีคนที่เราเลือกเข้าไปพูดเรื่องเหล่านี้ แม้กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม แม้บางคนจะว่าเป็นโรงละคร อย่างน้อยมีสภาเป็นพื้นที่นำเสียงของเราเข้าไปได้บ้าง”

นายอริย์ธัชกล่าวต่อว่า เวลามีเหตุการณ์อะไร ไม่ว่าภาคธุรกิจ หรือการเมือง ประชาชนสามารถยื่นเรื่องเข้ามาได้ จะมีคณะกรรมาธิการรับเรื่องเหล่านั้น และเรียกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ความเห็น รายละเอียด ข้อเท็จจริง แต่มีเหตุการณ์หนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลเอาเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะเรียกร้องข้าราชการมาให้ความเห็นได้หรือไม่

จากนั้นกรรมาธิการก็ถูกลดบทบาทลง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเจ้าหน้าที่มาให้ความเห็น อาจไม่ได้พูดอย่างที่เราอยากได้ยิน แต่อย่างน้อยก็เป็นกลไกหนึ่งให้คนเห็น จึงควรแก้ไขเรื่องการใช้กฎหมายอย่างได้สัดส่วน

“ผมมี 3 ข้อ 1.รู้สึกว่ากฎหมายบังคับใช้กับทุกคน แต่ไม่ได้เพื่อทุกคน กฎหมายไกลจากประชาชน จะมีวาทกรรม ‘เป็นเรื่องของนักกฎหมาย’ กฎหมายต้องอ่านเข้าใจ

2.ผมเชียร์ ‘มาตรฐานโทษระดับกลาง’ คนทำผิดไม่จำเป็นต้องเข้าคุกทุกคน 36,000 ที่เรือนจำต้องเสียให้นักโทษ 1 คน แต่ถ้าเขาอยู่ข้างนอกจะหารายได้หลักแสนต่อปี เรากำลังเสียตัวเลขส่วนนี้ ทำให้คนล้นคุกและทำงานไม่ทัน

3.เอาตำรวจไปอยู่กับท้องถิ่น อบจ. เทศบาล เพราะตำรวจมักอ้างว่า ‘นายสั่งมา’ ซึ่งคือ ผบ.ตร. แต่นายก อบต.มาจากการเลืิอกตั้ง เขาต้องควบคุมให้ได้ ตำรวจจึงจะเป็นของประชาชน ถ้าทำได้ จะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

กระทั่งเวลา 19.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการแจกภาพนักกิจกรรมที่ถูกคุมขัง โดยผู้ร่วมกิจกรรมต่างชูภาพขณะที่วงสามัญชนขับกล่อมบทเพลง “ฝากรักถึงเจ้าผีเสื้อ” “บทเพลงของสามัญชน” และ “ดวงดาวแห่งศรัทธา” โดย นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ หรือแม่สุ ร่วมชูภาพนายพริษฐ์ หรือเพนกวิน

เวลา 19.16 น. นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ “ปูน ทะลุฟ้า” ขึ้นเวทีอ่านบทกวีสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแต่งเมื่อ 6 พ.ย.53 แต่กวีบทนี้ยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบัน

ก่อนยุติกิจกรรมในเวลา 19.21 น. โดยกลุ่มทะลุแก๊ซร่วมจุดพลุส่งท้ายบริเวณหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image