เอกชน‘เสนอ-ท้วงติง’ รับทัวร์ต่างชาติ1พ.ย.

หมายเหตุ – ความเห็นภาคเอกชนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามเปิดรับนักท่องเที่ยว 45 ประเทศ และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว เพื่อกระตุ้นและฟื้นเศรษฐกิจในวันที่ 1 พฤศจิกายนนั้น

ธนากร คุปตจิตต์
เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย

การเปิดประเทศเป็นการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีนักท่องเที่ยวแบบครอบครัว, บันเทิง, สันทนาการ ซึ่งเกือบ 80% เป็นการท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลาย สนุกสนาน 20% เป็นนักท่องเที่ยวแบบสายธรรมชาติ อุปนิสัยนักท่องเที่ยวจะเน้นเรื่องอาหารด้วย เมื่อร้านอาหารดี มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบื้องต้นที่ ศบค.ประกาศไว้ว่าจะอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารวันที่ 1 ธันวาคมนั้น ประเด็นนี้ได้มีการบอกกล่าวไปว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะเกิดความไม่สนุก แล้วจะมีการพูดปากต่อปาก เป็นเรื่องดราม่าในโซเชียล

Advertisement

การเปิดประเทศต้องสอดคล้องกับการดื่มกิน ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมไปถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็มีแนวคิดเดียวกันที่อยากให้มีการดื่มกินในร้านได้ ซึ่งก็พยายามผลักดันก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ให้ทาง ศบค.พิจารณาทบทวนอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารก่อนได้ แต่ยังไม่ไปถึงขั้นอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ต่างๆ โดยควรมีการประเมินหลังผ่านไป 2 สัปดาห์ พิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย อุปสรรคแนวทาง ถ้ามีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ก็ควรอนุญาตให้สถานบันเทิงได้เปิดต่อไป

ซึ่งการดื่มกินในร้านจะต้องไม่เหมือนแบบเดิม ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มกิน ต้องมาพร้อมกับมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด หมายความว่า เมื่อมีการเปิดร้านอาหาร ผู้ให้บริการตั้งแต่เจ้าของร้าน พ่อครัว พนักงานเสิร์ฟ นักดนตรี ต้องมีการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน ซึ่งวัคซีนในที่นี้มี 2 ความหมายคือ 1.วัคซีนที่เป็นยา 2.วัคซีนที่ต้องปฏิบัติตัว ซึ่งก็คือการใช้มาตรการ DMHTT ต้องมีการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย มีแอลกอฮอล์ล้างมือ มีเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่ทางสาธารณสุขได้ประกาศใช้

ในส่วนของการเว้นระยะห่าง ทุกคนก็เห็นกันหมดว่าถ้าอยู่ในห้องแอร์จะจำกัดพื้นที่นั่งทานได้ 50% ส่วนที่ไม่ได้มีแอร์จำกัดพื้นที่นั่งทานได้ 75% ทางสาธารณสุขยอมรับว่าการอยู่ในที่โล่งจะมีความเสี่ยงการติดเชื้อได้น้อยกว่า ก็อยากให้มีการทบทวนร้านอาหาร หรือกิจกรรมเพื่อเข้าสู่บรรยากาศการเปิดประเทศ การท่องเที่ยวกลางคืนก็อยากให้มาดูเรื่อง “ลานเบียร์” ให้มีการเปิดดื่มในที่โล่ง แต่ก็มีกรอบข้อห้ามไม่ให้เด็กเข้า ใช้มาตรการทางสาธารณสุข แล้วนำมาวิเคราะห์ศึกษาว่ามีปัญหาการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยทำในพื้นที่เปิดนำร่องท่องเที่ยว ลองดูอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แล้วก็เริ่มขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ

โดยขณะนี้ต้องยอมรับแล้วว่า โรคโควิด-19 ไม่มีทางหายไปจากโลกนี้ ทางสาธารณสุขก็ได้มีการออกมาพูดเอง ถ้าเปิดประเทศก็ต้องยอมรับว่าอาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ติดเชื้อต้องไม่เกิดอาการป่วยหนัก หรือเข้าไอซียู จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เพราะมีการฉีดวัคซีนได้จำนวนมากขึ้น ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง แต่ยืนยันว่าไม่ได้ประมาท การเรียกร้องการดื่มกินในร้านเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวที่กำลังจะเปิดประเทศ ไปดูประเทศเพื่อนบ้านมีการแข่งขันสูง ซึ่งต้องการนักท่องเที่ยวเข้ามาเหมือนบ้านเรา แต่เงื่อนไขการเข้าประเทศของเขาง่ายกว่ามาก แต่ที่คล้ายๆ กันคือต้องมีการฉีดวัคซีน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนมาแล้วมีโอกาสน้อยมากที่จะมาแพร่เชื้อ แต่คนในประเทศมีโอกาสมากกว่า เพราะยังมีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา ตอนนี้จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงมาเยอะมากแล้ว

การเปิดประเทศรอบนี้ยืนยันว่าต้องมีการเปิดให้นั่งดื่มกินได้ ภายใต้กรอบวัคซีน 2 ตัวตามที่กล่าวข้างต้น ต่อมาประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 1-2 สัปดาห์ เพื่อที่จะขยายเปิดเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปชนในวันที่ 1 ธันวาคมพอดี เชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามา ต้องอย่าลืมว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญคือการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งก็มีการท่องเที่ยวทั้งกลางวันและกลางคืน

ทั้งนี้ อยากเสนอต่อว่า มาตรการที่ออกมาต้องมีความชัดเจน ถ้าประกาศออกมาแล้วต้องบังคับใช้ให้เหมือนกันหมด เพราะที่ผ่านมาบางจังหวัดได้มีการออกประกาศเพิ่มเติม ทำให้เกิดความสับสน เวลาร้านอาหารจะกลับมาเปิดทางร้านจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อน ต้องไปจัดหานักดนตรี จ้างพ่อครัว พนักงานต่างๆ ที่สำคัญคือต้องมีการสต๊อกวัตถุดิบทั้งของสด ของแห้ง หากประกาศไม่มีความชัดเจนผู้ประกอบการจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้ ดังนั้น ไม่ควรออกคำสั่งประกาศปลีกย่อยให้เกิดความวุ่นวาย

มาตรการที่ออกมาจะต้องเหมาะสม หมายถึงเหมาะสมกับทั้งมาตรการทางสาธารณสุข และทั้งเข้าใจในธุรกิจของร้านอาหาร อยากให้มีการเชิญผู้ประกอบการตัวจริงเข้าไปพูดคุย อย่างสถานบันเทิง หรือสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร รวมไปถึงตัวผมเองด้วย เพราะมีข้อมูลไปแลกเปลี่ยนประชุมร่วมกัน

ไม่ได้หมายความว่าให้เชื่อแต่ฝั่งพวกผมอย่างเดียว แต่อยากให้ฟังแล้วนำไปประยุกต์ปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกับผู้ประกอบธุรกิจด้วย

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่รัฐบาลประกาศเปิดปรับจำนวนประเทศความเสี่ยงต่ำเพิ่มขึ้นจากเดิม 10 ประเทศ เป็น 45 ประเทศ และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เนื่องจากจะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้อยากให้รัฐบาลเตรียมความพร้อมในด้านการอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น การปรับรูตไฟลต์บิน การเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข ทำความเข้าใจนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศว่าไทยแบ่งเขตเป็น 3 พื้นที่ สีแดงเข้ม สีแดง สีส้ม เพื่อให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติได้ถูกในการเดินทางไปแต่ละพื้นที่ที่ยังเน้นต้องใส่หน้ากากอยู่ และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทาง

ถ้ามองในเรื่องเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้นในทันทีทันใด ต้องใช้ระยะเวลา แต่การเปิดประเทศก็เป็นสิ่งที่ดีที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มฟื้นขึ้น เชื่อว่าปีหน้าทุกอย่างจะค่อยๆ ฟื้นขึ้นอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่อยากให้ทุกคนประมาทในการป้องกันตัว โดยเฉพาะการสวมหน้ากากยังเป็นสิ่งจำเป็น

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ประเมินว่าช่วงแรกของวันที่ 1 พฤศจิกายน คงไม่ได้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากเท่าไร เพียงแต่การประกาศเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีได้ส่งผลดีกับผู้ประกอบการที่จะได้เริ่มกลับมารีสตาร์ต เริ่มต้นใหม่
ต่อมาเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำสายการบิน หรือทำบริษัทเที่ยวข้ามชาติ น่าจะนำเครื่องบินบินเข้ามาประเทศไทย ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน เพราะฉะนั้นการที่ผู้นำเบอร์ 1 ประกาศเปิดประเทศก็เป็นโอกาสทางการตลาด

แต่ด้วยการระบาดในประเทศยังคงสูงอยู่ ประกอบกับการเข้าประเทศที่ยังมีความยุ่งยากนักท่องเที่ยวคงมาได้ไม่เยอะ เปรียบเหมือนกับเครื่องบินที่ค่อยๆ บินไต่ระดับขึ้นไป ฉะนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาด การกระจายวัคซีนที่ทั่วถึง

ด้านผู้ประกอบการก็ต้องช่วยกันสร้างความเชื่อมั่นด้วยการติดป้ายผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบแล้วทุกร้าน คนขับแท็กซี่ด้วย ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้น ด้วยการทำข้อตกลง (MOU) ระหว่างรัฐต่อรัฐ ว่าด้วยเรื่องของไม่ให้ประเทศต้นทางกักตัวพลเมืองของประเทศตัวเองหลังจากที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย ถ้ามาเที่ยวแล้วต้องกลับไปกักตัว 7-21 วัน แรงจูงใจในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยอาจจะชะลอตัวลง ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อตกลงระหว่างประเทศกัน แต่อย่างน้อยการประกาศเปิดประเทศได้สร้างการเตรียมตัวของผู้ประกอบการ เอเยนซี่ สายการบิน ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเข้ามา

เกือบ 2 ปีแล้วที่เราอยู่กับโควิด และ 4 เดือนแล้วที่มีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ผู้ประกอบการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 พอสมควร ที่คนตั้งคำถามกันว่าในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ แม้ยังมีการระบาดอยู่ ขอตอบแบบนี้ว่ามันเป็นการระบาดภายในที่เป็นปกติ ถึงไม่มีนักท่องเที่ยวก็มีการระบาดอยู่แล้ว ในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถ้าใครทำให้เกิดคลัสเตอร์ตรงไหนก็มีการปิดกันเองอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกคนจะมีความระมัดระวัง มาตรการ DMHTT ยังได้ผลอยู่

พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของต่างชาติไม่ได้ดื่มแบบเมาจนไม่ได้สติที่ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ อย่างที่ผ่านมา แต่ถ้าเปิดให้ดื่มในร้านอาหารทั่วไป นั่งทานที่ร้านข้าวต้ม เปิดเบียร์ซักขวดนึง แต่ถ้าจะเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ก็ขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน ผลจากการเปิดให้ดื่มในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรตามมา ไม่ได้มีการปาร์ตี้กันที่อาจจะก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ การนั่งดื่มแบบทั่วไปไม่ได้มีปัญหาอะไร

ส่วนการยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่เปิดท่องเที่ยวไม่ใช่การยกเลิกทั้งประเทศนั้น นักท่องเที่ยวน่าจะพอรับได้ เพราะเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ต้องยอมรับกับกฎกติกา มีการศึกษาข้อห้ามต่างๆ มาบ้างแล้ว ตามจริงไม่ได้ห่วงนักท่องเที่ยวต่างชาติเพราะมีการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศโดยทางเครื่องบินอย่างเดียว ทำให้ควบคุมง่าย มีการให้ข้อมูลต่างๆ ที่สนามบินได้เลย แต่ห่วงเรื่องคนไทยด้วยกันเองมากกว่า ทั้งการทำให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ การไม่เคารพกฎกติกา อย่างไรก็ตาม การประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวทั้งประเทศก็เป็นเรื่องดีอยู่แล้วที่จะให้คนกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เบื้องต้นคงค่อยๆ เดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ว่าเปิดก๊อกน้ำทีเดียวพุ่งออกแรง ก็คงไม่ใช่

การที่หลายคนต่างออกมาดราม่าว่านักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วจะทำให้ติดเชื้อทั้งประเทศ แสดงว่ายังไม่เข้าใจการท่องเที่ยว อย่างผมทำธุรกิจโรงแรมก็กลัวว่าแขกที่พักจะเอาโรคมาแพร่ต่อเหมือนกัน แต่เรามีมาตรการป้องกันตามที่รัฐกำหนดไว้อยู่แล้ว ผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือมาโดยตลอด ทั้งนี้ ที่มีการเกิดคลัสเตอร์ใหม่อยู่เรื่อยๆ เกิดจากคนในประเทศติดกันเอง

ข้อเสนอถึงรัฐบาลคือ 1.กฎกติกาต้องชัดเจน ไม่สับสน รัฐบาลประกาศเปิดเมืองแล้วแต่มาตรการแต่ละจังหวัดก็มีความแตกต่างกันออกไป ทำให้เป็นอุปสรรคในการส่งข้อมูลออกไป พอนายกรัฐมนตรีประกาศออกมา กว่าจะทำมาตรการขั้นตอนปฏิบัติเสร็จค่อนข้างช้าด้วยระบบราชการ ถ้าเกิดทำได้เป็นมาตรการเดียวกันทั้งหมดจะเกิดผลดีกว่ามาก 2.ต้องมีการทำเอ็มโอยูกับประเทศความเสี่ยงต่ำ มาเที่ยวไทยกลับไปไม่ต้องกักตัว

ส่วนเรื่องการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการท่องเที่ยวต้องแบ่งผู้ประกอบการออก 2 ประเภทคือ 1.กลุ่มที่มีสินทรัพย์ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ตรงนั้นธนาคารคอยมาช่วยอยู่แล้ว 2.กลุ่มเอสเอ็มอี รายย่อมรายย่อย คนที่ติด NPL (หนี้เสีย) หลังโควิด กลุ่มคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงแหล่งทุน รัฐบาลที่ทำผ่านมาก็เอาเงินให้ธนาคารไปปล่อยกู้ต่อ ไม่ใช่ปล่อยกู้โดยตรง ก็มีอุปสรรคอยู่พอสมควร เช่น คนขับรถตู้ ผู้ประกอบการรถบัส ร้านอาหาร ก็อยากเสนอให้มี “กองทุนฟื้นฟูเพื่อการท่องเที่ยว” มาปล่อยสินเชื่อให้กับคนเหล่านี้ ให้มารีสตาร์ตเริ่มประกอบธุรกิจใหม่ ยกตัวอย่างเช่น เรือนำเที่ยว จะเอาไปเข้าธนาคารก็ทำไม่ได้ ก็นำเงินจากกองทุนไปเป็นค่าต่อทะเบียน ไปเช็กเครื่องให้สภาพพร้อมใช้ เป็นการรักษาการท่องเที่ยว รักษาการจ้างงาน รักษาผู้ประกอบการไว้

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเข้าไปพูดคุยร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐอย่างธนาคารเอสเอ็มอี ออมสิน ซึ่งพยายามลดเงื่อนไขให้ แต่ธนาคารก็คือธนาคาร ยังมีการพิจารณาสินเชื่อที่ค่อนข้างเข้มงวดอยู่เหมือนกัน

ทั้งนี้ อยากให้มีการช่วยส่งเสริมด้านการตลาดด้วย เพราะถ้านำเงินมาใช้ปรับปรุงอะไรต่างๆ แล้วแต่ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวมา ก็จะเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image