‘ราษฎร’ ตั้งโต๊ะแถลงม็อบ 31 ตุลา จ่อล่าหมื่นชื่อเสนอร่าง กม.ยกเลิก 112

‘ราษฎร’ ตั้งโต๊ะแถลงม็อบ 31 ตุลา จ่อล่าหมื่นชื่อเสนอร่าง กม.ยกเลิก 112

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 24 ตุลาคม ที่หน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดแถลงข่าวกิจกรรม ม็อบ 31 ตุลาคม “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” โดยมีบุคคลจากกลุ่มต่างๆ ร่วมแถลง อาทิ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ ร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือลูกนัท, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, น.ส.สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือเมนู, นายเจษฎา ศรีปลั่ง หรือเจมส์ กลุ่มเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี กลุ่มสหภาพคนทำงาน และกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เป็นต้น

นายสมยศ กล่าวว่า ขณะนี้เกิดวิกฤตการณ์ประชาธิปไตยแล้ว เนื่องมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศมาตั้งแต่ปี 2557 ช่วง 4 ปีแรกมีการดำเนินคดีในมาตรา 112 ถึง 94 ราย 80 เปอร์เซ็นต์ถูกจองจำและไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ต่อมา มีการเว้นการใช้มาตรา 112 มาระยะหนึ่ง จนในปี 2564 เป็นต้นมามีการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับเยาวชนและประชาชนโดยทั่วไปที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด 145 คดี ซึ่งถ้ารวมกับคดีในปี 2557 ก็รวมเป็น 239 คดี

นายสมยศกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยการเมืองซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรา 112 ที่เรียกว่า ผู้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ตามประเทศต่างๆ รวมกันแล้วถึง 20 คน นอกจากคดี 112 แล้ว ยังมีคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุม การแสดงความคิดเห็น การเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยทั้งหมดอีก 800 คดี โดยเฉลี่ยแล้วตอนนี้ทุกสัปดาห์จะมีการจับกุมดำเนินคดีพี่น้องประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเกือบจะทุกสัปดาห์ เราถือว่าเป็นกฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพ โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับเยาวชน

Advertisement

“พวกเขาคืออนาคตของชาติ อย่างน้อยที่สุดในตอนนี้ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และเบนจา อะปัญ จะถูกคุมขังอยู่และไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวตามรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เราเห็นว่าการจับกุมดำเนินคดีโดยไม่ให้สิทธิการประกันตัวนั้นเป็นการกระทำที่ทำให้ระบบนิติรัฐและสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความเสียหาย และอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง การดำเนินคดีและตัวเลขของนักโทษการเมืองที่พุ่งสูงขึ้นขณะนี้จะกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมือง” นายสมยศกล่าว

ต่อมา ‘ทาทา’ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ได้อ่านคำแถลงการณ์ราษฎรประสงค์ ยกเลิก 112 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาตรา 112 มาใช้กับประชาชนสะท้อนถึงความไม่แยแสของรัฐต่อหลักสิทธิมนุษยชน ต่อหลักประชาธิปไตย ที่ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายนี้มีความคลุมเครือและรุนแรงเกินสัดส่วนต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และได้อ่านถึงปัญหาของตัวกฎหมาย 112

จากนั้น น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือไหม แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน อ่านแถลงการณ์เกี่ยวกับประชาชนที่ถูกตั้งข้อหาในมาตรา 112 ซึ่งมีจำนวน 151 คน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึง 19 ตุลาคม 2564 การแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการปราศรัย การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ โดยผู้ที่ถูกตั้งข้อหามากที่สุดคือ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 21 คดี และมีความเป็นไปได้ที่จะต้องรับโทษจำคุกสูงสุดรวมกันถึง 315 ปี ซึ่งเป็นจำนวนโทษในคดี 112 ที่สูง การคงอยู่ของ มาตรา 112 เปรียบเสมือนภัยคุกคามต่อสิทธิเสริภาพของประชาชน เพราะว่า กฎหมายดังกล่าวมีอัตราโทษที่สูง แต่กลับถูกตีความเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างกว้างขวาง ประกอบกับยังไม่มีบทบัญญัติที่คุ้มครองการแสดงความคิดเห็น อาทิ การติชมโดยสุจริต หรือการวิจารณ์เพื่อสาธารณะ จึงทำให้การแสดงความคิดเห็น การปราศรัย ไปจนถึงการแต่งกายในม็อบ หรือ การช่วยเหลือสนับสนุนผู้จัดการชุมนุม กลายเป็นเหตุในการแจ้งข้อหา มาตรา 112 ได้หมด

Advertisement

เวลาราว 16.35 น. นายนายธนัตถ์ อ่านเนื้อหาแถลงการณ์ในส่วนของทาทาเป็นภาษาอังกฤษ

16.40 น. น.ส.สุพิชฌาย์ อ่านเนื้อหาแถลงการณ์ในส่วนของ น.ส.ธนพร เป็นภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวดังกล่าวระบุว่า จะมีการเชิญชวนให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภาในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ โดยจะเป็นการเริ่มต้นก้าวแรกของการรณรงค์ยกเลิกมาตราดังกล่าว

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ทาทา
น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือไหม
นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือลูกนัท
น.ส.สุพิชฌาย์ ชัยลอม หรือเมนู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image