เดินหน้าชน : ‘เปิดประเทศ’

การประกาศนโยบายเปิดประเทศในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด ให้ชาวต่างชาติจาก 45 ประเทศ กับ 1 เขตปกครองพิเศษฮ่องกง เข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

มีความสุ่มเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกระลอก แม้ว่าประชาชนจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว แต่วัคซีนส่วนใหญ่ยังกระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่เท่านั้น

หากไปดูตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 ในอีกหลายจังหวัด ได้รับวัคซีนเพียงแค่ 30-40% เท่านั้น โดยเฉพาะเข็ม 2 ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าเมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะไม่รุนแรง จึงยังคงมีความสุ่มเสี่ยงแพร่ระบาดและมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

ความกังวลกับนโยบายเปิดประเทศ สะท้อนให้เห็นได้จากผลการสำรวจของกรมอนามัยระหว่างวันที่ 14-20 ตุลาคม 2564 ประเด็น “คิดเห็นอย่างไรกับการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564”

Advertisement

พบว่าคนไทยร้อยละ 94 กังวลกับการเปิดประเทศ มีความเชื่อมั่นต่อการควบคุมป้องกันโรคร้อยละ 28 ขณะที่ร้อยละ 72 เห็นว่าควรเพิ่มมาตรการที่จะทำให้เชื่อมั่นว่า หากเปิดประเทศแล้วจะปลอดภัยด้วยการเร่งฉีดวัคซีนให้ทุกคนทั่วประเทศ ครบตามเกณฑ์ครอบคลุมทุกจังหวัด

ร้อยละ 70 ขึ้นไป ให้มีการคุมเข้มการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ตามแนวชายแดนร้อยละ 60 และกำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของสถานประกอบการ และประชาชนอย่างเคร่งครัดร้อยละ 55 ตามลำดับ

แม้จะมีความกังวล แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ทุกคนจำเป็นต้องหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง สิ่งสำคัญต้องปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตแบบ “นิวนอร์มอล” อยู่ร่วมกับโควิดให้ได้

โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อขณะนี้ โควิดกำลังจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดทั่วไป ฉะนั้นช่วงนี้อย่าพลาด อย่าการ์ดตกติดโควิด เพราะความประมาท

เพราะสิ่งที่จะตามมาเรียกได้ว่า “มาเป็นชุด” ทั้งผลกระทบทางร่างกายคือ ความเสี่ยงปอดพัง เพราะเนื้อปอดอาจถูกทำลายแบบถาวรได้ ทางสังคมก็คือ เราและคนรอบข้างจะต้องถูกกักตัว 14 วัน ความยุ่งยากจะตามมาอีกมากมาย

ดังนั้นทุกคนจึงควรยึด “คัมภีร์ทางรอด” เอาไปใช้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แม้จะไม่ราบเรียบสะดวกสบายเหมือนอดีต แต่ถ้าเรายกการ์ดไว้ การ์ดอย่าตกจนโดนน็อก ก็จะรอดจากช่วงนี้ไปได้

สำหรับคัมภีร์ทางรอด ในส่วนของสถานประกอบกิจการต่างๆ ขอให้เพิ่มความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ให้พนักงานทุกคนที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยว ควรได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่ราชการกำหนด หรือตรวจ ATK ทุก 7-14 วัน

มีการคัดกรองพนักงานด้วย “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน หากพบว่ามีอุณหภูมิเกินกว่าที่กำหนดและมีความเสี่ยงได้รับเชื้อ ให้ตรวจด้วย ATK ทันที

มาตรการด้านความปลอดภัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ให้ประเมินตนเองตามหลักเกณฑ์ของ ไทย สต็อป โควิด พลัส (Thai Stop COVID Plus) ทุกเดือน ติดใบรับรอง หรือเซอร์ติฟิเคท (Certificate) ในบริเวณที่ผู้รับบริการและที่เจ้าหน้าที่สามารถสแกน คิวอาร์ โค้ด เพื่อตรวจสอบได้

รวมทั้งผ่านเกณฑ์การประเมิน ชา พลัส (SHA Plus) เน้นการระบายอากาศที่ดี เพียงพอ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล ควบคุม จำนวนพนักงานและลูกค้า 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร และทำความสะอาดจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วม เพิ่มความถี่ เมื่อมีผู้รับบริการมากขึ้น อย่างน้อยทุก 1 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ต้องจัดให้มีที่ล้างมือ พร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% มีมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าว และกำกับติดตามการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ สมาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับนักท่องเที่ยวคนไทยจะต้องไม่มีอาการเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง และได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ที่ราชการกำหนด หรือตรวจ ATK ทุก 7-14 วัน ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด คัดกรองตัวเองผ่าน แพลตฟอร์ม “ไทยเซฟไทย” แสดงให้ผู้รับบริการตรวจสอบก่อนเข้าสถานประกอบการ

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องไม่มีอาการเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง คัดกรองไม่พบเชื้อ และได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีผลตรวจ RT-PCR ตามระยะเวลาที่กำหนด

ข้อปฏิบัตินี้แม้ดูจะยุ่งยากและอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีมักมีกิจกรรมต่างๆ และต้องเดินทางออกต่างจังหวัด โอกาสแพร่เชื้อมีสูง

แต่ขอให้คิดซะว่า เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของทุกคน

เพราะถ้าหากละเลย ไม่ให้ความร่วมมือ “ความเสียหายฉายที่นี่” แน่นอน เพราะอาจต้องถูกปิดกิจการ กักตัว ถ้าโชคดีไม่มีอาการก็ดีไป แต่ไม่รู้ว่าคนรอบข้างจะโชคดีเหมือนเราหรือไม่

เดิมพันสูงไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นอดทนปฏิบัติตามมาตรการไปสักระยะ อีกไม่นานทุกอย่างจะปลอดภัยขึ้น

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image