‘ก้าวไกล’ เปิดแผลความล้มเหลวรัฐบาล ก่อนผนึกเสียงพรรคฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายฯ ม.152

‘ก้าวไกล’ เปิดแผลความล้มเหลวรัฐบาล ก่อนผนึกเสียงพรรคฝ่ายค้านยื่นเปิดอภิปรายฯ ม.152 ‘วาโย’ อัด นโยบายเปิดประเทศ พาคนไทยเสี่ยงชีวิต เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีคนๆ เดียว ด้าน ‘ศิริกัญญา’ ฉะ รัฐบาลกระดี้กระด้าอุ้มนายทุนใหญ่ ปล่อยเอสเอ็มอี-เกษตรกร ตายเกลื่อนในวิกฤตโควิด-19 ส่วน ‘ชัยธวัช’ ขยี้ ศึกพปชร. สะเทือนเสถียรภาพ ‘ประยุทธ์’ เร่งเชื้อไฟอุบัติเหตุการเมือง ยุบสภาฯ ก่อนแผนที่ ‘บิ๊กตู่’ ตั้งใจ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม ที่ห้องแถลงข่าว 302 ที่ทำการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หัวหมาก นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค และนพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก.ก. ร่วมแถลงข่าวการเตรียมเข้าชื่อยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 พร้อมเปิดประเด็นบางส่วนเพื่อชี้ให้เห็นความล้มเหลวจากการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นพ.วาโย กล่าวว่า ตนมีข้อกังวล 3 ข้อและข้อเสนอแนะ 3 ข้อ โดยข้อกังวลข้อที่ 1 คือ คนที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มที่รัฐบาลบอกว่า อยู่ที่ 40 %ของประชากร ซึ่งนับรวมวัคซีนชนิดเชื้อตาย ที่ไม่เพียงพอต่อการต่อกรสายพันธุ์เดลต้า และการฉีดแบบสูตรไขว้ ก็ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีเพียงสไลด์จากโรงเรียนแพทย์ 5 แห่ง ดังนั้นรัฐบาลใช้เกณฑ์อะไรพิจารณาในการเปิดปประเทศ ข้อกังวลข้อที่ 2 คือ นักท่องเที่ยวที่รัฐบาลให้เข้าประเทศ ก็ไม่มีการยืนยันว่าจะมีความเสี่ยงเป็นศูนย์ ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการจะให้เกิดลงทุน แต่ความเสี่ยงในครั้งนี้คือชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน และข้อกังวลข้อที่ 3 คือ การเปิดประเทศครั้งนี้รัฐบาลได้นำตัวอย่างเรื่องภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น จะรับนักท่องเที่ยว 1 แสนคน ตอนนี้อยู่ที่รับได้เพียง 4 หมื่นราย ก็ยังน้อยกว่าเป้าหมายอยู่พอสมควร ปัญหาคือ 4 หมื่นคนที่เข้ามา เป็นตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่ เพราะมีจำนวนมากที่เป็นคนไทย ที่กลับเข้ามาและไม่ต้องการจะไปอยู่ในสถานกักกันของรัฐ จึงเลือกมาท่องเที่ยวอยู่ที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

นพ.วาโย กล่าวว่า โมเดลแบบนี้เมื่อนำมาใช้ในสถานการณ์แบบนี้ที่การฉีดวัคซีนไม่ไปถึงไหน และตัวเลขการติดเชื้อก็อยู่ที่ประมาณ 8,000 รายต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้รวมยอดตรวจจากเอทีเค อีกหลายพันรายต่อวัน ตนเห็นด้วยที่จะเปิดประเทศ แต่สถานการณ์ตอนนี้อาจจะสวนทางกับหลักการเปิดประเทศ จึงมีความน่ากังวลอย่างมาก เราจึงเกิดความสงสัยว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องการจะเปิดประเทศในตอนนี้เป็นเพื่อปกป้องใครบางคน ที่ลั่นวาจาออกไปแล้วว่า ต้องการเปิดประเทศใน 120 วัน เป็นการลงทุนที่นำความเสี่ยงของประชาชนมาปกป้องศักดิ์ศรีคนๆ เดียวหรือไม่

Advertisement

นพ.วาโย กล่าวต่อว่า พรรคก.ก. จึงขอเสนอคำแนะนำ 3 ข้อคือ 1.การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ได้อย่างเพียงพอจากการคำนวนคือหลังจากนี้ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ล้านโดส เพื่อให้ทันภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และได้รับวัคซีนสองเข็มอย่างน้อยถึง 70 ถึง 80% ขึ้นไปของจำนวนประชากร โดยต้องยกเลิกหลักความคิดทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม เลิกการทำงานแบบรัฐราชการ ที่ทำงาน 7 โมงเช้า แล้วเลิกงาน 4 โมงเย็น จันทร์ถึงศุกร์ นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน วัคซีนทางเลือกชนิดหนึ่งจะเข้ามาภายในประเทศ เราจะดูว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้เวลาตรวจและฉีดให้ประชาชนภายในกี่วัน 2.การระดมสรรพกำลังทั้งหมด ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องศึกษาจากอดีตที่ผ่านมา ต้องคิดถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องเตรียมไว้ ภาครัฐเลิกมองสถานพยาบาลเอกชนเป็นศัตรูของรัฐ ตอนนี้ในภาวะวิกฤตแบบนี้ต้องดึงภาคเอกชนมาช่วยพันธกิจของรัฐ เพราะรัฐบาลทำคนเดียวไม่ไหวแน่นอน และ 3.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ให้เห็นถึงความหนักแน่นในตัวของนายกฯ แสดงให้เห็นว่าจะทำการเปิดประเทศอย่างจริงจังต้องไม่ลักปิดลักเปิด

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า พรรคก.ก. ได้เก็บข้อมูลจากการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา พบความเดือดร้อนของประชาชนทุกหย่อมหญ้าจะต้องได้รับการแก้ไข เรื่องแรกคือ ปัญหาของเกษตรกร ที่พบปัญหาต้นทุนที่พุ่งขึ้นจากราคาปุ๋ย ราคายาและราคาน้ำมัน โดยเฉพาะชาวนา ที่พบราคาข้าวตกต่ำ โดยต้นทุนการส่งออกที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยส่งออกข้าวได้ลดลงจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 9-10 ล้านตันต่อปี แต่ปีนี้อาจจะส่งออกได้ไม่ถึง 5 ล้านตัน เมื่อส่งออกข้าวไม่ได้ราคาข้าวภายในประเทศก็ตกต่ำเท่ากับว่า รัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในมาตรการต่างๆ เช่น การประกันรายได้ การจำนำยุ้งฉางในปริมาณที่มากขึ้น โดยในปีนี้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ได้มีมติอนุมัติวงเงินใช้เงินอัดฉีดถึง 1.5 แสนล้านบาท แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับอนุมัติเงินเพียง 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยชาวนา หรือคิดเพียงเพียง 12% จากที่ นขบ. มีมติไป

Advertisement

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนในฐานะผู้แทนราษฎรจึงสงสัยว่า งบที่จะใช้ช่วยเหลือชาวนาที่ไม่เป็นไปตามนัดเป็นเพราะว่ารัฐบาลกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับกรอบวินัยการเงินการคลังหรือไม่ หรือเป็นเพราะรัฐบาลได้ก่อหนี้กับ ธกส. และหน่วยงานรัฐอื่นๆ จนเต็มวงเงินแล้วหรือไม่ เหมือนรูดบัตรเครดิตจนเต็มวงเงินแล้ว จึงไม่เหลือเงินมากพอที่จะช่วยเหลือชาวนาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อันเป็นปมที่มาจากมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังที่กำหนดว่ารัฐจะสามารถก่อหนี้กับหน่วยงานรัฐด้วยกันเองได้เพียงแค่ 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งนับจากเดือนกันยายน 2564 ใช้ไปจนเต็มวงเงินแล้วอยู่ที่ 29.93% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เมื่อขึ้นปีงบประมาณใหม่วงเงินงบประมาณรายจ่ายลดลง ดังนั้น 30% ของงบประมาณรายจ่ายของปี 2565 จึงได้อยู่เพียง 9.2 แสนล้านบาท แต่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้ขอรัฐวิสาหกิจไปแล้ว 9.8 แสนล้านบาท ก่อนหน้านี้ได้แก้ไขกรอบหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ไปแล้ว ที่จะเป็นกรอบที่ค้ำคอรัฐบาลอีกกรอบหนึ่ง ซึ่งจะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นต้นทุนราคาแม่ปุ๋ยที่นำเข้าแพงขึ้น 25 ถึง 40% ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการกดดันให้สมาคมแม่ปุ๋ยน้ำปุ๋ยราคาถูกออกมาขายในท้องตลาดเพียง 4.5 ล้านกระสอบ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการสุดท้ายถึงส่งผ่านไปที่ต้นทุนที่ชาวนาต้องเจอ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาค่าของชีพของคนเมือง ที่ต้องพบกับค่าน้ำมันแพง และค่าตั๋วรถไฟฟ้าบีทีเอสทำให้ค่าของชีพของคนเมืองเพิ่มขึ้น จึงอยากถามว่า รัฐบาลมีแผนรับมือกับเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นกับคนเมืองอย่างไร เพราะสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า Stagflation ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อไปพร้อมกับเศรษฐกิจตกต่ำก็จะทำให้การขยายตัวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นไปอย่างลำบาก รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นการมาช่วยในช่วงที่ผู้ประกอบการต่างๆ ได้เอาลูกจ้างออกไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่แทบจะไม่ต้องรอ เมื่อมีปัญหาก็แค่ดีดนิ้ว การเยียวยาช่วยเหลือก็มาทันทีเช่น การขอชะลอการจ่ายสัมปทานรถไฟฟ้าเชื่อมสามสนามบินซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลทันทีโดยให้กรอบเจรจานานถึง 3 เดือน และมีข่าวออกมาว่าจะขอผ่อนชำระงวดแรกจำนวน 1 หมื่นล้านบาท มาแบ่งจ่ายเป็น 6 งวด ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ประชาชนไม่ทราบอย่างชัดเจนว่าเจรจาต่อรองเป็นอย่างไรทั้งๆ ที่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐ และเอกชน ประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของประเทศควรจะต้องได้รับรู้และตรวจสอบว่าผลประโยชน์ตกอยู่ที่ประชาชนมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร จากปัญหาที่เกิดขึ้น เราจึงต้องยื่นเปิดอภิปรายฯ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและเสนอการแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับคณะรัฐมนตรี

ขณะที่ นายชัยธวัช กล่าวว่า พรรคก.ก. จะนำเรื่องนี้เสนอต่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อร่วมเข้าชื่อรวมเสียงขอเปิดอภิปรายฯ ตามมาตรา 152 เพราะสิ่งที่เรารับไม่ได้คือ การที่รัฐบาลไม่รีรอที่จะช่วยกลุ่มทุนใหญ่ แต่พอเป็นผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย ก็ต้องรอแล้วรออีก จนต้องล้มหายตายจากและยากที่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่จะไปซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจในปี 2565 ด้วย

เมื่อถามถึงกระแสการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) นายชัยธวัช กล่าวว่า ประเด็นการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนในกรณีของพรรค พท. ก็คงเป็นเรื่องภายในของแต่ละพรรค และไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร พรรคก.ก. ในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน ก็ไม่ได้มีปัญหาที่จะทำงานร่วมกับผู้บริหารชุดใหม่เพราะหลายคนก็ทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า กรณีการปรับโครงสร้าง กก.บห. ทั้งพรรค พท. และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นการส่งสัญญาณเตรียมการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า หลักๆ คงจะเป็นการแก้ปัญหาหรือจัดความเหมาะสมของแต่ละพรรคการเมือง แต่ความขัดแย้งในพรรค พปชร. ก็อาจจะมีนัยยะสำคัญในแง่ที่ว่า อาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้เสมอ ซึ่งหมายความว่า อาจจะเกิดการยุบสภาฯ เร็วกว่าที่รัฐบาล หรือพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการ เพราะตนเคยย้ำหลายครั้งว่าการยุบสภาฯ ในการเมืองไทยน้อยครั้งมากที่เกิดจากความตั้งใจของรัฐบาล และเลือกระยะเวลาในการยุบสภาฯ ในช่วงที่ตัวเองได้เปรียบ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางการเมืองของรัฐบาลเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพปชร. ก็สะท้อนว่า เสถียรภาพทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ และความขัดแย้งภายในพรรค พปชร. เป็นปัญหาสำคัญ หากแก้ไขไม่ได้ จะทำให้มีปัญหาผ่านกฎหมายสำคัญในสภาฯ เราอาจจะเห็นปรากฏการณ์การเมืองย้อนยุค เช่น ก่อนโหวตวาระสำคัญต่างๆ ต้องไปแจกเงินกันในห้องน้ำ หรือชั้นสอง ชั้นสาม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล เรื่องนี้ตนเห็นว่าความไม่มีเสถียรภาพส่วนหนึ่งเกิดจากส.ส. ของพรรค พปชร. จำนวนหนึ่งไม่ยอมรับ และไม่มีความมั่นใจในตัวพล.อ.ประยุทธ์ หลายคนมีความกังวลเป็นอย่างมาก หากจะหาเสียงกับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้าโดยชู พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image