วราวุธ ชี้ IPCC ระบุ โลกร้อนขึ้น 1.1 องศา เผย นายกฯเตรียมบินกลาสโกว์ ถกเรื่องสภาพภูมิอากาศ

วราวุธ เผยนายกฯ ร่วมถกสมัชชาฯ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 เมืองกลาสโกว์

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส. พร้อมด้วย นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พาณิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ร่วมแถลงกรอบท่าทีการเจรจาของประเทศไทยในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) หรือ คอป 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ในช่วงสัปดาห์หน้า

นายวราวุธ กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล บ้านผมเอง จ.สุพรรณบุรี ปีนี้น้ำท่วม แค่คืบเดียวก็เกือบจะมิดหลังคา จะไม่เหลืออะไรอยู่แล้ว สถานการณ์ปีนี้น้ำมากกว่าปี 2554 อย่างมาก แสดงให้เห็นว่าแค่ช่วงระยะเวลา 10 ปี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยหนักหนาสาหัส และร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ

นายวราวุธ กล่าวถึงการรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ว่า ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของโลกทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การละลายของน้ำแข็ง และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ปัจจุบันอุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส จากระดับในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และจะเพิ่มสูงขึ้นอีก จากรายงานของ NDC Synthesis report แสดงให้เห็นว่า เป้าหมายการดำเนินงานที่ประเทศต่างๆ จัดส่งภายใต้ความตกลงปารีส (NDCs) ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 หรือ 1.5 องศาฯ แต่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิประมาณ 2.7 องศาฯ ภายในปี 2100

“เป้าหมายของปีนี้ จะมีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่า ทุกประเทศจะมีการเชื้อเชิญให้เพิ่มขีดความสามารถในการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะมีการพูดถึงการระดมทุนจากประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นการพูดคุยที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ส่วนจะทำได้มากแค่ไหนนั้น ยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้การสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนาอีกหลายๆ ประเทศได้อย่างไร ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปยังเมืองกลาสโกว์ ด้วยตนเอง เพื่อเข้าร่วมประชุมด้วย และแสดงให้เห็นว่าปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญและเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ต้องผลักดัน ขับเคลื่อน” นายวราวุธ กล่าว

Advertisement

นายวราวุธ กล่าวว่า ในการประชุมดังกล่าว ประเทศไทยจะจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies หรือ LT-LEDS) รวมถึงประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อแสดงถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งต่อความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆ ของโลก ที่สามารถดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกรอบมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียนนั้น มีเพียง 3 ประเทศที่เข้าร่วมสมาชิก คือ ไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย” นายวราวุธ กล่าวและว่า การเข้าร่วมประชุม COP26 ประเทศไทยเน้นย้ำท่าทีของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวอย่างสมดุล โดยการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศจะต้องพิจารณาอย่างบูรณาการและสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การขจัดความยากจน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และสอดคล้องกับหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง ตามขีดความสามารถ (Common but differentiated responsibility and respective capability) โดยประเทศไทยมีความพร้อมและยินดีทำงานร่วมกับทุกภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส

รัฐมนตรีว่าการ ทส. กล่าวว่า คาดหวังให้การประชุม COP26 สามารถหาข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเจรจาที่ยังไม่มีข้อสรุปได้ เพื่อให้มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนภายใต้ความตกลงปารีสในระยะหลังปี 2020 ต่อไป

“หลังการประชุมนี้ โลกจะก้าวเข้าสู่อีกโหมดหนึ่ง ทุกประเทศจะต้องเข้าเกียร์เต็มที่ในการที่จะลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ไม่อย่างนั้นสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นตัวอย่าง น้ำท่วมภาคอีสาน น้ำท่วมภาคกลาง และเร็วๆ นี้จะมีพายุเข้ามาอีกลูก เป็นสัญญาณเตือนได้ดีว่า เราจะต้องทำวันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ แน่นอนว่าการทำงานแบบนี้จะต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล” นายวราวุธ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในระยะเร่งด่วนถึงระยะสั้น ประเทศไทยจะร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างไร ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม นายวราวุธ กล่าวว่า เบื้องต้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เริ่มแล้วในการนำรถบัสไฟฟ้าเข้ามาใช้งาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีการเร่งนโยบายที่จะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทส.ต่อจากนี้ไปจะไม่มีการใช้ถ่านหิน จากนี้ไปการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะลดลงไป นอกจากนั้นหน่วยงานต่างๆ หรือภาคเอกชนจะให้การสนับสนุนภาคการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดปริมาณการผลิตคาร์บอนไดออกไซค์ และจะได้การลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่าย โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยทำให้เราสามารถปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image