ศาลรธน.สั่งกรธ.ปรับแก้ ให้ส.ว.ร่วมเสนอยกเว้นเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้

ศาลรธน. สั่งกรธ.ปรับแก้ให้ส.ว.ร่วมเสนอขอยกเว้นเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองได้ แต่ไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ พร้อมแก้ให้ตลอดระยะเวลา 5 ปี ส.ว.มีสิทธิขอยกเว้น-โหวตนายกฯ ไม่ว่าจะเลือกนายกฯใหม่กี่ครั้งก็ตาม

เมื่อเวลา 16.00 น.นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงมติที่ประชุมว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้กรธ.ไปปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ โดย 1.ประเด็นที่กรธ.กำหนดเป็นมาตรา 272 วรรคสองของร่างรัฐธรรมนูญว่า กรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ให้ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อยกเว้นได้นั้น เห็นว่าควรเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะต้องเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปด้วย สมตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ ดังนั้น กรธ.แก้ไขให้ผู้มีสิทธิเสนอขอยกเว้นการเสนอชื่อนายกฯจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองคือสมาชิกรัฐสภา จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

2. ประเด็นที่กรธ.กำหนดเป็นมาตรา 272 วรรคหนึ่งว่า “ในระยะ 5 ปีแรก” นับแต่วันที่มีรัฐสภา ภายหลังการเลือกตั้งส.ส.ตามมาตรา 268 และวรรคสองบัญญัติว่า “ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือกส.ส.ตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองที่แจ้งไว้ ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา มีมติยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสองต้องสอดคล้องกัน จึงได้กำหนดให้ที่ประชุมสมาชิกรัฐสภา เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เพื่อให้ได้นายกฯเข้ามาทำหน้าที่บริหารราชการในช่วงเวลาเดียวกัน และสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ สำเร็จบรรลุผลตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและเจตนารมณ์ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งที่ประชุมสมาชิกรัฐสภาจะต้องประกอบด้วยส.ส.และส.ว.ดังนั้นกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรค 2 คือ ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกรธ.ต้องไปดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย รวมทั้งปรับแก้ถ้อยคำในคำปรารภให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ต่อไป อย่างไรก็ตาม กระบวนการหลังจากนี้ ทางกรธ.ต้องไปดำเนินการปรับแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯตามขั้นตอนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำวินิจฉัยกลาง มีทั้งสิ้น 19 หน้า มีการระบุถึงผู้มีสิทธิที่จะเสนอชื่อนายกฯและผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติแล้วเห็นว่าการได้มาซึ่งนายกฯ ได้แบ่งขั้นตอนการเสนอชื่อและการให้ความเห็นชอบออกจากกัน เนื่องจากต้องการให้การเสนอชื่อบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯเป็นหน้าที่ของส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ จึงได้กำหนดไว้ในมาตรา 88 ให้พรรคการเมือง ต้องคัดเลือกบุคคลที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ขณะที่ในประเด็นคำถามพ่วงที่ให้ประชาชนลงมตินั้น เขียนเพียงว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ” ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าคำถามพ่วงประสงค์เฉพาะให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ไม่รวมถึงการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯด้วย ดังนั้นการร่างฯ 272 วรรคหนึ่งไว้ในร่างรัฐธรรมนูญของกรธ.จึงสอดคล้องและชอบด้วยผลการออกเสียงประชามติแล้ว

Advertisement

ส่วนการเสนอขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมือง แม้ไม่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบตัวบุคคล ผู้จะเป็นนายกฯตามถ้อยคำในประเด็นคำถามพ่วงก็ตาม แต่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญผลการออกเสียงประชามติ จำต้องแก้ไขให้สอดคล้องกันทุกส่วนทุกขั้นตอน รวมถึงขั้นตอนการเสนอขอยกเว้นดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการกำหนดให้ส.ส.เป็นองค์กรมีสิทธิเสนอขอยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯจากบัญชีพรรคการเมือง โดยอาศัยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเท่าที่มีอยู่ หากการดำเนินการในขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อเพื่อให้ถึงจำนวนดังกล่าวเกิดข้อขัดข้อง เป็นเหตุให้กระบวนการทั้งหมดต้องล่าช้า หรือไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมส่งผลกระทบต่อความราบรื่นในกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯที่ต้องดำเนินการภายใต้การตัดสินใจ ร่วมกันของที่ประชุมรัฐสภา ดังนั้นเพื่อให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติในประเด็นคำถามพ่วงร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสองที่มุ่งหมายให้เป็นทางออกกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯได้ จึงจำเป็นให้ส.ว.ร่วมเป็นผู้เสนอขอยกเว้นดังกล่าวไว้ด้วย ประกอบกับผลการออกเสียงประชามติในประเด็นคำถามพ่วงมีผลให้การได้มาซึ่งนายกฯเปลี่ยนจากการยึดหลักการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ของแต่ละสภาตามระบบสองสภา มาเป็นการแสดงบทบาทหน้าที่ร่วมกันของทั้งสองสภา ในฐานะเทียบเท่าการทำงานในระบบสภาเดียวซึ่งจะทำหน้าที่เฉพาะในกระบวนการแต่งตั้งนายกฯภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่มีรัฐสภาชุดแรกเท่านั้น จึงมีผลทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นองค์กรที่มีบทบาทร่วมกันในกระบวนการได้มาซึ่งนายกฯ โดยการดำเนินการขั้นตอนต่างๆต้องกระทำในที่ประชุมร่วมรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในขั้นตอนของการขอยกเว้นตามความในมาตรา 272 วรรคสอง แต่ไม่ใช่เป็นการเสนอชื่อนายกฯ แต่เป็นขั้นตอนหลังจากการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯจากส.ว.แล้ว

ส่วนกำหนดเวลาและวันเริ่มนับเวลา ตามร่างรัฐธรรมนูญ 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้มีการแก้ไขนั้น ในคำวินิจฉัยกลางระบุเหตุผลเพิ่มเติมไว้ว่า การเขียนบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวของกรธ. อาจทำให้เกิดข้อขัดแย้ง ได้ว่าหมายถึงรัฐสภาชุดใดแน่ อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเริ่มนับเวลาของรัฐสภาจากการเริ่มจากความเป็นส.ส.เท่านั้น โดยไม่ได้ยึดโยงความเป็นรัฐสภา ดังนั้นในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จึงหมายถึงวันที่มีส.ส.และส.ว.ครบองค์กรประกอบที่จะเป็นรัฐสภาโดยสมบูรณ์ สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐสภาได้

ส่วนการที่กรธ.บัญญัติคำว่า “ในวาระเริ่มแรก” เมื่อมีการเลือกส.ส.ตามมาตรา 268แล้ว อาจทำให้เข้าใจว่าหมายถึงการเลือกตั้งส.ส.ครั้งแรกเท่านั้น ที่ต้องทำภายใน 150 วัน นับแต่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลใช้บังคับเท่านั้น โดยไม่สามารถนำการเสนอขอยกเว้นการเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองมาใช้ได้อีก หากเกิดกรณีนายกฯต้องพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ แล้วต้องให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกฯใหม่ในระหว่าง 5 ปีแรก ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่ง

Advertisement

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผลการออกเสียงประชามติ ในประเด็นคำถามพ่วงที่ประชาชนได้ให้ความเห็นชอบถึงร้อยละ 58.07 การกำหนดเวลาและวันเริ่มนับกำหนดเวลาตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงถือเป็นสาระสำคัญของผลการออกเสียงประชามติจึงจำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้อง

27

28

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image