สกู๊ปหน้า 1 : ‘บิ๊กตู่’ ลัดฟ้า ‘กลาสโกว์’ ร่วมเวทีผู้นำถก ‘ค็อป26’

‘บิ๊กตู่’ ลัดฟ้า ‘กลาสโกว์’ ร่วมเวทีผู้นำถก ‘ค็อป26’

นับเป็นครั้งแรกหลังจากมีการระบาดโควิด-19 ลุกลามไปทั่วโลก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ บินลัดฟ้าไปร่วมประชุม ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร (สกอตแลนด์) ช่วงค่ำวันที่ 31 ตุลาคมนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญแห่งชาติที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้ความสำคัญและดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวก่อตัวขึ้นมาเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษ และมีแนวโน้มรุนแรงและถี่ขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับการรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของโลกทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การละลายของน้ำแข็ง และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลนั้นมันได้เกิดขึ้นแล้ว

ปัจจุบันอุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส จากระดับในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และจะเพิ่มสูงขึ้นอีก

Advertisement

จากรายงานของ NDC Synthesis report แสดงให้เห็นว่า เป้าหมายการดำเนินงานที่ประเทศต่างๆ จัดส่งภายใต้ความตกลงปารีส (NDCs) ยังไม่เพียงพอจะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียส
แต่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ.2100

สำหรับการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 ถือว่าเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะทิศทางของผู้นำแต่ละประเทศนั้นจะมีท่าทีอย่างไรในการนำเสนอแนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหามลพิษ

ความสำคัญของการประชุม COP26 จัดขึ้นท่ามกลางข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมีความเลวร้ายลงเรื่อยๆ ถือเป็น “Code red” ต้องได้รับความสนใจ
รายงานของ IPCC เรื่อง Physical Science Basis ล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของโลกทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การละลายของน้ำแข็ง และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล โดยอุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส จากระดับในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

Advertisement

การประชุม COP26 เปิดโอกาสให้ผู้นำและผู้แทนระดับสูงของประเทศจาก 197 ประเทศขณะนี้มีผู้นำยืนยันเข้าร่วมแล้วกว่า 100 ประเทศ รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ได้พบปะแบบ in-person เพื่อเน้นย้ำว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่สามารถรอได้

มีประเด็นสำคัญประเทศต่างๆ ต้องเร่งสรุป เพื่อกำหนดแนวทางให้ความตกลงปารีสดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะการเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปต่อแนวทางการดำเนินงานของประเด็นภายใต้

ความตกลงปารีสที่ประเทศต่างๆ รับรองตั้งแต่ พ.ศ.2558 ได้แก่ กลไกตลาดและกลไกที่ไม่ใช่ตลาดภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส กรอบการดำเนินงานของ NDC การรายงานบัญชีก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรอบความโปร่งใส

การประชุม COP26 จะต้องพิจารณาข้อตัดสินใจต่อแนวทางในการกำหนดเป้าหมายทางการเงิน ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องสนับสนุนต่อประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เดิมกำหนดไว้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

เป้าหมายทางการเงินใหม่นี้จะเริ่มใช้หลังปี ค.ศ.2025 เป็นประเด็นที่ประเทศกำลังพัฒนาให้ความสำคัญ และต้องการผลักดันให้ชัดเจน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้ NDCs และการขับเคลื่อนตาม LT-LEDS ของประเทศ

ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเห็นการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมภายใต้ “Global goal on adaptation” เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน

นอกจากนั้น ยังต้องการให้มีแนวทางในการจัดการกับการสูญเสียและความเสียหาย (loss and damage) ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอื่นๆ (economic and non-economic harms)

ในการประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ประเทศไทยจะประกาศและจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) รวมถึงประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality

ประเทศไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกๆ ของโลกที่ดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกรอบมาตรการชัดเจน สิงคโปร์ประกาศเป้าหมายที่จะเป็น Net Zero Emission ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษนี้ อินโดนีเซียประกาศเป้าหมาย Net Zero Emission ที่ปี ค.ศ.2060 ทั้ง 2 ประเทศยังไม่กำหนดแนวทาง มาตรการและแผนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าที่กำหนดไว้

สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ระยะยาวคือ ประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี ค.ศ.2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้ รวมถึงมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065

โดยภาคพลังงานและขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ ที่สอดคล้องกับกรอบแผนพลังงานชาติ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในปี ค.ศ.2030 ในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 30

การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ในปี ค.ศ.2030 การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน (Decarbonization) การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน (Digitalization) การกระจาย ศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน (Decentralization) การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ (Deregulation) และการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า (Electrification)

ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ไทยมีมาตรการการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมการปลูก และบำรุงรักษาป่าสำหรับองค์กร หรือบุคคลภายนอก การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทร่วมปลูกและฟื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ.2580

ประกอบด้วย พื้นที่ป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ร้อยละ 15 และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ร้อยละ 5 และยุทธศาสตร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการเพิ่มพื้นที่การดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 120 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า (MtCO2eq) ภายในปี พ.ศ.2580 รวมทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซเรือนกระจกของประเทศด้วย

ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
โดยการร่วมปลูกและดูแลรักษาป่าในพื้นที่ของรัฐ ซึ่งจะได้รับการแบ่งปันปริมาณคาร์บอนเครดิตกับหน่วยงานของรัฐเจ้าของพื้นที่ในอัตราส่วนร้อยละ 90:10 หรือตามตกลงภายใต้ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งปันปริมาณคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ

ประเทศไทยมีความพร้อมและยินดีทำงานร่วมกับทุกภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส และคาดหวังให้การประชุม COP26 สามารถหาข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นเจรจาที่ยังไม่มีข้อสรุประหว่างภาคี

ในห้วงการประชุม COP26 ประเทศไทยจะหารือทวิภาคี (Bilateral discussion and cooperation) ร่วมกับสมาพันธรัฐสวิสเพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณานัดหมายการหารือร่วมกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ถึงโอกาสการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันต่อไป

ส่วนจะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ต้องรอลุ้นกันยาวไป!?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image