กสม.แนะเปิดเวที รับฟังความเห็นเยาวชนที่ร่วมชุมนุม ชี้ ควรอบรมคฝ.ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล

กสม.ย้ำข้อเสนอแนะ เปิดพื้นที่ปลอดภัยแสดงความคิดเห็น-ปฏิบัติต่อเด็ก-เยาวชน อย่างเหมาะสม เน้นการชุมนุมสงบปราศจากอาวุธ เชื่อทุกฝ่ายเริ่มมีพัฒนาการดีขึ้น-ความรุนแรงไม่น่าห่วง

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ว่า ตามที่ กสม.ได้ติดตาม เฝ้าระวัง และตรวจสอบสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุม โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน ซึ่งที่ผ่านมา กสม.ได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนเด็กและเยาวชน นักวิชาการ นักกิจกรรมด้านสันติวิธี นักจิตวิทยา ผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในการชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรง

โดยในการระดมความคิดเห็นเรื่อง “สิทธิเด็กกับสถานการณ์การชุมนุม” (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก รวมถึงการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ และความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม ซึ่ง กสม.ได้มีหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กสม. ได้ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะฯ กับผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับข้อเสนอแนะฯ โดย กสม.ได้เน้นย้ำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของเด็กในสถานการณ์การชุมนุม เช่น ควรจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม เพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันและเปิดพื้นที่ในการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยปราศจากความรุนแรงทั้งต่อร่างกายและจิตใจ หน่วยงานรัฐควรมีแนวปฏิบัติและวิธีการที่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชน โดยจัดให้มีระบบดูแลเด็กและเยาวชน ตั้งแต่เริ่มชุมนุม ระหว่างชุมนุม หลังการชุมนุม และควรแยกกลุ่มผู้ชุมนุมให้ชัดเจนระหว่างผู้ก่อความรุนแรง และไม่ก่อความรุนแรง

Advertisement

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรจัดอบรมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลโดยคำนึงถึงมิติของเด็กและเยาวชนด้วย รวมทั้งให้ดูแล คุ้มครอง ปกป้องการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมทั้งต้องมีมาตรการไม่ให้เกิดการตีตรา กลั่นแกล้ง และสร้างความเกลียดชังในโลกออนไลน์กับผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งในการนี้ หน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมได้แสดงความเห็นพ้องกับข้อเสนอแนะของ กสม. โดยให้ความสำคัญกับกลไกการเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกันนี้ยังได้หารือถึงแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กในพื้นที่การชุมนุม รวมทั้งยังได้หารือถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักสิทธิเด็กในกระบวนการจับกุมและดำเนินคดีต่อเยาวชนด้วย

“ทุกหน่วยงานพร้อมสนับสนุนและดำเนินการตามแนวทางข้อเสนอแนะดังกล่าวอย่างเต็มที่ ขณะที่ กสม.ยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็น และเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และยุติการใช้ความรุนแรงต่อกันทุกรูปแบบเพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย โดยเจ้าหน้าที่จะต้องใช้แนวทางในการจัดการและควบคุมฝูงชนให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด”นายวสันต์ กล่าว

เมื่อถามว่า หลังจากมีการยกเลิก พ.ร.บ.ฉุกเฉิน จะทำให้การชุมนุมเกิดความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ นายวสันต์ กล่าวว่า คิดว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลายจากโควิด-19 มีการเปิดประเทศ มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ การชุมนุมอาจจะมีมากขึ้น แต่ในเรื่องความรุนแรง ก็หวังว่าการใช้ความรุนแรงหรือการปะทะกันจะลดลง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและฝั่งเจ้าหน้าที่ โดยทางฝั่งเจ้าหน้าที่เราก็ได้มีการพูดคุยกันอยู่ตลอดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ขอให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในขณะที่ผู้ชุมนุมเราคิดว่าสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครองจะต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันดูแล

Advertisement

ทั้งนี้การชุมนุมใหญ่ครั้งหลังสุดเจ้าหน้าที่มีการตั้งด่านกลั่นกรองอาวุธในพื้นที่ชุมนุม ขณะที่ผู้ชุมนุมมีการติดริบบิ้นให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อแยกเด็กกับผู้ชุมนุมโดยทั่วไปที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเห็นว่าเป็นพัฒนาการที่ดี และในเรื่องความรุนแรงในระยะหลังก็อาจจะเบาบางลง หากมีเวทีพูดคุยกัน มีกติกาในการชุมนุมที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเราคิดว่าสถานการณ์เรื่องความรุนแรงไม่น่าเป็นห่วง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image