วิกฤตราคาข้าวตกต่ำ ทุกข์ซ้ำซ้อนชาวนาไทย

วิกฤตราคาข้าวตกต่ำ ทุกข์ซ้ำซ้อนชาวนาไทย

หมายเหตุความเห็นนักการเมือง ภาคเอกชน เกษตรกร สาเหตุ ทางออก และข้อเสนอแนะ การแก้ปัญหาราคาข้าวไทยตกต่ำ

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

Advertisement

ราคาข้าวในปัจจุบันนั้นไม่ได้ตกต่ำ เพราะข้าวเปลือกที่ได้กิโลกรัม 5-6 บาทนั้น เป็นข้าวที่มีความชื้นอยู่ที่ 35% ไม่ใช่ข้าวที่มีความชื้นตามมาตรฐานข้าวไทย ที่กำหนดความชื้น 15% ดังนั้น การนำข้าวที่มีความชื้นสูงมาขาย ก็เหมือนกับเอาน้ำมาขายด้วย ถ้าต้องการราคาตามที่ตลาด ที่โรงสีรับซื้อ กิโลกรัมละ 8 บาท ก็ต้องลดความชื้นในข้าวให้เหลือ 15%

ข้าวที่กิโลกรัมละ 6 บาทนั้น จริงๆ แล้วเมื่อรับซื้อมาใน 1 ตัน ได้ข้าวจริงๆ แค่ประมาณ 700 กิโลกรัมเท่านั้น ที่เหลือเป็นน้ำ แล้วข้าวที่ความชื้นสูงนี้ 2-3 วัน ก็เน่าแล้ว

ดังนั้นเวลาขายข้าวก็ควรเป็นข้าวแห้ง ความชื้น 15% มันมีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว โรงสีซื้อไปก็ต้องไปเข้าเครื่องอบให้แห้ง เหลือความชื้น 13% จึงจะนำไปสีเป็นข้าวสารได้ ส่วนข้าวเพื่อการส่งออกก็ต้องซื้อข้าวที่ความชื้นไม่เกิน 14% ถ้ามันเกินกว่านี้ทิ้งไว้ เดือน 2 เดือน ก็ขึ้นราได้

ส่วนที่มีการโจมตีกันถึงเรื่องข้าวตกต่ำในการประชุมสภานั้น เป็นเพราะพูดโดยที่ยังไม่มีการศึกษาเรื่องข้าวมาให้ดี และไม่แยกด้วยว่าเป็นข้าวเปลือกหรือข้าวสาร เรื่องนี้อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจผิดได้ โดยข้าวสารต้องมีการสีข้าวก่อนมาเป็นเปลือกข้าว รำข้าว และข้าวสาร ซึ่งข้าวเปลือก 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม สีออกมาเป็นข้าวสารที่รวมทั้งข้าวหักได้เพียง 650 กิโลกรัมเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อแปลงราคาข้าวเปลือกไปเป็นข้าวสาร ก็ต้องเพิ่มไปอีก 60% คือจากข้าวเปลือกราคากิโลกรัมละ 6 บาท ข้าวสารก็จะราคากิโลกรัมละ 11-12 บาท ส่วนที่ว่าราคาตกต่ำหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเอาราคาไปเปรียบเทียบอย่างไร

ในปีปกติประเทศไทยจะผลิตข้าวเปลือกได้ 32 ล้านตัน สีเป็นข้าวสารได้ 20 ล้านตัน แบ่งเป็นการบริโภคในประเทศประมาณ 10 ล้านตัน เก็บไว้เป็นพันธุ์และสต๊อก ประมาณ 2 ล้านตัน และส่งออกไปต่างประเทศ 8 ล้านตัน เพราะถ้าส่งออกไม่ได้ตามนี้ ข้าวสารที่ผลิตแล้วก็จะค้างในสต๊อก และปีต่อไป
ก็จะมาสะสมเพิ่มอีก ถ้าของปริมาณเยอะ ราคาจะถูกลงตามกลไกการตลาด และการส่งออกนั้น ไม่ใช่ว่าจะส่งออกในราคาไทยก็ได้ แต่ต้องดูคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม อินเดีย ขายที่ราคาเท่าไหร่ ราคาส่งออกข้าวไทยต้องสู้กับเขาได้ ส่วนที่ว่าทำไมไทยเราส่งออกข้าวได้น้อยลงนั้น ก็เพราะราคาไปแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้

ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันไม่ได้ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งกว่าเพื่อนบ้านมาก ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คุณภาพข้าวไทยสู้ประเทศคู่แข่งได้หรือไม่ ต้องตอบคำถามนี้ก่อน โดยที่ผ่านมาไทยไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุดในโลก ประมาณ 460 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่หลายประเทศต่างพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูงเกือบ 1 ตันต่อไร่แล้ว และการที่ไทยพยายามจะตั้งราคาข้าวให้สูงอยู่เรื่อยๆ นั้น ต้องดูว่าคุณภาพได้หรือไม่

ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 8,000 บาทต่อตันนั้น เป็นราคาปกติสำหรับประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม เมียนมา ประเทศเหล่านี้ขายข้าวเกรดเดียวกันในราคาที่ถูกกว่าไทยมาก ตัวอย่างเวียดนามมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ตรงกับที่ตลาดโลกต้องการ อาทิ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นำเข้าข้าวสำหรับการบริโภค คนส่วนใหญ่เลือกรับประทานข้าวพันธุ์พื้นนุ่ม แต่เกษตรกรไทยกลับปลูกข้าวพันธุ์พื้นแข็ง เพราะอดีตส่งไปแอฟริกาจำนวนมาก เพื่อทำข้าวนึ่ง ดังนั้นตลาดข้าวไทยจึงถูกคนอื่นแย่งไปหมด

ปัจจุบันไทยสนใจแต่เรื่องราคา เป็นการเมืองแบบประชานิยม ให้ชาวนาได้ขายข้าวในราคาดี แต่กลับไม่สนใจที่จะพัฒนา ปรับปรุงพันธุ์ข้าว ให้แข่งขันกับต่างประเทศได้

ดังนั้นสิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้คือ การปรับปรุงยุทธศาสตร์ใหม่ เร่งผลักดันให้มีการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเพิ่งทำยุทศาสตร์ข้าว 5 ปี ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

เป้าหมายแรกคือ ไทยต้องมีข้าวพันธุ์ใหม่ ตามที่ตลาดต้องการ และผลผลิตต่อไร่ต้องสูง เพื่อให้ข้าวไทยแข่งขันในเวทีโลกได้

รังสรรค์ สบายเมือง
นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย

จากปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำขณะนี้ จริงๆ แล้วเป็นปัญหาของกลไกการตลาด ที่สะสมมานาน เป็นสภาวการณ์ปกติ เนื่องจากการใช้ข้าวมีปริมาณที่ลดลง จำนวนผู้บริโภคลดลง จำนวนของการส่งออกลดลง จึงส่งผลให้การค้าลดลง ราคาก็ลดลงตามปกติของกลไกการตลาด

ในส่วนตัวแล้วผมเป็นคนกลางที่มีกำลังการผลิต หากเกษตรกรชาวนามีการผลิตข้าวเปลือกมากขึ้นจนล้นตลาด ราคาก็ต้องถูกลง หากกำลังผลิตข้าวเปลือกของเกษตรกรชาวนามีกำลังผลิตข้าวเปลือกที่มีปริมาณลดลง ทางสมาคมโรงสีข้าวก็เดือดร้อน เพราะเราจะต้องซื้อข้าวเปลือกจากชาวนามาสีข้าวเป็นข้าวสารในการส่งออก

ดังนั้นปัญหาที่ราคาข้าวทำไมมันจึงถูก ขอบอกว่ามันเป็นไปตามกลไกการตลาด ที่นี้มันซึมลึก มันถูกสะสมมานานนับหลายเดือน มันเลยดูวิกฤต แต่จริงๆ แล้ว ที่ผมดูในฐานะเป็นคนค้าขาย ดูแล้วเป็นเรื่องปกติในภาวะอย่างนี้ เนื่องจากการส่งออกของเราก็น้อยลง คือซัพพลายมากว่าปริมาณเยอะ มันก็เลยต้องปรับราคา ด้วยสินค้าข้าว ประเทศไหนเค้าก็มี ที่หากเราจะส่งออกเยอะๆ จริงๆ ราคามันต้องต่ำกว่านี้อีก แต่วันนี้ข้าวเราถูกกว่าเวียดนาม แต่ก็ยังแพงกว่าอินเดีย ซึ่งก็ยังไม่สามารถส่งออกได้เท่าที่คิด เท่าที่ควร ซึ่งทางสมาคมผู้ส่งออกตั้งเป้าไว้ประมาณ 6 ล้านตัน ตอนนี้ก็ยังไม่ไปไหนเลย ทำให้การส่งออกตอนนี้อยู่ที่ 3 ล้านตันกว่า ยังไม่ถึง 4 ล้านตัน ดูแล้วสต๊อกเราในประเทศก็เลยดูเยอะ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาของโควิด ที่มาซ้ำเติมด้วย คนท่องเที่ยวน้อยลง ทำให้คนกินข้าวน้อย แค่ในประเทศ เรากินกันเองก็ไม่หมดอยู่แล้ว

ส่วนปัญหาในการแก้ไขราคาข้าวในระยะยาวระยะสั้นนั้น มันต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะว่าเราจะทำให้ข้าวเราแพง โดยมิได้มีการคำนึงถึงวิธีการผลิต ต้นทุนการผลิต เราจะขายแพงอย่างเดียวก็ไม่ได้ จริงๆ ต้องคำนึงถึงว่าคนทำข้าวนี่แม้ราคาข้าวจะถูก เค้าก็มีกำไร แม้จะแพงเค้าก็ยิ่งมีกำไรใหญ่ บ้างปีมันก็จะถูก บางปีมันก็จะแพง มันต้องไปแข่งขันในโลกเพราะว่าเราไม่ได้ทำข้าวประเทศเดียว หากจะให้แก้ปัญหานี้อย่างถาวร คือจะต้องทำให้เกษตรกรชาวนาลดต้นทุนการผลิต ทำนาเหมือนเดิม ในที่แปลงเดิม แต่ใช้ทุนน้อยลง แล้วได้ผลผลิตในจำนวนปริมาณมากขึ้นในแต่ละคราว

แต่วันนี้มันทำได้ยาก เพราะน้ำมันก็แพง ปุ๋ยก็แพง ยาฉีดทุกอย่างแพงหมด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรชาวนา ทุกอย่างมันขึ้นราคาหมดเลย เรียกว่าเป็นทวีคูณกันเลย มันก็เลยทำให้การลดต้นทุนทำได้ยาก

ทุกวันนี้ทั้งทางหน่วยงานราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ก็ดี พยายามสร้างพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ตอบสนองต่อการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่สุดท้ายจริงๆ ก็จะต้องลดต้นทุนให้ได้ เพิ่มผลผลิตให้ได้ เรื่องราคาก็จะไม่น่ามีปัญหา มันเป็นปัญหาของประเทศไทยทุกปีเป็นมายาวนาน

ผมเป็นคนกลาง ซ้ายมือก็เกษตรกร ขาวมือก็เป็นผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ที่เอาข้าวสารไปขาย เวลาเกษตรกรชาวนามีปัญหาก็กระทบผม เวลาส่งออกไม่ได้หรือคนกินน้อยลงก็กระทบผมอยู่ดี ฉะนั้นเมื่อผมอยู่ตรงกลางก็พยายามปรับตัวสู้กับสถานการณ์ หลายๆ สถานการณ์

ดังนั้นผู้กำหนดราคาข้าวจริงๆ ก็คือปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นคนกินที่อยู่ในประเทศ หรือว่าคนกินที่อยู่ต่างประเทศที่เราส่งออกไป นั่นแหละคือผู้ที่กำหนดราคาที่แท้จริง

ปราโมทย์ เจริญศิลป์
นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

ปัญหาราคาข้าวตกต่ำมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ ที่ผ่านมามีปัญหาจากการส่งออกข้าวได้น้อย ประกอบกับต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น จากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น โรงสีไม่รับซื้อข้าวเพราะขาดสภาพคล่องเพราะรัฐบาลไม่มีมาตรการเงินกู้ให้โรงสี ที่สำคัญราคาข้าวของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ขณะนี้หากชาวนาเกี่ยวข้าวสดมีความชื้นที่ 25-35% ก็ทำให้ผลผลิตราคาตก หากไม่มีโครงการประกันรายได้ชาวนาทุกจังหวัดก็จะมีปัญหาเป็นอย่างมาก

จากการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รีบประกันรายได้ มีการชดเชยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เรื่องสำคัญที่สุดต้องลดต้นทุนการผลิตทั้งปุ๋ย ยา ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขอให้รัฐเข้าควบคุมดูแล หลังจากชาวนามีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง 4,000-5,000 บาทต่อไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวก็ไม่มีกำไร ยืนยันว่าหากไม่มีการประกันรายได้ชาวนาทั่วประเทศจบหมด

ระยะสั้นชาวนาที่เดือดร้อนมากที่สุด เป็นปัญหาจากน้ำท่วมในพื้นที่ปลูกกว่า 2.2 ล้านไร่ เมื่อถึงฤดูแล้งก็เจอปัญหาไม่มีน้ำทำนา ก็ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องหนี้ ต้องพักหนี้ชาวนา 3 ปี งดการจ่ายเงินต้น ปลอดดอกเบี้ย ส่วนเรื่องแหล่งน้ำทั่วประเทศที่มีอยู่แล้วทั้งพัฒนาห้วยหนองคลองบึง ให้มีน้ำกักเก็บ หรือควรพิจารณาเจาะบ่อบาดาล

สำหรับเรื่องนา ต้องการให้ราคาข้าวมีความเหมาะสม เกษตรกรไม่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน ขณะที่การประกันรายได้ 3 งวด กำลังจะออกมาช่วยเหลือชาวนา โดยข้าวเหนียวจะได้ราคาสูงสุด ลดลงมาตามลำดับเป็นข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ

แนวทางการแก้ไข ก็ต้องเห็นใจรัฐบาลเพราะทุกประเทศปิดหมดมีผลกระทบจากโควิด-19 การส่งออกปัจจุบันค่าระวางแพงกว่าราคาข้าว มีการขึ้นราคาสูงกว่าเดิม 5 เท่า การแก้ไขกลไกราคาในระยะยาวรัฐบาลต้องสนใจการพัฒนาแหล่งน้ำการกักเก็บเพื่อให้เพียงพอในพื้นที่ทำนา ต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้ให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรทั้งการทำนาและการปลูกพืชหลังทำนาทุกชนิด

ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาให้ชาวนาได้ ในวิกฤตนี้ยังเชื่อใจ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ส่วนตัวก็จะอยู่กับฝ่ายรัฐบาลตลอด เชื่อว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดจะได้รับความสนใจ

ขณะที่ข้าวชุดเก่ามี 9-10 ล้านตันข้าวเปลือก ข้าวชุดใหม่จะออกมาอีก 26 ล้านตันข้าวเปลือก ดังนั้นภาครัฐต้องไปหาตลาดต่างประเทศรองรับเพื่อการระบายข้าวในประเทศ หากไม่ทำข้าวก็ล้นตลาด ราคาก็จะตกต่ำต่อเนื่อง

ปัญหาอีกอย่างคือข้าวไทยมีราคาสูงกว่าข้าวอินเดีย ข้าวเวียดนาม ทำให้เสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะคุณภาพข้าวของไทยกับเวียดนามไม่ได้แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นข้าวไทยต้องลดราคา มีกำไรน้อยลง แต่เมื่อมองปัจจัยการผลิตของไทยมีราคาสูง จากการขึ้นราคาปุ๋ย ค่ายา ข้าวเปลือกมีราคาถูก แต่ข้าวสารที่ขายในห้างมีราคาแพงราคายังไม่ลดลง

ขอให้ชาวนาทั่วประเทศติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล ส่วนตัวไม่สนใจว่าใครมาเป็นรัฐบาล ก็จะต่อสู้เพื่อพี่น้องเกษตรกรของเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image