“ปริญญา” ไขปม “ป้อมมหากาฬ” แนะกทม.”นโยบายเปลี่ยนได้” เผยยุค”อภิรักษ์” ไฟเขียวให้ชุมชนคงอยู่

คืบหน้ากรณีไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ กรุงเทพฯ ซึ่งยืดเยื้อมานาน 24 ปี โดยมีการรื้อชุมชนบางส่วนไปแล้วเมื่อวันที่ 3-4 กันยายนที่ผ่านมา โดยรื้อบ้านไปทั้งสิ้น 16 หลัง ยังคงเหลืออีกราว 40 หลังนั้น

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการไล่รื้อชุมชนครั้งที่ 2  ตามกำหนดการของกทม. รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีและอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  กล่าวถึงทางออกของประเด็นดังกล่าวว่า  ปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬ ไม่ใช่สิ่งที่แก้ไขไม่ได้ หากกทม.ต้องการแก้ไขจริงๆ เนื่องจากการกำหนดพื้นที่เขตเวนคืน เป็นเรื่องของการออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบายที่แก้ไขได้ การที่ชาวบ้านแพ้ในศาลปกครอง คือแพ้ในตัวกฤษฎีกา ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้  นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในข้อกฎหมายด้วยว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวนั้น ดั้งเดิมประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

1. ที่ดินเอกชน ของนาย เล็ก นานา  

2. ที่ดินของวัดราชนัดดา

Advertisement

3. ที่ดินพระราชทานเดิม ซึ่งในส่วนที่ต้องการเวนคืน เพราะต้องการที่ดินของนายเล็ก ซึ่งไม่ขาย จึงเป็นเหตุผลในการเวนคืน โดยบ้าน 12 หลังแรกจากทั้งหมด 56 หลัง เจ้าของบ้านที่ยอมให้รื้อนั้น อยู่ในพื้นที่ของนายเล็ก ซึ่งเป็นเหตุผลในการขอเวนคืน กล่าวคือ ต้นเรื่องที่จะเวนคืน ก็คืนให้แล้ว ส่วนพื้นที่วัดกับที่พระราชทาน ติดร่างแหในการกำหนดเขต

“สิ่งที่ชาวบ้านแพ้ในศาลปกครอง คือแพ้ในตัวกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายที่แก้ไขได้ การกำหนดว่าพื้นที่ไหนจะเวนคืนเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร กฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารในการเวนคืน แต่จะกำหนดตรงไหนเป็นเรื่องนโยบาย เหมือนกรณีพื้นที่เขตป่าสงวนกับอุทยานแห่งชาติ ซึ่งกำหนดโดยพรบ.อุทยานแห่งชาติให้อำนาจครม. กำหนดว่าตรงไหนเป็นเขตอุทยานฯ ขอย้ำว่านโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงได้  ที่ชาวบ้านผิด คือ ผิดจากนโยบายของกทม. เนื่องจากการกำหนดพื้นที่ตรงนั้น เป็นเรื่องของการออกกฤษฎีกา ซึ่งเป็นนโยบายต้องการทำให้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีคนอยู่ ในยุคผู้ว่า ฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เคยเซ็นหนังสือเป็นหลักฐานไว้แล้วว่าให้อยู่ได้  พอเปลี่ยนผู้ว่าก็เปลี่ยนนโยบาย แปลว่านโยบายเปลี่ยนได้  ถ้ากทม.จะเปลี่ยน” รศ.ดร.ปริญญากล่าว

ภาพโดย นราธิป ทองถนอม
ภาพโดย นราธิป ทองถนอม

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีที่มีผู้มองว่าพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นของหลวงซึ่งถูกชาวชุมชนยึดครองมานาน เมื่อภาครัฐจะขอคืน แต่ชาวบ้านกลับไม่ยอมนั้น  รศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่า เหตุที่เป็นของหลวงเพราะกฤษฎีกากำหนดให้เป็นพื้นที่ของหลวงตามรายละเอียดที่กล่าวไปแล้วว่าดั้งเดิมมีพื้นที่ 3 ส่วน ซึ่งเรื่องนี้ถ้าใครไม่โดนเวนคืนคงนึกไม่ออกว่าเป็นเรื่องใหญ่ขนาดไหน การไล่รื้อ ไม่ใช้วิธีการที่เหมาะสม ไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ อย่างน้อยที่สุด หากนโยบายยังไม่เปลี่ยน การตกลงกันตามที่มีการผลักดันให้เกิดคณะกรรมการพหุภาคี แล้วค่อยดำเนินการต่อไปนั้น ก็ต้องรักษาตามข้อตกลงเดิมไว้ก่อน โดยหาทางออกที่เหมาะสมมากกว่าการใช้กำลังไล่รื้อ ส่วนที่กทม.อ้างว่า หากไม่ไล่รื้อ อาจถูกมองว่าเป็นการใช้สองมาตรฐาน เพราะมีชุมชนอื่นถูกไล่รื้อไปก่อนแล้วนั้น ตนมองว่า หากข้อเท็จจริงมีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน ก็สามารถปฏิบัติให้แตกต่างกันอย่างเป็นธรรมได้

Advertisement

“กทม.บอกว่า แล้วชุมชนอื่นที่ถูกไล่รื้อไปแล้ว จะเป็นสองมาตรฐาน การพูดแบบนี้เหมือนเราเห็นคนตกน้ำ ที่กำลังขอความช่วยเหลือ แล้วกทม. บอกว่าช่วยไม่ได้หรอก เพราะคนอื่นที่ตกน้ำอยู่เหมือนกันในที่อื่น เราไม่ได้ช่วยเขา ดังนั้น ผมช่วยคุณไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะสองมาตรฐาน  ย้ำว่าทุกคนเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ต้องปฏิบัติอย่างเสมอกัน แต่พร้อมๆกันนั้นหากข้อเท็จจริงมีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน ก็สามารถปฏิบัติให้แตกต่างกันอย่างเป็นธรรมได้ ข้าราชการที่ทำงานมา 1 เดือน กับ 30 ปีทำไมเงินเดือนไม่เท่ากัน ก็เพราะสาระสำคัญคือประสบการณ์ และระยะเวลาในการทำงาน ชุมชนป้อมมหากาฬกับชุมชนอื่นก็เช่นกัน ป้อมมหากาฬมีลักษณะโดดเด่นคือ มีคนอยู่มาตั้งแต่ต้น แม้ว่าจะมีคนใหม่เข้ามาผลัดเปลี่ยน แต่มีเรือนไทยที่ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจมา อยู่คู่กับป้อมมาแต่แรก ซึ่งต่างจากที่อื่น หมายความว่าลักษณะแบบนี้ ก็สามารถมีนโยบายที่แตกต่างไปได้ ต้องว่ากันเป็นกรณีไป”  รศ.ดร.ปริญญากล่าว

ป้อมมหากาฬ

รศ.ดร.ปริญญา ยังกล่าวอีกว่า การที่ชุมชนป้อมมหากาฬ มีข้อเสนอ 5 ข้อ เช่น ยินดีจ่ายค่าเช่าที่ดิน, อาสาช่วยดูแลสวนสาธารณะ, พร้อมปรับปรุงชุมชนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิต รวมถึงจัดเวรยามดูแลความปลอดภัยและความสะอาดนั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก การผลักดันคนทั้งหมดออกจากพื้นที่เพื่อให้สวยงามเหมือน สคส.ที่ไม่มีคน เป็นนโยบายที่ต้องทบทวน

“ชาวป้อมมหากาฬพร้อมจะร่วมมือกับกทม.ทุกอย่าง ซึ่งน่ายินดีมาก ชุมชนไหนร่วมมือดี กทม.ควรมีวิธีการปฏิบัติในแง่การจัดการแบบชุมชนเข้มแข็ง ป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่ซึ่งมีชีวิตมาตั้งแต่ต้น มีหลักฐานว่าเป็นที่พระราชทาน ที่วัดก็ไปเวนคืนเขามา ถามว่านโยบายของกทม. คืออะไร คือในเขตโบราณสถานต่างๆ ต้องไม่มีคนอยู่ แต่พื้นที่ตรงป้อมมหากาฬ มีคนอยู่ตั้งแต่โบราณ เมืองที่สวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองที่เป็นพื้นที่โบราณ ไม่ได้สวยงามแบบ สคส. คือ มีแต่ปูน มีแต่สถานที่ มีแต่ป้อม มันต้องมีคนอยู่ด้วย กรุงเทพก็ต้องมีคนจน จะมีแต่คนรวยไม่ได้ เป็นเมืองที่ทั้งคนจนและคนรวยต้องอยู่ กรุงเทพฯ ที่มีเสน่ห์คือมีชุมชน ความสำคัญของชุมชนป้อมมหากาฬ แตกต่างจากชุมชนอื่นๆ คือ มีเรือนไทย มีบ้านโบราณ เป็นที่ท่องเที่ยวซึ่งคนต่างชาติเข้าไปดูอยู่แล้ว เขาอยากมาดูชุมชนโบราณ ไม่ได้อยากดูแต่ห้างสรรพสินค้า ขอสรุปและย้ำอีกครั้งว่า นโยบายเปลี่ยนได้” รศ.ดร.ปริญญากล่าว

นักท่องเที่ยวป้อมมหากาฬ05

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image