‘ดร.ยุ้ย’ เสริมทัพ ‘ชัชชาติ’ ตะลอนกรุงเก็บข้อมูล ดันนโยบายกทม.น่าอยู่

อีกหนึ่งบทบาทของ ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ จากนักธุรกิจหญิงเก่งและแกร่ง ก้าวสู่ทีมนโยบายเศรษฐกิจ ของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้เสนอตัวลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในนามอิสระ ที่กำลังทำให้คนกรุงเทพฯและประชาชนทั่วไปเริ่มติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยแนวคิดการพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะชุมชนแออัด ที่ยังพบความแตกต่างและช่องว่างขนาดใหญ่เกิดขึ้นจนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทีม มติชน มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

นโยบายหลักๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนกับทีม ดร.ชัชชาติ
ต้องเข้าใจว่าแต่ละเขตพื้นที่ กทม. มีความแตกต่างเรื่องของรายได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาจะต้องดูแต่ละบริบท ความจำเป็น และความต้องการของคนในพื้นที่นั้นก่อน เพราะมีปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างเช่นที่อยู่อาศัย ต้องดูว่าจะต้องเริ่มดำเนินการอย่างไรอย่างเป็นระบบ ด้วยนโยบายให้เอกชนเข้ามาช่วยทำ เรื่อง Social Enterprise เพื่อจะทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงน้ำ-ไฟ แหล่งสาธารณสุข สถานพยาบาล สถานศึกษาที่ดี มีลานกีฬา และใกล้แหล่งอาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นต้องแบ่งให้ได้ว่าแต่ละชุมชนรอบ กทม.ยังมีอะไรที่ต้องพัฒนาอีก

นโยบายหลักที่จะทำมี 2 เรื่องคือ 1.เรื่องความเป็นอยู่ที่ดี อันนี้เกี่ยวข้องกับชุมชนโดยตรง เช่น เรื่องการพัฒนาโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็กหรือเนิร์สเซอรี่ในชุมชน ที่จะช่วยสร้างให้เด็กมีโอกาสทางการศึกษาที่ดี และอีกโมเดลคือ การดูแลผู้สูงอายุ และ 2.จะเป็นเรื่องการเข้าไปยกระดับทักษะหรือ Skill อาชีพให้กับชุมชน มีงาน มีอาชีพ ทำได้ด้วยตัวของตนเอง พร้อมสร้างระบบการทำงานให้เกิดขึ้นเพราะปัญหาคนตกงานคือปัญหาใหญ่ ถือเป็นการพัฒนาชุมชนที่เริ่มจากรากฐานก่อน

จะทำ กทม.ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่างไร
แม้ประเทศไทยจะได้ขึ้นชื่อว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามาก ก่อนการระบาดโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวถึงปีละกว่า 40 ล้านคน ถือเป็นจำนวนที่เยอะมากเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปปารีส แต่ กทม.ยังรั้งท้ายในการเป็นเมืองน่าอยู่ จึงนับเป็นความท้าทายในการที่จะต้องวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน กทม.ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวในแบบยั่งยืนได้ ด้วยการสร้างให้เกิดความเท่าเทียมกันของรายได้ของคนทุกกลุ่ม อย่างสิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทุกย่านคนรวยจะมีชุมชนแออัดคนจนอาศัยอยู่เสมอ ทำให้เห็นบางพื้นที่มีปริมาณขยะเต็มไปหมด เนื่องจากไม่มีการจัดการบริหารที่เข้าไปถึง ทุกคนก็ยังอยู่กันปกติแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่การท่องเที่ยว

Advertisement

นโยบาย 100 วันแรกที่จะออกมาให้คน กทม.เห็น
ขณะนี้ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจ กทม.ให้ครบทุกมิติ ทั้งหนี้นอกระบบ ที่อยู่อาศัย แหล่งการศึกษา และระบบการทำงานกับราชการว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร เพื่อจะได้หาวิธีลดขั้นตอนและความยุ่งยากของหน่วยงานราชการที่เข้าถึงยากของชาวบ้าน ซึ่งก็จะทำให้ 100 วัน ของการทำงานเห็นรูปธรรมเร็วขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของ ดร.ชัชชาติ ที่ได้มีการกำหนดวางแผนเป็นลำดับขั้นตอนไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่ลงพื้นที่ 20-30 ชุมชน ได้เห็นความหลากหลายของทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละชุมชนที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาด้วยเทคโนโลยีและความรู้ เพื่อนำมาพัฒนาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ได้ เริ่มต้นด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างทักษะในด้านต่างๆ เช่น โรงเรียน ลานกีฬา เป็นต้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำทรัพยากรที่มีอยู่ของกรุงเทพฯ และไม่ได้ใช้งานทุกวันใน 1 สัปดาห์ มาพัฒนาคุณภาพชีวิตในแต่ละชุมชนได้ หรือเรียกได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ให้กับชุมชนได้ ขณะที่ กทม.เองถือเป็นหน่วยงานที่มีทรัพย์สินจำนวนมาก และสามารถนำมาสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เช่นกัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการทำงานเพื่อเมือง ไม่ใช่เพื่อการเมือง

มองปัญหาใน กทม.ขณะนี้เป็นอย่างไร
หากมองในมุมของการเมือง ถ้าเศรษฐกิจดี ทุกอย่างดีขึ้น ก็จะเก็บภาษีโรงเรือน ภาษีท้องถิ่น ได้มากขึ้น ซึ่งภาษีเหล่านี้จะกลับมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนตามนโยบายที่วางไว้ได้ ก็นับเป็นความท้าทายและต้องตีโจทย์ให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่ และแก้ปัญหาได้ตรงจุดครอบคลุมสำหรับคนทุกกลุ่มที่อาศัยอยู่ในสังคมเมือง
แม้กระทั่งปัญหาเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ กทม.ค้างจ่ายเงินการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมทั้งค่าจ้างเดินรถยังคงหาข้อยุติไม่ได้ มองว่าเป็นเรื่องที่โยงใยกับรัฐบาล ที่ยังต้องรอดูว่าจะมีการพูดคุยและดำเนินการต่อไปได้อย่างไรบ้าง

เรื่องหาบเร่แผงลอยจะแก้ไขอย่างไร
อีกหนึ่งปัญหาหลักคือร้านหาบเร่แผงลอย เป็นสิ่งที่ตัวเองอยากเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง ด้วยนโยบายที่ให้ผู้ค้าสามารถค้าขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย บนพื้นฐานของระเบียบ และกลไกการตลาดที่เข้าถึงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะต้องยอมรับว่าร้านค้าแผงลอยยังมีความจำเป็นต่อสังคมเมือง ไม่สามารถที่จะยกเลิกไปได้ เพียงแต่ต้องมีการจัดระบบ พื้นที่ขายและการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดระบบการค้าได้ในวงกว้างมากขึ้น สำหรับผู้ค้ารายย่อย กับผู้ซื้อที่มีรายได้ปานกลาง
นอกจากนี้ยังมองไปที่การพัฒนาระบบความปลอดภัยในการเดินทางอย่างจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ต้องคำนึงค่าบริการที่เป็นธรรมให้กับคน กทม. เนื่องจากปัจจุบันคนเดินทางส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้บริการ ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อให้สามารถดูแลได้ทุกมิติของการให้บริการ

ทีม ดร.ชัชชาติถือเป็นความหวังของคน กทม.ที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม

คนรุ่นใหม่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนในเรื่องของการบริหารที่โปร่งใสและมีแนวคิดใหม่ๆ ในการสะท้อนให้เห็นปัญหามากขึ้น เพื่อสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image