‘ชาญวิทย์-ธำรงค์ศักดิ์’ เล็คเชอร์ปวศ.ก่อนปฏิวัติ ร.ศ.130 ยกบริบทโลกเทียบสยาม ก่อน ‘ทหารหนุ่ม’ คิดก่อการ

‘ชาญวิทย์-ธำรงค์ศักดิ์’ เล็คเชอร์ปวศ.ก่อนปฏิวัติ ร.ศ.130 ยกบริบทโลกเทียบสยาม ก่อน ‘ทหารหนุ่ม’ คิดก่อการ

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (Matichon Academy) สำนักพิมพ์มติชนจัดงาน Matichon Bookmark 2021 #คั่นไว้ในใจเธอ โดยเมื่อเวลา 13.00 น. มีการเสวนาหัวข้อ ‘Introducing ปฏิวัติ ร.ศ.130’ โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า วันนี้มีปรากฏการณ์พิเศษที่ว่าหนังสือเล่มนี้เมื่อเอามาพิมพ์ครั้งล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ปฏิวัติ ร.ศ.130’ ไม่ใช่กบฏ ร.ศ.130 ก็เป็นวิธีคิดที่เปลี่ยนไป ตนจำได้ว่าอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ.2516 แล้วถูกขอให้เขียนคำนำ เดิมไม่รู้จักหนังสือเล่มนี้ด้วยซ้ำ ทั้งที่เรียนปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ รู้จักแต่ประวัติศาสตร์ของยุโรป ของอเมริกา เมืองไทยเป็นเมืองที่บอกว่ามีประวัติศาสตร์อันยืนยาวมาตั้งแต่ภูเขาอัลไต

“ถ้าเรานั่งดูบริบทแค่ในประเทศไทย ก็มีคนพยายามที่จะนำมาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้วในสยามประเทศไทย คนที่มาก่อนกลุ่มร.ศ.130 คือหมอบรัดเลย์ ซึ่งแปลรัฐธรรมนูญอเมริกันเป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ.2408 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในอเมริกา เพราะฉะนั้น คนไทยเริ่มรู้จักสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อ 165 ปีก่อนกลุ่มผู้ก่อการ ร.ศ.130 บอกว่าต้องเปลี่ยนเมืองไทยแล้ว เมืองไทยต้องมีรัฐธรรมนูญ ต้องมีนายกรัฐมนตรี” ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าว

รศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ความคิดความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญคือเมล็ดพืชที่ปลูกลงไปโดยหมอบรัดเลย์ ที่ตีพิมพ์ใน The Bangkok Recorder ปีพ.ศ.2408 ชนชั้นนำของสยามในยุคนั้นจึงได้อ่าน และในหนังสือพิมพ์สมัยนั้น ตัวอักษรในยุคนั้นต้องอ่านอย่างละเอียดลออ

Advertisement

“ผมคิดว่าก่อนที่หมอบรัดเลย์จะแปลรัฐธรรมนูญอเมริกา ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐ และมีประธานาธิบดี แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีโอรสองค์โตที่ทรงตั้งชื่อให้ว่า จอร์จ วอชิงตัน ตามบันทึกของเบาว์ริ่งบอกว่าพระปิ่นเกล้าทรงอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเก่งมาก และทรงใช้ ทรงตรัส ทรงเขียนเป็นภาษาอังกฤษที่ดีมาก หมายความว่าพระปิ่นเกล้าเมื่อเกิดโอรสองค์โตในต้นทศวรรษ 2370 แล้วตั้งชื่อว่า จอร์จ วอชิงตัน มันน่าจะมีความหมายถึงอะไรบางอย่างที่ไปรับรู้เกี่ยวกับอเมริกาและถ้าคุณคิดตั้งชื่อโอรสว่าจอร์จ วอชิงตันคุณต้องรู้แล้วว่า ยอร์ช วอชิงตันคือใคร อยู่ในระบอบการปกครองแบบไหน” รศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์กล่าว

รศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์กล่าวว่า ในหนังสือปฏิวัติร.ศ.130 ในฉบับที่พิมพ์ครั้งแรกซึ่งมีภาคผนวกที่ดีมากเป็นการเขียนของผู้นำการปฏิวัติร.ศ.130 ก็คือหมอเหล็ง ศรีจันทร์ บทเขียนของหมอเหล็งถูกจับได้ในบ้านของตัวเองในปี 2454 หมอเหล็งเป็นคนชอบอ่านหนังสือจึงเป็นคลังความรู้ของโลกในหมู่ทหารกลุ่มนี้

“คนที่เริ่มต้นชวนคนมาเปลี่ยนระบอบ คือ ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ เป็นน้องของหมอเหล็ง ร.ต.เหรียญคิดเปลี่ยนประเทศตอนเพิ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเจอเพื่อนอีกคนหนึ่งก็คือร.ต.จรูญ ษตะเมษ คนที่อายุ 18 เพิ่งจบจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแต่กลายเป็นคนที่จะล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่คลอดคุณมา มันต้องมีอะไรในโรงเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยอาจจะก้าวหน้าก็ได้ หนึ่ง โรงเรียนนายร้อยทหารบกถูกสร้างมาก่อนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียอีก ความหมายที่สำคัญคือการที่จะสถาปนาระบอบทางการเมืองคุณจะต้องถูกค้ำยันด้วยกองทัพสมัยใหม่ ดังนั้นกองทัพจึงถูกสร้างขึ้นมา และเจ้านายทุกองค์เป็นนายพลหมดเลยและคุมหน่วยทหารต่างๆ ซึ่งสามัญชนแทบขึ้นไม่ได้เลย ดังนั้นโรงเรียนนายร้อยทหารบกถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังสมัยใหม่เพื่อค้ำยันระบอบที่กำลังปรับเปลี่ยน” รศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์กล่าว

Advertisement

จากนั้น รศ.ดร.ธำรงค์ศักดิ์ กล่าวย้อนไปถึงการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นการนำแนวคิดของตะวันตกเข้ามา โดยมีการเลิกทาส ซึ่งในช่วงเวลานั้น ในอเมริกาสู้กันเพื่อถามว่าคนเท่ากันหรือไม่ อังกฤษกับฝรั่งเศสประกาศไม่ให้อาณานิคมของตนเองมีทาสมาตั้งนานแล้ว

“กระแสประชาธิปไตยเริ่มพัดมาตั้งแต่การปฏิวัติอเมริกา ปีค.ศ.1776 คือปีที่ 8-9 ที่พระเจ้าตากสินเป็นกษัตริย์ อเมริกาปฏิวัติเพื่อให้ปัจเจกชนแสวงหาความสุขของตนเองได้ กว่าอเมริกาจะมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกคือปีค.ศ.1789 ที่ฝรั่งเศสทำการปฏิวัติ นี่คือกระแสของการพัดประชาธิปไตยไปทั่วโลก ในเอเชียกระแสพัดมาทางญี่ปุ่นระบบเริ่มต้นยุคเมจิด้วยการมีรัฐธรรมนูญเพื่อมุ่งไปสู่การปลดปล่อยคน เมจิของญี่ปุ่นมุ่งไปสู่การเป็นประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ในขณะเดียวกันจากเมจิพัดมาที่จีน จีนล้มราชวงศ์ชิงแล้วสถาปนาสาธารณรัฐแบบอเมริกา แล้วไทยเราจะไปแบบไหน นี่คือสิ่งที่ว่าด้วยความเสื่อมทรามของประเทศ และว่าด้วยการสร้างประเทศของหมอเหล็ง ศรีจันทร์ที่เริ่มต้นขึ้น” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image