เปิดมติศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 ชี้ 3 แกนนำม็อบ ล้มล้างการปกครอง

ศาลรธน.มติ 8 ต่อ 1 เสียง ชี้ การชุมนุม รุ้ง อานนท์ ไมค์ ล้มล้างการปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณี คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ภายหลังนัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ กรณีรับคำร้องที่ นายณัฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ชุมนุมปราศรัยในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า การกระทำและพฤติกรรมต่อเนื่องของผู้ถูกร้อง 1-3 มีเจตนาซ่อนเร้น เซาะ กร่อนบ่อนทำลาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าว

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้รับรองพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็น ประมุขของรัฐ ที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตี ในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม ยิ่งกว่านั้นการกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 มีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายแม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 ณ เวทีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะผ่านไปแล้ว ภายหลังผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกร้อง ร้อง 1-3 ยังคงร่วมชุมนุมกับบุคคลกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์โดยไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1-3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นกระบวนการเดียวกัน ที่มีเจตนาตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีพฤติกรรมกระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำเป็นกระบวนการ มีลักษณะของการ ปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการที่ก่อความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้อง 1-3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาค ภารดรภาพ ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่รับฟังความของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างจากบุคคล รวมถึงกลับละเมิดสิทธิส่วนตัวของคนอื่น ด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือน จากความเป็นจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงอันประจักษ์ว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 มีการจัดตั้งกลุ่มมีลักษณะเป็นองค์กรเครือข่าย กระทำใช้การรุนแรงต่อเนื่อง บางเหตุการณ์มีส่วนจุดประกาย อภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักเสมอภาคและภราดรภาพ ผลการกระทำนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครอง มิใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิเสรีภาพ ของผู้ถูกร้อง 1-3 เป็นการแสดงความเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมายมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้วแต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมถึงกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมให้กลายเป็นเหตุล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ด้วยเหตุข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมทั้ง กลุ่มองค์กร เครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงาน ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่าการกระทำของ ผู้ถูกร้อง 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image