09.00 INDEX ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ แต่มิได้เป็นสมบัติของ มีชัย ฤชุพันธุ์

แม้จะปรากฏ “น้ำเสียง” อันขึงขัง และเฉียบขาดของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่จะให้”ยาแรง”กับเว็บเพจ 1 ในโซเชียลมีเดีย
ในข้อหาว่า “บิดเบือน”

แต่ถ้าหาก นายมีชัย ฤชุพันธุ์ หรือคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เข้าไปอยู่ในบรรยากาศแห่งการเสวนาภายใต้หัวข้อ
“อวสานโลกสวย:วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559”

ก็จะต้อง “รับรู้” ว่ายากเป็นอย่างยิ่งที่จะห้ามการแสดงออกจากกลุ่มที่คิดต่าง “เห็นต่าง”
น่ายินดีที่ในที่ประชุม “เสวนา” มี นายศุภชัย ยาวะประภาษ

เพราะว่า นายศุภชัย ยาวะประภาษ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในประชาคม”รัฐศาสตร์” แล้ว
ยังเป็น 1 ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

Advertisement

น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏเสียงและความเห็นจาก นายอมร วานิชวิวัฒน์ ผ่านออกมาจากที่เสวนา
ตรงกันข้าม ความคึกคักที่เห็นและเป็นอยู่

1 สัมผัสได้จาก นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย 1 สัมผัสได้จาก นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี
และ 1 สัมผัสได้จาก นายประภาส ปิ่นตบแต่ง

ท่านเหล่านี้ล้วนเห็น “รอยตำหนิ” ข้อบกพร่อง

Advertisement

เป็นรอยตำหนิและข้อบกพร่องอัน นายวรัญชัย โชคชนะ นำไปตั้งเป็นประเด็นอย่างคึกคัก และเฮฮา

เหมือนกับที่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ตั้งว่า รัฐธรรมนูญฉบับ”ใส่หมวก”

เหมือนกับที่ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ตั้งว่า รัฐธรรมนูญฉบับ “หัวใจรั่ว” ตายสถานเดียว

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “บรรยากาศ”

พลันที่ร่างรัฐธรรมนูญ “เบื้องต้น” จากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอตัวต่อสังคมนับแต่วันที่ 29 มกราคม เป็นต้นมา

ร่างนี้ก็กลายเป็น “สมบัติ” ของ “สาธารณะ”

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อาจยืนยันว่าเขาเป็นประธานในการร่าง นายอมร วานิชวิวัฒน์
อาจรู้สึกว่าเขามีส่วนในการขับเคลื่อน

เป็นเช่นนั้น

แต่ถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น “สมบัติส่วนตัว” ของพวกเขาก็อาจมิได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

ประเด็นสำคัญก็คือ จะห้ามมิให้ “คนอื่น” มี”ความรู้สึก”มิได้

เพราะว่า “รัฐธรรมนูญ” ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุด ร่ำเรียนกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก
จึงยากเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์

ตรงนี้เองคือที่มาของสิ่งที่เรียกว่า “อวสานโลกสวย”

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นสมบัติ “สาธารณะ” ก็ต้องอยู่ในสายตาและความเห็นของ “สังคม”
ห้ามมิให้คนมี “ความรู้สึก” ได้หรือ

ห้ามมิให้คนมีความเห็น “ต่าง” แผกไปจากที่คณะกรรมการร่างได้บัญญัติและกำหนดเอาไว้ ได้หรือ
ไม่ได้หรอก

ตรงกันข้าม หากมีการห้าม หากมีความพยายามในการปิดกั้น ไม่เปิดโอกาส ก็ยิ่งจะสร้างความสงสัย
สงสัยว่าเป็น “ของดี” จริงหรือไม่

เพราะหากเป็น “ของดี” ไม่เพียงแต่ไม่มีวันตายอย่างที่ “บทเพลง” ได้ตอกย้ำและยืนยัน
ยังต้อง “ทนทาน” ต่อการ “พิสูจน์”

การพิสูจน์ในท่ามกลางความร้อนแรงของ “สถานการณ์” ในท่ามกลางกระแสเสียงแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ต่างหากที่สำคัญ

“จันทน์หอม” ยิ่งทุบจะยิ่งหอม มิใช่หรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image