บทนำมติชน : นำไทยสู่มาตรฐาน

ประเทศสหรัฐอเมริกาผลักดันออกระเบียบตรวจสอบผลิตภัณฑ์ประมงเหมือนกับสหภาพยุโรปที่ประเทศไทยรู้จักกันดีในนาม ?ไอยูยู? โดยมีข่าวว่าจะเริ่มดำเนินการใน 2 เดือนและเร่งให้มีผลภายใน 6 เดือน ซึ่งประเทศที่อยู่ในข่ายการเข้มงวดมีด้วยกัน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย แคนาดา อินเดีย เม็กซิโก เวียดนาม เอกวาดอร์ และชิลี โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบที่มาอาหารทะเล 16 ชนิด อาทิ ปลาทูน่า กุ้ง เป๋าฮื้อ ปูม้า ปูยักษ์คิงแครบปลิงทะเล ผลิตภัณฑ์จากฉลาม เป็นต้น ซึ่งหากไทยไม่ผ่านเกณฑ์ไอยูยูเหมือนกับที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองมา ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอีกครั้ง

สำหรับตัวเลขการส่งออกสินค้าไปสหรัฐอเมริกานั้น ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การส่งออกสินค้าประมงไทยไปยังสหรัฐอเมริกาในปี 2558 มีสัดส่วนการส่งออก 20.81 เปอร์เซ็นต์ของตลาดส่งออกสินค้าประมงทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 12,324 ล้านบาท หรือติดลบ 5.25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 13,007 ล้านบาท ทั้งนี้พบว่ากุ้งมีสัดส่วนการส่งออก 35.31 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดการส่งออกกุ้งทั้งหมด คิดเป็น 8,957 ล้านบาท หรือติดลบ 11.55 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีมูลค่า 10,126 ล้านบาท ที่เหลือคือ ปลาหมึก ปลา ปูแช่แข็ง นึ่ง หรือต้ม หอยและอื่นๆ

จากตัวเลขดังกล่าวตอกย้ำว่าไทยควรจะเร่งอุดจุดโหว่อันจะนำไปสู่การประเมินที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีผลกระทบกับการส่งออกอาหารทะเลของไทย เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าไทยพยายามอย่างเต็มที่ที่จะปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลือง แต่สุดท้ายยังไม่ได้รับการปลดล็อก แสดงว่าไทยยังมีปัญหาบางอย่างที่ไม่ได้รับการยอมรับ เมื่อสหรัฐอเมริกาตั้งเกณฑ์ออกมาในทำนองเดียวกันกับยุโรป ไทยจึงเป็นประเทศที่เสี่ยง ดังนั้น ธุรกิจประมง นับตั้งแต่ชาวประมงเรื่อยมาจนถึงบรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งหน่วยงานรัฐและรัฐบาล ต้องรีบยกระดับมาตรฐานสินค้าให้อยู่สูงจนต่างชาติมิอาจปฏิเสธ จึงจะเป็นหนทางค้าขายกับโลกต่อไป หนทางเช่นนี้เป็นหนทางที่ไทยต้องผ่านเกณฑ์ไปให้ได้ แล้วใครจะชูธงนำไทยสู่มาตรฐาน ทำให้ไทยเป็นที่ยอมรับ และทำให้โลกยอมค้าขายกับเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image