จับตาวันนี้! เสนอแก้ร่าง รธน.ฉบับประชาชน เลิก ส.ว. รื้อองค์กรอิสระ-ศาล-เอาผิดปฏิวัติ

จับตาวันนี้! เสนอแก้ร่าง รธน.ฉบับประชาชน เลิก ส.ว. รื้อองค์กรอิสระ-ศาล-เอาผิดปฏิวัติ

หมายเหตุ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่จะเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 16 พฤศจิกายน ก่อนจะมีการลงมติช่วงเช้าของวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ โดยมีสาระสำคัญๆ ดังนี้

ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอให้ยกเลิกหมวด 7 รัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และเขียนหมวด 7 ขึ้นใหม่ทั้งหมวด ชื่อว่าสภาผู้แทนราษฎร

ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ไม่ปรากฏคำว่า “วุฒิสภา” หรือ ส.ว.อีกแล้วในร่างฉบับนี้ เท่ากับเป็นการเสนอการปกครองรูปแบบ “สภาเดี่ยว” และให้สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยยังคงมีจำนวน ส.ส. 500 คน ซึ่ง 350 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และ 150 คน มาจากการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ

สำหรับระบบการเลือกตั้งและวิธีการคำนวณที่นั่งของ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งคุณสมบัติของผู้สมัครเป็น ส.ส.นั้น เสนอไว้ “เหมือนเดิม” คือ ไม่ได้แก้ไขให้เปลี่ยนแปลงไปจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้

Advertisement

เนื่องจากไม่มี ส.ว.แล้ว ดังนั้น อำนาจหน้าที่เดิมที่เคยต้องให้ ส.ว. เป็นผู้ตัดสินใจจึงต้องเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของ ส.ส.เพียงสภาเดียว

อำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นอำนาจของ ส.ส.อยู่แล้ว เป็นเช่นนี้มานานแล้วในประวัติศาสตร์

อำนาจพิจารณา และลงมติเพื่อออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ก่อนหน้านี้รัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่ให้มีการกลั่นกรองสองชั้น โดยสองสภา แต่เมื่อเสนอให้เป็นสภาเดี่ยวก็จึงให้เป็นอำนาจของ ส.ส.ฝ่ายเดียว

อำนาจพิจารณา และลงมติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นอำนาจของ ส.ส. แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

อำนาจพิจารณาและเห็นชอบผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ให้เป็นอำนาจของ ส.ส. 2 ใน 3 ของ ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และมีโควต้าให้คนที่ถูกเสนอชื่อโดยฝ่ายค้านและรัฐบาล

ส่วนอำนาจพิเศษอื่นๆ ที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่น การติดตามและกำกับดูแลการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ และแผนการปฏิรูปประเทศของ คสช. หรือการร่วมกับ ส.ส. พิจารณาและลงมติออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ก็จะถูกยกเลิกไปทั้งหมด

ร่าง รธน.ฉบับประชาชน ยังคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของ “ที่มานายกฯ” กำหนดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกินพรรคละสามรายชื่อ และให้ประกาศต่อประชาชนก่อนการเลือกตั้ง เป็นระบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560

แต่ระบบ “บัญชีว่าที่นายกฯ” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีข้ออ่อน เนื่องจากให้พรรคการเมืองเสนอชื่อใครก็ได้ ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยตัวเอง ไม่ต้องหาเสียงกับประชาชน และไม่ต้องทำงานร่วมกับพรรคการเมืองนั้นๆ ก็ได้ เป็นช่องทางเขียนไว้เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ โดยไม่ต้องลงสนามเลือกตั้งเอง

ดังนั้น ร่างฉบับประชาชน จึงเขียนไว้ในมาตรา 85 ให้ชัดเจนว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และมีคุณสมบัติ ไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

และในมาตรา 159 ก็เขียนว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยสรุป คือ ตามร่างฉบับนี้ ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น และ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่สามารถมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วยการไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบเดิม

องค์กรอิสระที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลและการทุจริตคอร์รัปชั่นตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทุกองค์กรมีที่มาจากกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยตัวแทนองค์กรอื่นๆ และต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา ทำให้ได้องค์กรอิสระที่ไม่เป็นกลาง และไม่เคยตรวจสอบรัฐบาลได้จริง

ร่างฉบับนี้ จึงนำเสนอกระบวนการสรรหาและที่มาองค์กรอิสระแบบใหม่ ให้มีโควต้าทั้งจากสถาบันศาลจำนวนหนึ่ง และมีโควต้าจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และโควต้าจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน จำนวนเท่ากัน เพื่อให้มีทั้งผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายและประสบการณ์ในการวินิจฉัยคดี และมีตัวแทนของความแตกต่างทางการเมือง โดยสุดท้ายผู้ที่ลงมติเลือก คือ ส.ส. โดยไม่ใช้เพียงแค่วิธีการเห็นชอบ แต่ให้คนที่ได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. มากที่สุดได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และยังต้องได้เสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของ ส.ส.ที่มีอยู่

ตัวอย่างเช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีจำนวน 9 คน มีที่มาดังนี้

1) ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เสนอชื่อมาอย่างละ 3 คน รวมเป็น 6 คน และให้ ส.ส.ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3

2) ให้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรีหรือประธานสภา หรือ “ฝ่ายรัฐบาล” เสนอชื่อมา 6 คน และให้ ส.ส.ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3

3) ให้พรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี หรือประธานสภา ซึ่งอาจทั้ง ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านทั้งหมด และรวมถึง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กที่ไม่มีรัฐมนตรีด้วย ในที่นี้จะเรียกสั้นๆ เพื่อความเข้าใจว่า “ฝ่ายค้าน” เสนอชื่อมา 6 คน และให้ ส.ส.ลงมติเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คน ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3

นอกจากเรื่องที่มาแล้ว ร่างฉบับนี้ยังกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกแห่งไว้ด้วยว่า ไม่ฝักใฝ่เผด็จการ และยังกำหนดลักษณะต้องห้ามว่า ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรใดๆ ที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 2549 และคณะรัฐประหาร 2557

ร่างฉบับนี้ยังกำหนดไว้ด้วยว่า ถ้าหากผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้เมื่อใด ให้กรรมการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในองค์กรอิสระทั้งหลาย พ้นจากตำแหน่งทันที และให้เริ่มกระบวนการสรรหาชุดใหม่เข้าทำหน้าที่แทน

แต่สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดิน เดิมมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐและเสนอแนะให้ระงับความเดือดร้อน หรือเสนอให้แก้ไข หรือออกกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน เป็นองค์กรที่เสนอให้ยุบเลิกไป และโอนอำนาจหน้าที่กับกิจการทั้งหลายไปให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรับดำเนินการต่อ

ร่างฉบับประชาชนยังได้นำเสนอระบบใหม่ ที่ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการตรวจสอบตุลาการ กำหนดไว้ในมาตรา 193/1 ว่า ตุลาการที่มีตำแหน่งระดับสูง ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด อาจถูกถอดถอนได้ถ้ามีเหตุดังต่อไปนี้

1) มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ

2) ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

3) ส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย

กระบวนการถอดถอน ตามมาตรา 193/2 เริ่มได้สองช่องทาง คือ ส.ส.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 125 คน หรือประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 20,000 คน และยื่นเรื่องให้ประธานสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติโดยอาศัยเสียง 3 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด หรือประมาณ 300 คน เพื่อเสนอเรื่องไปยัง “องค์คณะพิจารณาถอดถอน”

องค์คณะพิจารณาถอดถอน ประกอบไปด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด อย่างละ 1 คน ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาล 2 คน และ ส.ส.จากฝ่ายค้าน 2 คน หากองค์คณะพิจารณาถอดถอนลงมติด้วยเสียงมากกว่าครึ่งให้ถอดถอน ตุลาการที่ถูกกล่าวหาก็พ้นจากตำแหน่ง

แต่หากองค์คณะพิจารณาถอดถอนลงมติว่า “ไม่ถอดถอน” ก็ให้ส่งเรื่องกลับมาที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียง 3 ใน 4 ของ ส.ส.ทั้งหมด หรือประมาณ 375 คน ก็สามารถถอดถอนตุลาการที่ถูกกล่าวหาได้

สำหรับองค์กรอิสระอื่นๆ นอกจากศาลรัฐธรรมนูญก็อาจถูกถอดถอนได้โดย ส.ส.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือ 125 คน หรือประชาชนเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 20,000 คน และยื่นเรื่องให้ประธานสภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติโดยอาศัยเสียง 3 ใน 5 ของ ส.ส.ทั้งหมด หรือประมาณ 300 คน เพื่อส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้วินิจฉัย หากวินิจฉัยว่าให้ยกคำร้อง ก็ให้ส่งเรื่องกลับ
มาที่สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียง 3 ใน 4 ของ ส.ส.ทั้งหมด หรือประมาณ 375 คน ก็สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ถูกกล่าวหาได้

ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจประชาชนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อมีส่วนร่วมทางการเมืองได้เพียงสามกรณี คือ การเข้าชื่อ 10,000 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติ การเข้าชื่อ 20,000 คน เสนอถอดถอน ป.ป.ช. และการเข้าชื่อ 50,000 คน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่การเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงจำกัดว่า ประชาชนสามารถเสนอได้เพียงกฎหมายที่อยู่ในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เท่านั้น เมื่อประชาชนเข้าชื่อกันครบและร่างกฎหมายเสนอต่อประธานสภา ประธานสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยเพียงผู้เดียวว่า ร่างกฎหมายฉบับใดอยู่ใน “หมวด 3 หมวด 5” หรือไม่

ซึ่งมีหลายกรณีที่ประธานสภาใช้ช่องทางนี้สั่งไม่รับกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ เช่น การไม่รับวินิจฉัยร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายหมวด 2 การไม่รับวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.การจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ

ร่างฉบับนี้จึงแก้ไขให้ชัดเจนว่า ประชาชนเมื่อเข้าชื่อกัน 10,000 คน มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายต่อสภาได้ โดยไม่จำกัดประเภท ไม่จำกัดหมวด

นอกจากนี้ ร่างนี้ยังเปิดให้ประชาชนสามารถเสนอพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ได้ด้วย อันได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระต่างๆ โดยใช้การเข้าชื่อ 20,000 คน ซึ่งไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับใดของไทย เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอ พ.ร.ป.ได้มาก่อน

การเข้าชื่อ 20,000 คน เพื่อเสนอถอดถอนตุลาการ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็เป็นประเด็นสำคัญที่เพิ่มขึ้นมาให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น มีช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น ส่วนการเข้าชื่อเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังอาศัยประชาชน 50,000 คน เช่นเดิม

การทำงานของ ส.ส.ในสภาตามปกติจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาเพื่อศึกษาลงลึกในประเด็นต่างๆ โดยมีตัวแทนจาก ส.ส.พรรคต่างๆ ตามสัดส่วนที่นั่งในสภาเข้ามานั่งใน กมธ. เพื่อพิจารณาในประเด็นย่อยๆ

ในร่างฉบับนี้จึงเสนอไว้ในมาตรา 119 ว่า สำหรับ กมธ.ที่เกี่ยวกับกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การติดตามงบประมาณ การป้องกันการทุจริต สื่อสารมวลชน การมีส่วนร่วมของประชาชน การตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน ต้องให้ ส.ส.ฝ่ายค้านได้เป็นประธาน กมธ.อย่างน้อย 5 คณะ

และให้เพิ่มกลไกพิเศษของรัฐสภาขึ้น ได้แก่ คณะผู้ตรวจการกองทัพ คณะผู้ตรวจการศาล และคณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ โดยให้มีสมาชิก 10 คน ที่ต้องเป็น ส.ส.ฝ่ายค้านอย่างน้อย 5 คน

คณะผู้ตรวจการกองทัพ ไม่ได้มีอำนาจสั่งการรบแทนทหาร มีเพียงหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ และรายได้ของกองทัพ ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิจากทหาร หรือคนที่ถูกเกณฑ์ทหาร ทำรายงานเสนอแนะเพื่อปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และหลักการรัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ โดยให้สมาชิก 2 คน ไปดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภากลาโหม

คณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีอำนาจแทรกแซงการวินิจฉัยคดี มีเพียงหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานศาล ให้ความเห็นแก่ประธานศาลต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารงาน ศึกษาวิเคราะห์คุณภาพและผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนากฎหมายและแนวคำวินิจฉัย

โดยให้สมาชิกคนหนึ่งไปเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และอีกคนหนึ่งไปเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครอง

คณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ ไม่ได้มีอำนาจแทรกแซงการวินิจฉัยคดี มีเพียงหน้าที่และอำนาจ ตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานขององค์กรอิสระ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารงาน ศึกษาวิเคราะห์คุณภาพและผลกระทบของคำวินิจฉัยของศาล เพื่อประโยชน์ในการพัฒนากฎหมายและแนวคำวินิจฉัย

ร่างฉบับนี้ได้เสนอให้ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ของ คสช. และยกเลิกหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ แต่นำเสนอหมวด 16 แบบใหม่ ชื่อว่า “การลบล้างผลพวงรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร”

โดยให้ยกเลิก มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่นิรโทษกรรมให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยกเลิกมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่นิรโทษกรรมให้กับ คสช.ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเขียนให้ “เป็นโมฆะ เสียเปล่า เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลใดๆ ในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมาย”

การเขียนเช่นนี้ มีเจตนาเพื่อให้สามารถเอาผิดย้อนหลังกับการทำรัฐประหารที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และเคยนิรโทษกรรมไปแล้วได้

ร่างฉบับนี้ มาตรา 258 กำหนดให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านการรัฐประหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสิทธิและหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างประจักษ์ชัด และมีหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหารหรือคณะบุคคลใดที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ

นอกจากนี้ มาตรา 259 กำหนดห้ามไม่ให้ศาลทั้งปวง วินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร หรือรับรองสถานะทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหาร ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรัฐประหาร

นวัตกรรมสำคัญที่ร่างเสนอไว้ คือ มาตรา 261 ที่เขียนว่า “บทบัญญัติในหมวดนี้มีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญและหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีผลใช้บังคับโดยตลอด แม้รัฐธรรมนูญนี้จะสิ้นผลไป”

“กฎหมายจารีตประเพณี” หมายถึง แนวคิดหรือหลักการที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จนทุกคนในสังคมเข้าใจตรงกันว่า เป็นกฎหมาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้

การเขียนมาตรา 261 เช่นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันว่า การต่อต้านการรัฐประหาร การไม่ยอมรับคำสั่งของคณะรัฐประหาร และการดำเนินการเพื่อเอาผิดคณะรัฐประหารจะต้องเป็นหลักการพื้นฐานของสังคม หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกในอนาคตและคณะรัฐประหารสั่ง “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญในหมวดนี้ หลักการเหล่านี้ก็ยังคงมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดใช้บังคับได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image