‘พริษฐ์’ ชี้ ส.ว.ควรรอฟังหลักการและเหตุผลร่าง รธน. ฉบับปชช. ก่อนตั้งธงโหวตคว่ำ ระบุ หากไม่เห็นด้วยต้องอธิบายให้ชัด

“พริษฐ์” ชี้ ส.ว.ควรรอฟังหลักการและเหตุผลร่าง รธน.ฉบับ ปชช.ก่อนตั้งธงโหวตคว่ำ ระบุ หากไม่เห็นด้วยต้องอธิบายให้ชัด ชวน ปชช.ร่วมติดตาม อย่าเพิ่งถอดใจ เหน็บ คนไม่เห็นด้วยเลิกพุ่งเป้าชื่อคนเสนอ ควรโฟกัสที่เนื้อหามากกว่า

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม แกนนำกลุ่ม Re-Solution ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของ ส.ว.บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ว่า ประเด็นแรก เราต้องทำความเข้าใจกับสังคมว่าวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และมีอำนาจในการยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในความวิปริตของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2560 แน่นอนว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องได้ฉันทามติจากหลายภาคส่วนของสังคม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นขอฉันทามติจากคนที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนหรือที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การที่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนระบุไว้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องได้เสียง ส.ว.สนับสนุนอย่างน้อย 1 ใน 3 มันเป็นความวิปริต ถึงแม้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตาม หากได้เสียงการสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศ และได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ทั้ง 500 คน แต่ถ้า ส.ว.1 ใน 3 ไม่เห็นด้วยก็ต้องตกไปนั้นเป็นอำนาจที่สูงจนเกินไป

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สองมองว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของ ส.ว.ที่จะออกมาแสดงความเห็น ส่วนตัวอยากให้ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาทุกคน รอฟังการอภิปรายหลักการและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียก่อน เพราะหนึ่งในหลักการของร่างฉบับนี้คือการยกเลิก ส.ว. ซึ่งไม่ได้เป็นข้อเสนอเพื่อเอาชนะ หรือว่าต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทางการเมืองได้เปรียบ

“ไม่ใช่โหวตตามผลประโยชน์ของตัวเอง พอเห็นว่าจะให้ยกเลิกองค์กรที่ตัวเองมีตำแหน่งอยู่ก็เลยออกมาคัดค้านโดยอัตโนมัติ ต้องชี้แจงเหตุผลให้ชัดเจนกับประชาชนด้วย”

Advertisement

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าเสนอร่างมาแม้รู้ว่าไม่ผ่านแต่ก็เพื่อเรียกคะแนนประชาชน นายพริษฐ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และเนื้อหา โดยปัญหาที่กลุ่มเรามองว่าเป็นปัญหาหลักคือ มันถูกใช้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ หมายความว่ามีการขยายอำนาจของสถาบันทางการเมืองหลายสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจาก คสช. โดยสถาบันที่เข้าข่าย ประกอบด้วย ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ซึ่งใครจะเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ต้องได้รับการรับรองจาก ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้ง และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งร่างในสมัย คสช. และปัจจุบันยังมีสถานะบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับของเรา พยายามตัดกลไกสืบทอดอำนาจเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เปรียบ เพื่อให้เรามีระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย มีกติกาแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่ายไม่ใช่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้ไม่ว่าจะบริหารประเทศดีหรือไม่ดีก็ตาม ดังนั้น ถ้า ส.ว.คนใดจะคว่ำร่างนี้ก็ต้องอธิบายว่าเหตุใดถึงไม่อยากให้เรามีระบบการปกครองที่มีกติกาเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เหตุใดจึงอยากผูกอำนาจไว้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอโดยกลุ่มไอลอว์ถูกคว่ำไป ครั้งนี้ก็เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอีกครั้ง นายพริษฐ์กล่าวว่า อยากฝากถึง ส.ว.เพราะส่วนตัวได้ติดตามอย่างใกล้ชิดถึงเหตุผลที่ ส.ว.ใช้คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนของกลุ่มไอลอว์ เนื่องจากมีข้อกังวลเรื่องการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แม้ตนจะเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อยากให้เขาทำความเข้าใจว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เราเสนอไปเป็นการแก้ไขรายมาตรา ดังนั้น เหตุผลที่หยิบยกในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญรอบที่แล้ว ไม่สามารถหยิบยกมาคว่ำในรอบนี้ได้อีก

“อยากเชิญชวนให้ประชาชนติดตามเนื้อหาและเหตุผลของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่อยากให้ถอดใจ ถึงแม้ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเชิงกฎหมายได้ แต่สมรภูมิหนึ่งของการต่อสู้คือการต่อสู้เชิงความคิด แม้ว่าร่างฯนี้จะถูกปัดตกในสภา แต่ถ้ามันทำให้เรามีความเข้าใจตรงกันมากยิ่งขึ้นถึงทางออกที่เป็นไปได้ ผมคิดว่าการใช้สมรภูมิต่อสู้ทางความคิดตรงนี้มันก็มีความสำคัญและมีความยั่งยืนไม่น้อยไปกว่าการต่อสู้เชิงกฎหมาย”

Advertisement

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันสาระสำคัญของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรไปพุ่งเป้าว่าใครเป็นคนเสนอหรือคนริเริ่ม แต่ควรจะโฟกัสที่เนื้อหาสาระ ซึ่งการไปโฟกัสว่าใครเป็นคนเสนอเหมือนเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นโดยเจตนาจากสมาชิกรัฐสภาที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างนี้ มองว่ามันไม่สำคัญว่าคนเสนอร่างจะชื่อพริษฐ์ หรือชื่อใด แต่สิ่งสำคัญคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นข้อเสนอที่มีประชาชน 1.35 แสนคนเห็นด้วยกับข้อเสนอ ดังนั้น จึงอยากให้คนที่อภิปรายมุ่งเน้นประเด็นในเนื้อหามากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image