สรุปวงเสวนา ‘ความรู้และความไม่รู้ ว่าด้วย 6 ตุลา 2519’ 40 ปีที่ยังหาคำตอบไม่ได้

เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเสวนาในวาระครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 2519 “ความรู้และความไม่รู้ ว่าด้วย 6 ตุลา” วิทยากรโดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยและผู้สร้างหนัง, ศ.ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน, รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประวัติศาสตร์เป็นการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเราอธิบายว่าประวัติศาสตร์คือการเมืองในอดีต ผมสงสัยว่าการเมืองก็คือประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน การทำความเข้าใจความรู้เรื่อง 6 ตุลา หนีไม่พ้นการทำความเข้าใจเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์การเมืองในความทรงจำมีความยุ่งยาก ความทรงจำของคนรุ่นใหม่เรื่อง 6 ตุลาอาจตกหล่นหายไปไม่ต่างกับหลายเหตุการณ์ในบ้านเรา คนรุ่นหลังเติบโตในการสิ้นสุดชุดความคิดสงครามเย็น

Advertisement

“ตกลงคนถูกแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ตุลา มี 1คน 2 คน 3 คน หรือ 4 คน?”

วันนี้ถ้าประวัติศาสตร์กลายเป็นความทรงจำ ในอีกมุมหนึ่งประวัติศาสตร์จะกลายเป็นการประกอบสร้างขึ้นมา เนื่องจากเป็นทั้งการเมืองและความทรงจำ เป็นไปได้ไหมว่าประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้ส่วนหนึ่งถูกประกอบสร้างจากอุดมการณ์ทางการเมืองและชุดความคิดแบบหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้ข้อมูลจะต้องถูกคัดเลือก อยากเรียกร้องเพื่อนๆคนรุ่น 6 ตุลาแต่ละคน เริ่มเขียนให้ความรู้และความทรงจำถูกฟื้นขึ้นมา โดยผมไม่ได้มีเจตนาฟื้นฝอยหาตะเข็บใดๆทั้งสิ้น แต่ทำเพื่อความจริงจะปรากฏเป็นความรู้และบทเรียนในอนาคต

สภาพการณ์เมืองหลัง 6 ตุลา แทบทำอะไรไม่ได้เลย เพราะประวัติศาสตร์ชุดนี้เริ่มเป็นความลับ ความยุ่งยากที่สุดตำราเรียนของเด็กต้องพูดเรื่อง 14 ตุลา แล้ว 6 ตุลาอยู่ตรงไหน มันถูกทำให้หายไป

40 ปี 6 ตุลา ถ้าเป็นไปได้ บทเรียนที่ชัดคือ ความรุนแรงไม่ช่วยแก้ปัญหาสังคมไทย มีแต่จะสร้างปัญหา ถ้าสถานการณ์วันที่ 6 ตุลาความรุนแรงขยายตัวมากกว่านี้ เชื่อว่าสุดท้ายจะเป็นสถานการณ์สงครามการเมือง ไทยจะเป็นโดมิโนตัวที่ 4 หลังจากการล้มของเวียดนาม

40 ปีถ้าจะมีคุณูปการบ้าง อยากเห็นผู้นำทหารยุคปัจจุบันเชื่อว่าหลายคนทันยุคสงครามเย็น อยากเห็นว่า 40ปีจะเป็นบทเรียนเล็กๆน้อยๆ

022

ภัทรภร ภู่ทอง

นักวิจัยและผู้สร้างหนัง

ที่ผ่านมาได้ศึกษาเรื่องความทรงจำของครอบครัวที่เสียลูกไปใน 6 ตุลา นำมาสู่การทำหนังเรื่อง “ความทรงจำ-ไร้เสียง” (Silence-Memories) แต่คนรอบตัวถามว่าจะทำไปทำไม เรารู้เรื่อง 6 ตุลาหมดแล้ว คำถามคือเรารู้จริงหรือ เรายังไม่รู้เลยว่าตกลงคนที่ถูกแขวนคอชื่ออะไร?

ส่วนคำถามจากครอบครัวผู้สูญเสียคือ “ผ่านมา 40 ปีแล้ว ทำไมเพิ่งติดต่อมา?”

คำถามจากนักข่าวต่างประเทศ คือ ภาพผู้ชายที่ถูกแขวนคอซึ่งปรากฏในหลายภาพมาก เขาคือใคร ทำไมผ่านมา 40 ปี จึงไม่มีใครตามหาเขาเลย?

คำถามจากน้องคนไทยที่โตในต่างประเทศ คือ ทำไมเรื่อง 6 ตุลาจึงเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมไทย? ผ่านมา 40 ปี แล้วทำไมเรายังมาถามคำถามเดิมๆอีก?

เสียงของเหยื่อ ครอบครัวและผู้คนในภาพถ่ายจะเป็นเหมือนจิ๊กซอว์มาประกอบเป็นภาพใหญ่ สังคมไทยไม่ได้ให้คุณค่ากับการบันทึกและศึกษาเหตุการณ์อย่างจริงจัง

ภาพรวมผู้เสียชีวิตจากไฟล์ชันสูตรพลิกศพ มีจำนวน 45 คน เป็นนักศึกษาและประชาชน 40 คน เจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน ทราบชื่อแค่ 30 คน ไม่มีการพูดถึงชาวเวียดนามแต่ใช้คำว่า “ชายไทยไม่ทราบชื่อ” จำนวน 10 คน สถานที่พบศพระบุไว้ว่าในแม่น้ำ 2 คนแต่ส่วนใหญ่พบที่โรงพยาบาลตำรวจ

จากการศึกษาพบว่า นักศึกษาชายที่ตายไปส่วนใหญ่เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว เป็นความหวังที่ครอบครัวหวังพึ่งพา ครอบครัวหนึ่งที่ติดต่อสัมภาษณ์ไปเขาหวาดกลัวว่าการให้สัมภาษณ์จะทำให้เกิดอันตรายกับครอบครัวหรือเปล่า เขามีความโกรธเกรี้ยวคับแค้นใจไม่รู้สึกว่าการให้ข้อมูลจะนำไปสู่สิ่งใดทั้งความยุติธรรมหรือการเยียวยา แต่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อน

“คุณไม่รู้หรอกว่าครอบครัวของเราต้องเจออะไรมาบ้าง เราเจอมามากพอแล้ว”

เกิดอะไรขึ้นที่สนามหลวงวันนั้น? จากข้อมูลที่รวบรวมเราคิดว่ามีการแขวนคอ 4 รายในเช้าวันนั้น โดยดูความแตกต่างจากภาพถ่าย ทรงผม ใบหน้า ต้นไม้ ผู้ที่อยู่รายรอบ

มีบันทึกถึงคุณวิชิตชัย อมรกุล ว่าเขาถูกแทงถูกทุบตีแล้วนำไปแขวนคอ และมีการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หลังจากเขาจากไปแล้ว

อีกคนหนึ่งที่ถูกแขวนคอจากไฟล์ชันสูตรพลิกศพระบุว่าคือ คุณปรีชา แซ่เฮีย ระบุว่ามีอาชีพส่งหนังสือพิมพ์

รวมถึงได้พบภาพการแขวนคอที่สงสัยว่าเขาอาจเป็นรายที่ 5 และรายที่ 6 หรือเปล่า เนื่องจากมีลักษณะแตกต่างจาก 4 รายในภาพก่อนหน้า

จากคำบอกเล่าของคนในเหตุการณ์บอกว่าการเผามีขึ้นที่ หน้าศาลอาญา, หน้าแม่พระธรณีบีบมวยผม, ระหว่างธรรมศาสตร์และสนามหลวง แต่เราจะเห็นแค่ภาพที่หน้าแม่พระธรณีบีบมวยผม เพียงจุดเดียว

รวมถึงภาพการทำร้ายศพ พบว่ามีชายอยู่คนหนึ่งปรากฏตัวในหลายภาพในลักษณะกำลังทำร้ายศพ นักข่าวเอพีถามว่าคุณรู้จักคนนี้ไหมว่าเขาเป็นใคร เขาปรากฏตัวในหลายภาพมาก

ข้อสังเกตจากความไม่รู้และความรู้คือ ญาติยังคงหวาดกลัวที่จะส่งเสียงเล่าเรื่อง มีความสิ้นหวัง ไม่ว่าเขาจะออกมาพูดมากแค่ไหนอาจไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร ความเงียบจึงอาจเป็นเรื่องที่ดีกว่า เราอยู่ภายใต้สังคมการเมืองแบบไหนที่ทำให้เรื่องแบบนี้ไม่ถูกตั้งคำถาม ทำไมบางเรื่องถูกทำให้ลืม

ผ่านไป 40 ปี เราอาจคิดผิดว่า 6 ตุลาอาจไม่เกิดขึ้นอีก ทำไมคนที่ต่อสู้กับเหตุการณ์น่ากลัวนี้จึงกลายมาเป็นผู้สนับสนุนความรุนแรงในรูปแบบใหม่

สังคมไทยมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเสียงและประสบการณ์ที่หลากหลายหรือเปล่า ไม่ใช่เฉพาะจากผู้สูญเสีย แต่รวมถึงผู้กระทำด้วย

 

รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เวลาเราไปสัมภาษณ์ญาติมีปฏิกิริยาหลากหลาย บางคนดีใจที่จะได้เล่าเรื่องคนที่เขารักซึ่งสูญเสีย แต่จะมีคำตอบที่เขาไม่อยากให้เพราะรู้สึกว่าให้แล้วไม่มีประโยชน์ ครอบครัวที่มีปัญหามากในการติดต่อ คือ ครอบครัวที่ผู้เสียชีวิตแบบโหดเหี้ยมมากๆ เราติดต่อญาติเขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ การตายที่โหดเหี้ยมมากส่งผลสะเทือนต่อครอบครัว

ดิฉันเจอคนรุ่น 6 ตุลาหลายคนที่ไม่กล้าดูคลิปและรูปแขวนคอ แต่เอาเข้าจริงไม่ยากเลยที่ดูแล้วจะระบุว่าคนที่ถูกแขวนคอมีกี่คน

มีหลายคนที่เราคิดว่าเสียชีวิตก่อนการถูกแขวนคอ แต่ในกรณีของคุณวิชิตชัย อมรกุล ดูจากลักษณะแล้วพบว่าเสียชีวิตจากการแขวนคอ

ยังมีข้อมูลอีกเยอะที่ขาดหายไป ข้อมูลไม่ได้หายาก ช่างภาพที่ถ่ายภาพต่างๆในเหตุการณ์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ อาจารย์ธงชัยไปสัมภาษณ์ช่างภาพสำนักข่าวต่างประเทศมา แล้วช่างภาพไทยล่ะ

หรือเรารำลึก 6 ตุลา โดยสังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกชนมากพอที่จะไปลงรายละเอียดผู้เสียชีวิต

 

ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล

ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน

จากการเปรียบเทียบภาพของคุณภัทรภร เราเห็นว่าคนตายที่ถูกแขวนคอไม่ใช่แค่ 2 คน คำถามคือแล้วคนที่ตายเป็นใคร? ศพเขาอยู่ไหน? จากภาพชัดเจนว่าอย่างน้อยมี 4 คน แต่รายงานชันสูตรมีแค่ 2 คน

อยากให้ทุกคนอ่านข้อมูลและทำการบ้าน ไม่ใช่มาคอยถามว่าตายกี่คน อย่าหยุดอยู่ที่ความมักง่ายที่เชื่อว่าคนถูกแขวนคอมีแค่ 2 คน ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดว่ามีคนตายกี่คน แต่มาช่วยกันทำงานหนักเพื่อหาข้อมูลคนเหล่านี้ดีกว่า

ข้อมูลหลายอย่างไม่ใช่เรื่องลึกลับ สามารถหาได้ ผมเป็นทั้งนักประวัติศาสตร์และเป็นคนร่วมเหตุการณ์ ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ อาจไม่ได้มีความหมายเท่าไหร่ในภาพใหญ่ คนจะถูกแขวนคอ 2 หรือ 4คน ที่ต้นไม้ต้นไหน อาจไม่ได้มีความหมายในภาพใหญ่ พวกเราทุกคนผ่านเหตุการณ์นั้นมาทั้งสิ้นรวมถึงคนรุ่นหลัง การให้ความเคารพคนตายอย่างดีที่สุด สิ่งเหล่านี้ยิ่งใหญ่กว่างานวิชาการ

“คืนความเป็นมนุษย์ให้ทุกคนเท่าที่จะทำได้”

นี่คือจุดประสงค์การตามหารายละเอียดเหล่านี้ แม้เขาจะตายอย่างโหดเหี้ยมอย่างไร ไม่ว่าครอบครัวเขายินดีหรือปรารถนาจะรู้หรือไม่ เราต้องบันทึกข้อมูลให้ละเอียดเท่าที่เราจะทำได้มากที่สุด

นี่เป็นวิธีเดียว วันไหนที่ครอบครัวเขาอยากรู้ข้อมูลเหล่านี้ เขาควรมีสิทธิที่จะได้รับรู้ การรู้ว่าต้นไม้ต้นไหนอาจไม่มีความหมายในภาพใหญ่ แต่เราต้องคืนรายละเอียดทุกอย่างให้กับชีวิต

ทำไม 40 ปี เพิ่งมาทำ ผมอยากบอกทุกคนทุกวันว่าทำเถอะ คืนความเป็นมนุษย์ให้เขาเถอะ ไม่มีวันสายเกินไป

 

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

แม้ผมอยู่ในเหตุการณ์แต่ก็มีหลายเรื่องที่เพิ่งรู้เมื่ออ่านหนังสือของ อ.ธงชัย วินิจจะกูล ความไม่รู้เรื่อง 6 ตุลา แม้ในหมู่คนที่ผ่านเหตุการณ์เองก็มีเยอะมาก

ปัญหาคือคนที่กระทำความรุนแรงนั้นคิดว่าตัวเองทำถูกต้อง 40 ปี 6 ตุลา แย่ที่สังคมไทยไม่มีการสรุปบทเรียน ไม่เคยสรุปว่าการฆ่าคนแก้ปัญหาไม่ได้ การปลุกระดมคนที่เกลียดชังด้วยข้อมูลเท็จก็ยังทำกันอยู่ตลอดเวลา รวมถึงเรื่องการรัฐประหารนั้นแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แต่ในระยะ 40 ปี ก็ยังมีการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เป็นเรื่องน่าสนใจ นิสิตที่เรียนกับผมทุกคนคิดว่าหลังรัฐประหาร 2557 ประเทศไทยมีโอกาสรัฐประหารได้อีก สะท้อนว่าสังคมไทยยังมีปัญหาอีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image