รายงานหน้า 2 : เปิด7ข้อสภาพัฒน์ ชงฟื้นเศรษฐกิจไทยปี’65

รายงานหน้า 2 : เปิด7ข้อสภาพัฒน์ ชงฟื้นเศรษฐกิจไทยปี’65

รายงานหน้า 2 : เปิด7ข้อสภาพัฒน์ ชงฟื้นเศรษฐกิจไทยปี’65

หมายเหตุ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 และปี 2565

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปีนี้ปรับตัวลดลง 0.3% จากขยายตัว 7.6% ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว (เปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว) จีดีพีในไตรมาส 3 ปีนี้ ลดลง 1.1% จากไตรมาสที่ 2/2564 ที่ขยายตัว 0.1% อย่างไรก็ตาม จีดีพีรวม 9 เดือนแรก ขยายตัวอยู่ที่ 1.3%

ด้านการใช้จ่าย การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกสินค้า การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัว การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลง 3.2%

Advertisement

โดยมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประชาชนระมัดระวังพฤติกรรมการใช้จ่าย ในขณะที่ภาครัฐมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยการใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทน ลดลง 14.1% ตามการลดลงของการใช้จ่ายเพื่อซื้อยานพาหนะ 21.8% การใช้จ่ายหมวดบริการลดลง 4.9% และการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทน ลดลง 8.3% ในขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัว 1.3 โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะลดลง 15.6% อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 2.7%

การปรับตัวลดลงของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจากระดับ 38.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นระดับ 34.9 รวม 9 เดือนแรก การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 0.4% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัว 2.5% โดยค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้าง เงินเดือน) ขยายตัว 1.0% และการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการ ขยายตัวสูง 47.1% ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 ขณะที่รายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง 3.6% การขยายตัวของการใช้จ่ายรัฐบาลสอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำ 638,678 ล้านบาท ซึ่งขยายตัว 23.0%

และการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเงิน 219,740 ล้านบาท รวม 9 เดือนแรก การอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัว 1.9% การลงทุนรวม ลดลง 0.4%

Advertisement

ก่อนหน้าตามการลงทุนภาครัฐที่ลดลง 6.0% โดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนรัฐบาล ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 24.0% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 2.6% โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือ ขยายตัว 3.7% เทียบกับการขยายตัว 12.2% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ลดลง 0.5% รวม 9 เดือนแรก การลงทุนรวม ขยายตัว 4.7% โดยการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ ขยายตัว 4.8% และ 4.6% ตามลำดับ

ในด้านภาคการค้าต่างประเทศ การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 67,249 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.7% โดยปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น 12.2% และราคาส่งออก เพิ่มขึ้น 3.1% สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น การส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 24.2% และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัว 21.6% ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 57,985 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.8% โดยปริมาณและราคานำเข้า เพิ่มขึ้น 27.9% และ 3.0% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าในไตรมาสที่สามเกินดุล 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (304,700 ล้านบาท) รวม 9 เดือน มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสินค้า ขยายตัว 17.9% และ 26.3% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 26,365 ล้านเหรียญสหรัฐ (833,601 ล้านบาท)

สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ลดลง 18.7% เทียบกับการขยายตัว 14.6% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการท่องเที่ยวในประเทศและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยในไตรมาสนี้มีรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 10,000 ล้านบาท ลดลง 91.5% เทียบกับการขยายตัว 86.0% ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สามภายในประเทศขยายตัวเป็นวงกว้าง ประกอบกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในไตรมาสนี้ มีจำนวน 45,398 คน (รวมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Thailand Privilege Card) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 5.46%

รายงานหน้า 2 : เปิด7ข้อสภาพัฒน์ ชงฟื้นเศรษฐกิจไทยปี’65

สถานการณ์ด้านแรงงานพบว่าสัดส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์กรณีว่างงานจากมาตรา 33 อยู่ที่ 2.5% ต่ำกว่า 2.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า 4.4% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐในการรักษาระดับการจ้างงานและจูงใจให้แรงงานเข้าระบบประกันตนมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% และ 0.1% สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (14.3 หมื่นล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีมูลค่าทั้งสิ้น 9.33 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58% ของจีดีพี

ทั้งนี้ คาดว่าจีดีพีทั้งปี 2564 จะขยายตัว 1.2% ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.2% และบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.5% ต่อจีดีพี

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% ค่ากลาง 4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงและความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน (2) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคท่องเที่ยวระหว่างประเทศภายใต้นโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ (3) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการส่งออกสินค้า (4) การขับเคลื่อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ (5) ฐานการขยายตัวที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2565 ในด้านต่างๆ มีดังนี้

1.การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค (1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 4.3% เร่งขึ้นจาก 1.2% ในปี 2564 ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงและสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องตามมาตรการการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐเพิ่มเติม (2) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะขยายตัว 0.3% ชะลอลงจาก 2.3% ในปี 2564 โดยเป็นผลจากการลดลงของกรอบรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 แต่ยังมีแรงสนับสนุนให้การใช้จ่ายรัฐบาลขยายตัวได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณจากพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท และพระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท

2.การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัว 4.3% เทียบกับ 4.4% ในปี 2564 โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 4.2% เทียบกับ 4.3% ในปี 2564 สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการส่งออกตามการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลก ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.6% ต่อเนื่องจาก 4.8% ในปี 2564 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณประจำปี 2565 วงเงิน 624,340 ล้านบาท และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2565 วงเงิน 468,833 ล้านบาท (รวมรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชน)

3.มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.9% เทียบกับ 16.8% ในปี 2564 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้น 4.4% และราคาสินค้าส่งออกจะเพิ่มขึ้นในช่วง 0.0-1.0% ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวตามการดำเนินมาตรการเปิดประเทศและการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นทางนักท่องเที่ยว โดยในกรณีฐานคาดว่ารายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท เทียบกับ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 238% ส่งผลให้โดยรวมคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 9% เทียบกับ 10% ในปี 2564

ข้อเสนอแนะถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด โดยการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรค การเร่งรัดกระจายวัคซีนให้เพียงพอและทั่วถึง การควบคุมดูแลกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และการเตรียมแผนการรองรับการกลับมาระบาดของโรค (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการเงินการคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือ การพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติมสำหรับภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และการประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ

(3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยการติดตามและประเมินผลมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า พร้อมทั้งดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน และการดูแลเกษตรกรโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

(4) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยต้องขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต

(5) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อการควบคุมการระบาดของโรคภายในประเทศ การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2561-2563 ให้เกิดการลงทุนจริง พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่

(6) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และ (7) การติดตามและเฝ้าระวังความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image