ขานชื่อโหวตวันนี้ 10 โมง ร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน พปชร.-พรรคร่วมรัฐบาลผนึกคว่ำ

ขานชื่อโหวตวันนี้ 10 โมง ร่างแก้ไข รธน.ฉบับประชาชน พปชร.-พรรคร่วมรัฐบาลผนึกคว่ำ

รัฐสภาถกร่างแก้รธน.ฉบับปชช.
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับประชาชนเป็นประเด็นทางการเมืองที่ถูกจับตาว่าจะกลายเป็นแรงกระเพื่อมหลังการโหวตในวาระแรกหรือไม่ โดยเมื่อเวลา 09.40 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช … (ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279) โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,257 คนเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชี้แจงผลการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่ามีเวลาอภิปราย 18 ชั่วโมง โดยให้ผู้เสนอร่างอภิปราย 3 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว.ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง เริ่มอภิปรายเวลา 09.00 วันที่ 16 พฤศจิกายน ถึงเวลา 03.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน และลงมติวาระรับหลักการโดยการขานชื่อรายบุคคลในเวลา 10.00 น.วันที่ 17 พฤศจิกายน

‘ไอติม’ จี้ขจัดระบอบประยุทธ์
จากนั้นเข้าสู่วาระการประชุม นายพริษฐ์ชี้แจงว่า ผู้ป่วยคนหนึ่งที่ชื่อประเทศไทย เป็นผู้ป่วยที่ทุกคนรักและเป็นห่วงและอยากรักษาให้หายดี ปัจจุบันผู้ป่วยกำลังฟื้นฟูจากโควิด แต่ยังต้องเจอกับ 3 โรคร้ายแรงที่เจ็บมาก่อนและโดนโควิดมาซ้ำเติมให้อาการทรุดหนักลง ประกอบด้วย 1.โรคเศรษฐกิจอ่อนแอ 2.โรคความเหลื่อมล้ำเรื้อรัง และ 3.โรคประชาธิปไตยหลอกลวง คำถามที่สำคัญที่อยากถามสมาชิกรัฐสภาว่าจะรักษาผู้ป่วยคนนี้อย่างไร ที่ผ่านมาหลายฝ่ายพยายามเสนอยานานาชนิดมาบรรเทาทั้งยาที่ชื่อว่าปฏิรูประบบราชการ การสร้างรัฐสวัสดิการ และการกระจายอำนาจท้องถิ่น เสนอไปเมื่อใดยาเหล่านี้ถูกปฏิเสธ อาการของผู้ป่วยทรุดหนักมากขึ้นช่วง 7 ปีที่ผ่านมาตรงกับเวลาช่วงที่คณะรัฐประหารยึดครองอำนาจของประเทศ หลายคนจึงสรุปว่าไวรัสตัวนี้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากกำจัดไวรัสนี้โดยให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกหรือพ้นจากตำแหน่ง ผู้ป่วยก็จะหายและกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่อันตรายกว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือระบอบประยุทธ์ นั่นคือโครงสร้างและกลไกที่ พล.อ.ประยุทธ์และเครือข่ายสร้างตลอดมา 7 ปี และควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ โดยรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเกราะกายสิทธิ์ชิ้นพิเศษที่ค้ำจุนอยู่ในอำนาจได้ไม่ว่าจะบริหารประเทศได้ป่วยแค่ไหน หากรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย คือรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ซ้ำซ้อนไปกว่าของรัฐธรรมนูญของระบอบประยุทธ์เพื่อระบอบประยุทธ์โดยระบอบประยุทธ์ เขียนขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือการสืบทอดอำนาจระบอบประยุทธ์

VIDEO CONTENT AVERTISEMENT

ขอรับร่างฯ-โยนประชามติชี้ขาด
นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรีโซลูชั่น เปรียบเหมือนการฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งให้กับประเทศ แม้ร่างฉบับนี้อาจไม่สามารถแก้ทุกปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ แต่ปัญหาที่ใหญ่หลวงที่สุดคือเป็นเครื่องมือของการสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ดังนั้นจึงเสนอเนื้อหาที่ปลดอาวุธ 4 ข้อ คือ 1.การยกเลิก ส.ว. ปรับระบบรัฐสภามาเป็นสภาเดียวคือ ส.ส. โดยอำนาจและที่มาของ ส.ว.ต้องยึดโยงกับประชาชนสูงหรือมาจากการเลือกตั้ง วันนี้จึงขอเสนออีกทางหนึ่ง คือ การใช้สภาเดียวเหลือเพียง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยมีข้อดี คือ ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ เงินเดือน ส.ว.บวกที่ปรึกษา ผู้ติดตาม อยู่ที่ 800 ล้านต่อปี รวมค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าประชุม มีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ไม่รู้คุ้มค่าหรือไม่

ส่วนข้อกังวลการยกเลิก ส.ว.นั้น รับประกันว่าจะมีกลไกอื่นมาทดแทนได้และอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า ขอให้เพิ่มอำนาจ ส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบฝ่ายรัฐบาลแทน รวมทั้งให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำงานของรัฐได้ละเอียดขึ้น การออกกฎหมายคุ้มครองประชาชนที่เปิดโปงการทุจริต ไม่ใช่การทักท้วงจาก ส.ว. 2.การเสนอยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีตัวแทนภาคประชาชน

ADVERTISMENT

“ผมอยากให้ทุกคนเปิดใจร่างฉบับนี้ หัวใจสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือสร้างระบบการเมืองที่ไว้วางใจประชาชน เลือกตัวแทนเข้ามาผ่านกลไกรัฐสภา ไม่ให้ทหารเข้ามายึดอำนาจแก้ปัญหา ขอให้หยุดหยิบยกเสียง 16 ล้านเสียง อ้างเป็นส่วนใหญ่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ขอให้รับร่างแก้ไขฉบับนี้ แล้วไปวัดที่การทำประชามติ” นายพริษฐ์กล่าว (อ่านรายละเอียด น.2)

‘ปิยบุตร’จี้ล้มล้างผลพวงปฏิวัติ
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน กล่าวชี้แจงว่า 3.การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาแม้จะอมพระมาพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระมีความเป็นกลาง พูดให้ตายประชาชนก็ไม่เชื่อ เพราะมีที่มาจาก คสช. องค์กรเหล่านี้มีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนชี้ชะตานักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ 4.การล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งและการกระทำของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สร้างหลุมดำและรอยด่างพร้อยให้รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาทำรัฐประหารกันจนเป็นประเพณี คิดว่าถ้ายึดอำนาจสำเร็จจะไม่มีวันถูกลงโทษ ดำเนินคดี จึงเป็นที่มาของการทำให้การรัฐประหารเป็นโมฆะ ไม่มีการนิรโทษกรรม จะต้องถูกดำเนินคดี ป้องกันไม่ให้มีการรัฐประหารอีก ถ้ามีคนทำรัฐประหารถูกดำเนินคดี จะไม่มีใครคิดทำรัฐประหารอีก ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบสร้างกติกาเป็นกลาง ไม่ใช่เขียนกติกาเฉพาะคนชนะ กำราบฝ่ายแพ้ให้ราบคาบ หากสมาชิกให้ความเห็นชอบวาระ 1 ความเห็นที่แตกต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงในวาระ 2 และถ้าผ่านวาระ 3 ไปได้ ก็ยังมีหนทางร้องศาลรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญยังอีกยาวนั้น แต่อย่างน้อยให้ลงมติรับวาระหลักการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ปิดประตูใส่ประชาชน (อ่านรายละเอียด น.2)

ADVERTISMENT

พท.ห่วงคว่ำร่างการเมืองลงถนน
ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 เพราะเป็นโอกาสบนวิกฤตที่ประสบอยู่ในขณะนี้ ที่รัฐสภาจะต้องช่วยกันให้เหตุผลใช้สติปัญญาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ มีเหตุผล 4 ประการ คือ 1.การยกเลิกมาตรา 65 ว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2.เรื่องวิกฤตบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ออกมาตั้งแต่ปี 2560 และใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ผลพวงจากการบังคับใช้สร้างวิกฤตให้ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะวิกฤตทางการเมือง กระทบต่อเนื่องไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจ มิติเชิงสังคม เรื่องปากท้องของประชาชน เป็นบทบัญญัติรัฐธรมนูญที่เขียนไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ 3.ถ้าสภาไม่ใช้โอกาสนี้รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าสู่ชั้น กมธ.ในการพิจารณาวาระที่ 2-3 ตลอดจนทำประชามติหากร่างฉบับนี้ผ่าน โอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางการเมืองมีสูงมาก น่าเป็นห่วง ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ 4.เรื่องการปฏิรูป เรื่องรัฐธรรมนูญ น่าเป็นห่วงที่สุดคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร การนำสู่ปฏิบัติจะเป็นเชื้อเป็นมูลเหตุของความรุนแรง ขอเรียกร้องไปยัง ส.ว.ผู้ทรงเกียรติ 84 เสียงของ ส.ว. เพื่อประเทศชาติ หากตัดสินใจพลาดวันนี้ รัฐสภาไม่เป็นที่พึ่งที่หวัง เวทีต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นคือท้องถนน ท้องถนนเป็นเหยื่อของผู้มีอำนาจที่วางกับดักเอาไว้

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า เวลาผมอยู่ในสภา ได้เห็นหน้าท่านประธาน ผมมีความสุขมากที่เรื่องของท่านเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ หากสิ่งนั้นไม่เกิดขึ้น ผมจะเสียใจเป็นที่สุด อย่าให้มันเกิดขึ้น เรามาช่วยกันปลดวิกฤต… ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ นพ.ชลน่านอภิปรายอยู่นั้น นายชวนกล่าวติดตลกว่า หมออย่าให้เพื่อนหมั่นไส้ผมเลยครับ

พปชร.ชี้สภาเดี่ยวอันตราย
จากนั้นนายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีหลักที่อาจจะรับไม่ได้หลายเรื่อง แม้บางเรื่องเห็นด้วยกับข้อเสนอการปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรไปยุ่งเลอะไปหมด เหมือนเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ แต่มีหลายเรื่องที่อาจจะรับได้ยาก เช่น ในมาตรา 79 ซึ่งตัดหมวดว่าด้วยรัฐสภาทั้งหมด แล้วเหลือเพียงสภาผู้แทนฯ 500 คน อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่ให้ตัดวุฒิสภา จนเหลือสภาเดียว เพราะที่ผ่านมาเรามีสภาคู่มาโดยตลอด และ ส.ว.มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายและหลายครั้งที่ ส.ว.ช่วยแก้ไขกฎหมายที่มีความจำเป็น เพราะ ส.ส.บางครั้งก็พลาด ดังนั้นจะบอกว่าสภาเดี่ยวไม่พลาดเป็นไปไม่ได้ หากเสนอลดจำนวน ส.ว. ลดงบประมาณ อาจทำให้เห็นชอบด้วย เช่น ในการลดอำนาจหน้าที่วุฒิสภาบางเรื่อง ในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ เพราะต้องเป็นเรื่องของสภาผู้แทนฯ แต่การให้เหลือเพียงสภาเดียวถือว่าอันตรายมาก

ปชป.ถามเลิกส.ว.จะผ่านได้ไง
ต่อมานายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ได้ศึกษาข้อเสนอร่างภาคประชาชนเป็นลำดับ หากเป็นนักประชาธิปไตยต้องเคารพความคิดของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้เมื่อดูรายละเอียดร่างของภาคประชาชน มีบางประเด็นที่ต้องยอมรับความจริงว่าต้องซักถามเพิ่มเติม ขอถามว่าที่เสนอขอยกเลิก ส.ว.ให้มีสภาเดี่ยว แต่คนที่จะลงมติให้ คือเพื่อน ส.ว. ที่กำลังนั่งอยู่ในที่ประชุมแห่งนี้ ดังนั้นพื้นที่ตรงกลางจะอยู่ตรงไหน เมื่อไม่มีพื้นที่ตรงกลางแล้วจะเดินข้ามไปได้อย่างไร ในส่วนของผู้ตรวจการฯ ดูเหมือนดี ยึดโยงประชาชน แต่ถ้าเป็นระบบสภาเดี่ยว หากพรรคการเมืองพรรคนั้นมีเสียงข้างมากเด็ดขาด และใช้อำนาจไม่ชอบธรรมจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวาระรับหลักการ ขอให้ผู้เสนอร่างตอบสิ่งที่ตนถามให้ชัด เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจลงมติในวันที่ 17 พฤศจิกายน

‘วันชัย’ซัดเกลียด-โกรธ-กลัว-เกิน
ต่อมานายวันชัย สอนศิริ ส.ว.อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญที่ผู้ร่างเสนอมา 1.รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยโอนอำนาจของรัฐสภาไว้ที่ ส.ส.ทั้งหมด ย่อๆ คือให้ ส.ส.เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และ 2.ลดทอนความอิสระของศาล โดยมีบทบัญญัติข้อห้ามต่างๆ ทั้งการรณรงค์ขอชื่อจากประชาชนพุ่งเป้าไปที่ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ การเสนอร่างดังกล่าวนั้นมาจาก 4 ก. คือ 1.เกลียด คือ เกลียด ส.ว. 2.โกรธ คือ โกรธศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีพรรคพวกตัวเอง 3.กลัว คือ กลัวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ และ 4.เกิน โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกินจากความเป็นจริง พยายามล้างทุกอย่าง โดยใช้คำว่าล้างมรดกที่สืบทอดกันมา ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งที่คนที่มาจากการเลือกตั้งต้องเป็นใหญ่ แต่ท่านไม่ได้มองให้ครบถ้วนรอบด้านในบริบทสังคมไทยตอนนี้ว่ามันบริสุทธิ์ผุดผ่องดั่งทองอย่างที่วาดไว้หรือไม่ ถ้าการเมืองดีก็ไม่มีทางที่จะปฏิวัติได้ อยู่ได้เพราะประชาชน เพราะถ้า ส.ส.ที่มาจากประชาชนไม่เอาด้วย ส.ว.จะทำอะไรได้คิดดูให้ดี

‘คำนูณ’หวั่นเกิดเผด็จการสภา
จากนั้นนายคํานูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ให้สมญาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าฉบับปฏิวัติ โดย 1.รวมศูนย์ คือรวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร 2.บั่นทอน คือ บั่นทอนการพิจารณาพิพากษาโดยศาล และบั่นทอนการถ่วงดุลอำนาจในศาลและองค์กรอิสระ และ 3.ควบคุม คือ ควบคุมงบประมาณ ทั้งการตั้งงบ และการใช้จ่ายงบ ควบคุมคน กำหนดโครงสร้างองค์กรศาล และองค์กรอิสระ ควบคุมการพิพากษา และควบคุมการถอดถอน ท่านพยายามบอกว่า ท่านออกแบบระบบตรวจสอบถ่วงดุลเอาไว้ โดยให้ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล คำถามคือ เพียงพอหรือไม่ แล้วเท่ากันหรือไม่ ระหว่างการตรวจสอบถ่วงดุลในองค์กรเดียวกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image