รายงานหน้า 2 : ฟังความเห็น ‘นักวิชาการ’วิพากษ์ รัฐสภาตีตก รธน.ฉบับ ปชช.

รายงานหน้า 2 : ‘นักวิชาการ’วิพากษ์ รัฐสภาตีตก รธน.ฉบับ ปชช.

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการ กรณีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. … ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ ผลการนับคะแนน ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ด้วยมติ 473 ต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เท่ากับที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการ เนื่องจากคะแนนเสียงรับหลักการน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสองสภา หรือน้อยกว่า 362 เสียง จากสมาชิกทั้งหมด 723 คน

ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร

รายงานหน้า 2 : ‘นักวิชาการ’วิพากษ์ รัฐสภาตีตก รธน.ฉบับ ปชช.

Advertisement

ถ้าใครสนใจการเมืองก็จะทราบอยู่แล้วว่า ไม่ผ่านหรอก เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 วางเงื่อนไขให้การแก้ต้องใช้เสียงจาก ส.ว. 1 ใน 3 และด้วยการแก้ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นระบบสภาเดียวเอา ส.ว.ออกไป อย่างไรก็ไม่น่าผ่าน ไม่เกินความคาดหมาย ที่น่าสนใจคือ ผู้เสนอก็ทราบอยู่แล้วว่า ในเชิงเนื้อหา อย่างไรก็ไม่ผ่านอยู่แล้ว แต่เป้าหมายของการเสนอครั้งนี้ คือ การพยายามรื้อระบอบที่เป็นผลพวงของรัฐประหาร ปี 2557 ใน 4 ด้านด้วยกัน คือ 1.จัดการกับโครงสร้างสภา ให้เหลือสภาเดียว 2.จัดการกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 3.จัดการเรื่ององค์กรอิสระ 4.จัดการเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ

รวมไปถึงเรื่องจัดการให้พลเมืองอยู่เหนือกองทัพให้หน่วยงานจากสภา หรือหน่วยงานอื่นๆ สามารถตรวจสอบกองทัพได้ ข้อเสนอแบบนี้ เป็นข้อเสนอในเชิงหลักการ เมื่อทางผู้เสนอทราบดีอยู่แล้วว่า ไม่ผ่าน คำถามต่อไป ทำไมถึงเสนอแบบนี้ การเสนอแบบนี้ไม่มีพื้นที่ตรงกลางเปิดให้มีการเจรจา ไม่ใช่การเสนอว่าจะมีการเลือกตั้งแบบไหน จะนับคะแนนเสียงอย่างไร แต่คือการเปลี่ยนโครงสร้างที่เป็นผลพวงมาจากรัฐประหารปี 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560

เป้าหมายที่แท้จริงของการเสนอครั้งนี้ คือ การชูประเด็นขับเคลื่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 และผลพวงที่เกิดขึ้นนั้น นำไปสู่ปัญหาที่กลุ่มผู้เสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ พยายามจะชี้ให้เห็นเป็นจุดๆ ว่ามันอยู่ด้านไหน ตั้งแต่ ส.ว., องค์กรอิสระ, ศาลรัฐธรรมนูญ กองทัพ รวมไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ ชี้ให้เห็นจุดที่เป็นปัญหา แน่นอนว่าในตอนโหวตแพ้ แต่เป็นการแพ้ที่พยายามหาพันธมิตรมากขึ้น

Advertisement

อย่างน้อยที่สุด เราก็พบว่าไม่ใช่แค่อนาคตใหม่พรรคเดียวที่เดินไปพร้อมกับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้อีกแล้ว แต่มีพรรคร่วมฝ่ายค้านและเพื่อไทยร่วมด้วย เสียงส่วนใหญ่ก็มาจากพรรคเพื่อไทย 130 กว่าเสียง จุดนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น ทำให้เห็นว่าเพื่อไทยพยายามเล่นในเกมนี้เช่นเดียวกัน แม้ว่าหลายครั้งเพื่อไทยจะไม่ได้พูดถึงการเปลี่ยนโครงสร้างแบบภาพใหญ่ ถ้าเทียบกับการแก้รัฐธรรมนูญรอบที่แล้ว เพื่อไทยเลือกที่จะแก้เฉพาะระบบการเลือกตั้ง ไม่ได้แก้ภาพใหญ่ ทำให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ต้องออกไปตั้งพรรคใหม่ นี่คือจุดแตกหักในเพื่อไทย ณ ครั้งนั้น

แต่คราวนี้เราพบว่าเพื่อไทยโหวตให้กับร่างประชาชน เพื่อไทยอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับเนื้อหา แต่ด้วยกระแสในปัจจุบัน และมันคือการเตรียมความพร้อมว่าเพื่อไทยจะยืนอยู่จุดไหน ยืนอยู่ฝั่งที่สืบทอดมาจากปี 57 หรือจะยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย จึงกลายเป็นว่า คราวนี้พรรคเพื่อไทย จับมือกับก้าวไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการโหวตได้ 260 เสียง สะท้อนการจัดกำลังว่าใครจะยืนอยู่ตรงไหน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในเชิงจัดการเลือกตั้งรอบหน้า และในเชิงการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภา หรือพูดง่ายๆ ว่าในเชิงเนื้อหา อาจจะนำไปสู่ข้อถกเถียงในเชิงหลักการทางวิชาการได้ แต่เป้าหมายจริงๆ ของการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือการทำให้เกิดผลในอนาคตมากกว่า

มันพอดีกัน การไม่รับหลักการครั้งนี้นั้นเหมือนกับการปิดประตูพื้นที่ในการพูดคุยกันในสภา มีผู้เสนอบอกว่ารับไปก่อน แล้วค่อยมาคุยแก้ไขกันตอนแปรญัตติ เพราะยังมีเรื่องที่แก้ไม่ทัน อย่างระบบเลือกตั้งที่ยังใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่จริงๆ เปลี่ยนไปแล้ว ณ จุดนี้ที่สภาไม่รับหลักการ แสดงว่า พื้นที่ถกเถียงในสภาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่มีแล้ว ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งก็แค่รอโปรดเกล้าฯ เท่านั้น

เรื่องกลไกที่มีปัญหาในสังคม ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพิ่งมีคำวินิจฉัยประเด็นการล้มล้างการปกครองมาก่อนหน้านี้ และเรื่องกองทัพที่ไม่ถูกหยิบยกมาคุยกันในสภา ผลคือ ต้องออกไปนอกสภาแทน เป็นเป้าจริงๆ ของผู้ที่ยื่นแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ผ่านสภา แต่ทำให้สังคมเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วอาจจะไปคุยกันนอกสภา หรือไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่จะกลายเป็นปัญหาในอีกทาง เมื่อไม่มีการคุยกันในสภา ออกไปนอกสภาปุ๊บ ก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง แม้ความขัดแย้งจะมีอยู่แล้วทุกสังคม แต่ความขัดแย้งจะกลายเป็นความรุนแรง เมื่อเราไม่มีกลไกเชิงสถาบันทางการเมืองมาคอยกำกับความขัดแย้งดังกล่าว หากเถียงกันในสภาจริงๆ เชื่อว่า จบกันได้ ปิดไมค์ได้ แต่พอออกนอกสภา ทำไม่ได้ ทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุม มีความรุนแรงและการบาดเจ็บเกิดขึ้นแน่นอน

ถามว่า เป็นการปิดกลไกในระบบทุกทางแล้วหรือไม่ อาจจะยังปิดไม่ครบทุกทาง แต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นได้ว่าจะปิดฝั่งประชาธิปไตยในการเข้าไปมีส่วนร่วม โดย 1 เดือน หลังจากนี้ อยากให้ติดตามกัน จะเป็นการโต้กลับจากการตั้งลูกของศาลรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นการโต้กลับหลังจากนี้อีก 1 กระบวน ของฝั่งที่ยึดโยงกับการรัฐประหารปี 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ในการจัดการกับพรรคต่างๆ ที่โหวตรับหลักการในครั้งนี้

หากเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมามองการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ หากตีความอย่างกว้าง ก็ถือว่าเข้าหลักการ เป็นเครือข่าย เป็นสถาบันที่พูดเรื่องโครงสร้างระบบการเมืองการปกครอง จะเห็นว่าเมื่อคำวินิจฉัยไม่ชัดเจน ผลจึงกระทบมาเรื่อยๆ และนี่คือข้อกังวลอย่างแท้จริง ว่าพื้นที่ในการคุยกันจะเหลือน้อยลง เนื่องจากคำวินิจฉัยนี้ มีผลกระทบ (impact) ที่มากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

ทำให้เห็นเพียงว่า ผลของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นอย่างไรมากกว่า ความคาดหวังตอนนี้ที่พอเป็นไปได้ และจะทำให้เกิดความรุนแรงน้อยที่สุด คือต้องมองให้เห็น การเลือกตั้งครั้งต่อไปให้เกิดขึ้นเร็วที่สุดในปีหน้า การเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดช่วยทำให้ความขัดแย้งเบาบางลง เพราะคนจะไม่ได้ออกไปประท้วง แต่จะออกไปหาคนที่ตัวเองสนับสนุนเพื่อช่วยกันรณรงค์ และหลังจากการเลือกตั้งดังกล่าว ก็จะกำหนดทิศทางประเทศต่อไปว่า จะมีการแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองหรือไม่ หรือจะเป็นอย่างเดิมหากผลเลือกตั้งออกมาว่าฝั่งไหนได้คะแนนมากกว่า

ตรงนี้เองที่ผมคิดว่า จะเป็นแนวทางที่ดี แต่การจะได้มาซึ่งการเลือกตั้ง ต้องมีการยุบสภา ที่หากรอให้ครบวาระก็ต้องข้ามไปอีก 1 ปี จะยิ่งดึงความขัดแย้งให้นานขึ้น ปัญหาคือ ฝั่งที่พยายามจะใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาดำเนินการต่อ จะดำเนินการได้เร็วขนาดไหน

ลองสมมุติเหตุการณ์ว่า หากมีการยุบพรรคเกิดขึ้นในระหว่างประกาศยุบสภาแล้วเปิดให้เลือกตั้ง ตรงนี้จะเกิดปัญหาอย่างมาก เพราะทำให้ตัวเลือกของฝั่งที่รับหลักการในวันนี้นั้นหายไป

ถ้าใครฟังคำชี้แจง เมื่อช่วงดึก (16 พ.ย.) ส.ว.ก็พูดถึงเรื่องการยุบพรรคขึ้นมา บอกประมาณว่า เคยถูกยุบพรรคมา ไม่พอใจเลยมาเสนอร่างนี้หรือเปล่า เดี๋ยวโดนยุบอีก ซึ่งก็เป็นประเด็น ดังนั้น คนไทยอาจจะต้องกลับมามองที่หลักการว่าเราอยากให้สถาบันทางการเมืองเป็นแบบไหน ในทางวิชาการก็มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับสภาเดี่ยว ประเด็นเหล่านี้ต้องพูดกันอาจจะให้มาก อาจจะต้องเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เช่นนี้จึงจะคุยกันได้

แต่ 2 วันที่ผ่านมา เราจะทราบดีว่า ไม่ใช่การคุยกันที่เนื้อหา แต่เป็นการคุยประเด็นทางการเมืองว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้มากกว่า

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

รายงานหน้า 2 : ‘นักวิชาการ’วิพากษ์ รัฐสภาตีตก รธน.ฉบับ ปชช.

การโหวตไม่รับร่างธรรมนูญฉบับประชาชนในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกว่าการอภิปรายไม่สามารถโน้มน้าวใจใครได้ ทั้งฝ่าย ส.ว.ที่ไม่รับตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ก็ไม่ได้แปลกใจ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าการอภิปรายในส่วนของ ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยหรือฝ่าย ส.ส.ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับนี้ให้เหตุผลที่ไม่ได้มองว่าหักล้างกันได้หรือโน้มน้าวให้คนเข้าใจได้ว่าทำไมจึงไม่รับ นอกจากรู้สึกว่าร่าง ฉบับนี้ไม่ดี แต่ไม่ดีอย่างไร คือ ประเด็นใหญ่

แค่ประเด็นที่ว่า ไม่ต้องมี ส.ว.แล้ว ฝ่ายเสนอ อย่างอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ก็ให้เหตุผลที่รับฟังได้ ในขณะเดียวกัน ส.ว.ไม่อธิบายว่าในเชิงหลักการ เชิงวิชาการและผลการปฏิบัติงานจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร การถกเถียงว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นแบบไหน ส.ว.จะเป็นแบบไหน หรืออะไรก็ตามในเรื่องของสถาบันการเมืองมันถกเถียงกันได้ ว่าข้อดีข้อด้อยคืออะไร แต่การอภิปรายในสภาจากอีกฝั่งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย ไม่ได้โน้มน้าวด้วยเหตุผลที่เพียงพอนอกจากการใช้ความรู้สึกและอารมณ์ นี่คือสิ่งที่น่าผิดหวังมากกว่า

เมื่อถามถึงแนวทางในอนาคต รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดเจนมากว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เสียงเยอะ ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.ด้วย การจะเปลี่ยนอะไร ประชาชนต้องส่งเสียงให้ถึง ส.ส.ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ใครจะรณรงค์ หรือจะแก้อะไรต้องก่อให้เกิดอารมณ์ร่วมของทั้งสังคมจนนักการเมืองไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. เห็นว่านี่มันเป็นความต้องการจริงๆ ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือกลุ่มน้อย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีคำตอบของนักการเมือง หรืออย่างที่ผู้มีอำนาจบางคนบอกว่า ก็แค่เสียงของคนไม่กี่คนไม่ใช่หรือ กติกามันยากที่แจะแก้ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องส่งเสียงเยอะ

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

รายงานหน้า 2 : ‘นักวิชาการ’วิพากษ์ รัฐสภาตีตก รธน.ฉบับ ปชช.

ถ้ามองพัฒนาการที่ผ่านมาก็ไม่ได้เหนือความคาดหมาย โดยเฉพาะบทบาทของรัฐสภาเอง หรือแม้กระทั่งบทบาทของสมาชิกวุฒิสภา แต่ก็มีความสำเร็จที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ทำให้สังคมไทยรับรู้ เรียกว่ามีข้อเสนอทางออกทางการเมืองไทยอีกแบบหนึ่งขึ้นมา การนำวาระนี้ไปอธิบายพูดคุยในรัฐสภาก็ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จอาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดหนึ่งของการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงที่รัฐสภาเองก็สามารถที่จะเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงในเรื่องเหล่านี้ได้ แต่พอรัฐสภาโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นัยยะที่สำคัญประการหนึ่งคือโครงสร้างของรัฐสภา ซึ่งเราบอกว่าเป็นโครงสร้างทางด้านการเมืองส่วนบน ปิดประตูทางออกทางการเมืองไทยตามข้อเสนอที่เขาสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้นรัฐสภาในฐานะที่มีบทบาทสำคัญต้องสร้างทางออกด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะทำให้การเมืองไทยติดหล่มอยู่เหมือนเดิม ส่วนตัวคิดว่า มี 3 เรื่องที่รัฐสภาต้องนั่งทบทวนใหม่ คือ

1.เรื่องที่เคยมีการตั้งกรรมการสมานฉันท์แก้ปัญหาความขัดแย้งด้านการเมือง นำไปสู่การปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน รัฐสภาต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบด้วย 2.ถ้าปิดตายประตูทางออกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เรื่องการกระจายอำนาจซึ่งเป็นการเมืองที่อยู่ในอันดับล่างแล้วคนต้องการ รัฐสภาขับเคลื่อนมากน้อยแค่ไหนและอะไรที่นำไปสู่การปฏิบัติ และ 3.การปฏิรูประบบราชการโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การปฏิรูปตำรวจ หรือแม้กระทั่งการปฏิรูปสถาบันการเมืองอื่น รัฐสภาจะรับผิดชอบปฏิรูป หรือเสนอทางออกอื่นด้วยได้อย่างไร ข้อนี้สำคัญมาก

ตอนนี้รัฐธรรมนูญถูกปิดตายแล้ว ผู้นำการชุมนุมต่างๆ ก็ถูกจับกุม หมายความว่าชนชั้นนำในส่วนกลางของกรุงเทพฯ ปิดพื้นที่ทางด้านการเมืองหมดแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งจบลง เป็นการระงับแค่เฉพาะหน้า ต้องตระหนักว่าตอนนี้กระแสเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง คือ จุดเริ่มต้นที่ชัดเจน มันอาจจะเห็นผลได้ 5-10 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นแล้วรัฐสภาเองต้องมอง 3 ประเด็นหลักที่พูดถึงในตอนต้น ถ้าอยากให้รัฐสภาเป็นสภาที่แข็งแกร่งด้านการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image