ปชป.ชี้ ใช้ม.44ยุบสภาสร้างปัญหาเพิ่ม มั่นใจรัฐสภาเลือกนายกฯได้แน่

ปชป.เชื่อ รัฐสภาเลือกนายกฯได้แน่ แนะทำตามคำวินิจฉัยศาล รธน. ติงหากให้ ม.44 ยุบสภา เกิดปัญหาไม่จบสิ้น

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกฯได้ต้องใช้วิธีการตามรัฐธรรมนูญคือยุบสภา โดยรัฐบาลปัจจุบันและคณะรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถใช้มาตรา 44 ให้มีผลอยู่สามารถยุบสภาได้ ว่า คิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ที่รัฐสภา จะเลือกนายกฯ ไม่ได้ เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วทุกฝ่ายก็อยากให้ประเทศเดินหน้าคือ ต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนการใช้มาตรา 44 ในการยุบสภาหากเลือกนายกฯไม่ได้ คสช.คงใช้ได้ แต่ถามว่า เหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้หลังการเลือกตั้งแล้ว ตนเชื่อว่าเหตุการณ์ในลักษณะนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะทุกฝ่ายก็อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปได้อยู่แล้ว ซึ่งตนไม่ได้มองว่า การพูดของนายวิษณุเป็นการขู่ เพราะยังอีกไกล ไม่รู้ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร แต่ในฐานะนักกฎหมายอย่างนายวิษณุ คงอยากชี้ให้เห็นว่า กฎหมายใช้ช่องทางอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า น่าจะเลือกนายกฯได้ ดังนั้นปัญหานี้คงไม่เกิดขึ้น ไม่ต้องนำมาตรา44 มาใช้ และคงไม่มีใครสามารถพูดล่วงหน้าตั้งแต่รัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ได้เช่นกัน

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรค ปชป. กล่าวว่า น่าจะเป็นการโยนหินถามทาง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเดินตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน คือ ให้ ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อนายกฯในบัญชีพรรคการเมือง ถ้ากระบวนการเดินไปไม่ได้ ก็ให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อยกเว้นนายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ซึ่ง ส.ว. 250 ส.ส.อีก 150 เสียงก็เกินอยู่แล้ว ดังนั้นการยุบสภาจึงก็ไม่เกิด และการใช้มาตรา 44 ยุบสภา ก็จะก่อให้เกิดปัญหาไม่จบไม่สิ้น คนที่ลงนามในคำสั่งก็จะเสียหายการเมืองไม่ควรแก้ด้วยมาตรา 44 ซึ่งตนเชื่อในศักยภาพรัฐสภาชุดนี้ เพราะอยากให้บ้านเมืองเดินไปได้ และการที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติถึง 60 เปอร์เซ็นต์ และยังโหวตให้คำถามพ่วงผ่านอีก แปลว่าประชาชนเขาต้องการให้ ส.ว. มีโอกาสเลือกนายกฯ อย่างไรก็ตาม เห็นว่ารัฐบาลไม่ต้องเตรียมแก้ปัญหาล่วงหน้า เพราะเมื่อใดที่ ส.ส.เลือกนายกฯ จากรายชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายพรรคการเมืองไม่ได้ แปลว่า ส.ส.มีพวกไม่เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ลงรอยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ส.ว.ต้องมองเห็นว่าควรร่วมกับกลุ่มใดเพื่อโหวต ขอให้รัฐสภามีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 เพื่อให้สามารถเลือกนายกฯจากนอกบัญชีพรรคการเมืองได้

เมื่อถามว่า อาจทำให้รัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภาได้ นายวิรัตน์กล่าวว่า สภาเสียงข้างน้อยก็อยู่ได้ครบเทอมโดยไม่ต้องยุบสภา ซึ่งมีให้เห็นในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่รัฐบาลเสียงข้างน้อยต้องทำตัวเป็นเด็กดี ไม่ทุจริตการบริหารงานก็ไปได้ และประชาชนก็ต้องบีบให้ ส.ส.มาสนับสนุนรัฐบาล เพราะแม้จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากก็อยู่ไม่ได้ หากประพฤติไม่เหมาะสม หากผลประโยชน์เพื่อพวกพ้องก็อยู่ไม่ได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image