มท.1 ขับเคลื่อนขจัดความยากจน พัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

มท.1 ขับเคลื่อนขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เดินหน้าซักซ้อมทีมปฏิบัติการตำบลทั่วประเทศ เพื่อขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำให้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรม

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยระดับจังหวัด ไปยังศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด และถ่ายทอดผ่านระบบ DOPA Channel ไปยังที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ โดยมีนายอำเภอ คณะกรรมการฯ ระดับอำเภอ และทีมปฏิบัติการตำบล ร่วมรับฟังกว่า 400,000 คน

พล.อ.อนุพงษ์เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเสมอมา เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ผ่านกลไกกระทรวงและส่วนราชการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละด้าน ทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ สุขภาพ การศึกษา เป็นต้น รวมไปถึงในด้านแหล่งเงินผ่านกลไกธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และกองทุนของรัฐ เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ.) กองทุนด้านอื่นๆ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเข้าไปขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการแต่งตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) และทีมขับเคลื่อนระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ทีมพี่เลี้ยง” ซึ่งในการปฏิบัติงานระดับพื้นที่นั้น จะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหลายส่วนราชการ จึงขอให้นายอำเภอใช้กลไก ศจพ.อำเภอ ในการขับเคลื่อนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนครัวเรือนเป้าหมายให้สำเร็จตั้งแต่ระดับอำเภอ

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวต่อว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนที่กำหนดไว้ จึงได้สั่งการให้กรมการพัฒนาชุมชนเร่งชี้แจงทำความเข้าใจทีมเลขานุการระดับจังหวัด และดำเนินการปรับปรุงข้อมูลครัวเรือนให้สมบูรณ์แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และให้ทุกจังหวัดเร่งซักซ้อมทำความเข้าใจทีมปฏิบัติการตำบลดำเนินการ Re X-ray ทุกครัวเรือน เพื่อตรวจสอบว่ามีครัวเรือนไหนตกเกณฑ์ หรือมีปัญหาความเดือดร้อนต้องเข้าให้ความช่วยเหลือ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 พร้อมสั่งการให้กรมการปกครองแจ้งนายอำเภอมอบหมายให้ปลัดอำเภอเป็นผู้นำในการเสริมช่วยส่วนกรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้หารือกรณีการใช้จ่ายงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือ โดยให้ท้องถิ่นจังหวัดชี้แจงระเบียบ กฎหมาย ในการตั้งงบประมาณ ตลอดจนการบูรณาการร่วมกับรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ร่วมช่วยเหลือประชาชนผ่านกิจกรรม CSR ขององค์กร และให้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนเร่งสื่อสารสังคม เพื่อให้สังคมเกิดความรับรู้และเข้าให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา ให้บังเกิดผล เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุข นอกจากนี้ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ให้ดำเนินการโดยยึดตามกรอบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยพิจารณาสภาพปัญหาตามบริบทในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งฝ่ายเลขานุการจะได้ชี้แจงทำความเข้าใจร่วมกับกรุงเทพมหานครต่อไป

Advertisement

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการ เป็นรูปธรรมและยั่งยืนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยใช้ข้อมูล TPMAP 5 มิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านรายได้ ด้านการศึกษา และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ขับเคลื่อนโดย 1) เติมเต็มข้อมูลในระบบ TPMAP ให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ในประเทศ 2) ร่วมแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล/ครัวเรือน หาเป้าหมายวิกฤติและเยี่ยมบ้าน (Knock Knock) โดยจำแนกกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มเป้าหมายในระบบ TPMAP กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ (exclusion error) และกลุ่มครัวเรือนเปราะบาง ปี 2562 3) ร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบ TPMAP วิเคราะห์ข้อมูล นำไปสู่การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ ให้สอดคล้องกับปัญหา 4) ร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล โดยใช้ระบบ TPMAP โดยมีกลไก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด และกรุงเทพมหานคร (ศจพ.จ. และ ศจพ.กทม.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ และเขตในกรุงเทพมหานคร (ศจพ.อ. และ ศจพ.ข.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และจะได้มีการจัดตั้งทีมพี่เลี้ยงเพื่อดูแล ติดตามการแก้ปัญหาความยากจนของครัวเรือน

พล.อ.อนุพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กรมการพัฒนาชุมชน ศพจ.จังหวัด ศพจ.อำเภอ และทีมปฏิบัติการตำบล ดำเนินการสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาด้านอื่นๆ เพิ่มเติมเป็นด้านที่ 6 นอกเหนือจากข้อมูลจากระบบ TPMAP ทั้ง 5 มิติ เพื่อให้ครอบคลุมสภาพปัญหาที่อาจยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และขอให้คณะกรรมการศูนย์อำนวยการฯ ทุกระดับ และทีมปฏิบัติการฯ ตำบล ดำเนินการขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและเงื่อนเวลาที่กำหนดอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำเกิดมรรคผลเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ต้องนำสิ่งที่ประชาชนขาด เติมเต็มประชาชนให้ได้ หลังจากนี้ทุกกลไกต้องไปช่วยทำให้เกิดขึ้น และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image