บทนำ : เดินไปด้วยกัน

บทนำ : เดินไปด้วยกัน

การสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 39 ทำให้มองเห็นความพร้อมของภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปาฐกถาพิเศษ ระบุการเตรียมการพัฒนาประเทศระยะยาว 3 ส่วน ส่วนแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการสั่งเชื่อมต่อภูมิภาค ปฏิวัติขนส่งทางราง ทำระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งเสริมการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ส่วนที่ 2 นายกรัฐมนตรี ประกาศจุดยืนร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน ในที่ประชุม COP26 โดยประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึง 300 ล้านตันต่อปี เพราะเป็นประเทศกึ่งอุตสาหกรรม ประชาคมโลกอาจจะมีการปฏิเสธสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นกลาง ภายในปี 2065 และส่วนที่ 3 เชิญชวนให้มีการพำนักระยะยาวในประเทศไทย ที่เป็นผู้มีความมั่งคั่ง ผู้ที่มีความรู้ ผู้เกษียณอายุ และคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมพำนักอาศัยในไทย เริ่มได้ปีหน้า ตั้งเป้าหมาย 1 ล้านคน

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บรรยายพิเศษ โดยเชื่อว่าปี 2564 เศรษฐกิจจะเติบโต 1.1-1.2% มากกว่าที่กระทรวงการคลังคาดไว้ที่ 1% ส่วนปี 2565 คาดการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% มี 7 ปัจจัยหลัก คือ 1.การดูแลการแพร่ระบาดโควิด 2.การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 3.แรงกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือน 4.ภาคการส่งออก 5.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 6.การใช้จ่ายรัฐบาล และ 7.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

Advertisement

ขณะที่ภาคเอกชน โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถา มองโอกาส 5 ประการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.การค้าการลงทุน 2.การสร้างความเชื่อมั่นกับนานาชาติผ่านเวทีการประชุม APEC 3.การท่องเที่ยว 4.การจับจ่ายใช้สอยและการจ้างงานภายในประเทศ และ 5.ความท้าทายเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม หากฟังนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงค่าไฟฟ้าในปี 2565 จะปรับตัวสูงขึ้น โดยแสดงความเป็นห่วง เพราะประเทศไทยเพิ่งเปิดประเทศ เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤต 2 ปี ผลกระทบจากค่าไฟ ราคาน้ำมัน จะมีผลต่อราคาสินค้า และกระทบต้นทุนค่าใช้จ่าย ขณะที่รายได้เท่าเดิมหรือไม่เหมือนเดิม ซึ่งข้อกังวลนี้น่ารับฟัง และนำไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้การเดินหน้าทางเศรษฐกิจหลังโควิดครั้งนี้ จะก้าวไปพร้อมๆ กัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image