เดินหน้าชน : ‘เกมเปลี่ยน’

ความกังวลจากการประกาศควบรวมกิจการระหว่างค่ายดีแทคกับทรู สองผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ

คงหนีไม่พ้นเรื่องการทำให้ประชาชนมีทางเลือกน้อยลง อาจส่งผลให้ได้รับบริการที่ด้อยลงกว่าเดิมหรือไม่

เพราะภายหลังการควบรวมกิจการกันแล้ว สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของไทยจะพลิกโฉมทันที

จากเดิมเอไอเอสเป็นเจ้าตลาด มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด หรือมาร์เก็ตแชร์ 44.35% ของตลาดรวม อันดับ 2 ค่ายทรู มีส่วนแบ่งการตลาด 33.75% และดีแทค 20.18%

Advertisement

เมื่ออันดับ 2 กับ 3 มาควบรวมกันตั้งบริษัทใหม่ จะทำให้ “เกมเปลี่ยน” ทันที

ในแง่ดีก็จะเห็นได้ชัดเจน เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการเงินลงทุนสูง การร่วมมือกันย่อมทำให้มี
เงินลงทุนมากขึ้น และขยายโครงข่ายได้ดีกว่าเดิม

การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมหนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง และการขยายโครงข่าย รวมถึงลงทุนเรื่องเทคโนโลยี และบริการต่างๆ เป็นเรื่องจำเป็น

Advertisement

ดังนั้น เมื่อร่วมมือกัน เงินลงทุนย่อมมากขึ้น ทำเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคด้วยบริการดีขึ้น

สำหรับเงินลงทุนที่แต่ละบริษัทได้ประกาศไว้คือ ทรูมีแผนลงทุนโครงข่าย 5จี พ.ศ.2563-2565 กว่า 40,000-60,000
ล้านบาท

ส่วนดีแทค พ.ศ.2563 ลงทุน 8,000-10,000 ล้านบาท
ขยายโครงข่าย 5จี

เม็ดเงินเหล่านี้ไม่รวมค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่หลายหมื่นล้านบาท

ส่วนข้อเสียคือ ความกังวลว่าเมื่อการแข่งขันลดลง บริการก็อาจจะแย่ลงหรือไม่

เพราะเมื่อผู้เล่นในตลาดน้อยราย การแข่งขันย่อมน้อยลงอัตโนมัติ การออกแรงแข่งขันก็น้อยลง

เช่นเดียวกับกรณีทรูควบรวมกิจการกับดีแทค จะทำให้ในตลาดเหลือผู้เล่นหลักในตลาดเพียง 2 ราย

ย่อมมีโอกาสให้ทรูและดีแทคลดความจริงจังในการดำเนินธุรกิจ และกลายเป็นผู้บริโภคต้องรับผลเสียนี้

เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจโทรคมนาคมเกิดผู้เล่นรายใหม่ได้ยาก ดังนั้น เมื่อผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเกิด “ซูเอี๋ย” กัน

สุดท้ายผู้บริโภคอาจต้องเป็นฝ่ายง้อผู้ให้บริการ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เมื่อการใช้งานโมบายแบงกิ้ง การซื้อสินค้าออนไลน์ และธุรกรรมอื่นๆ บนโทรศัพท์มือถือมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน

ถ้าคุณภาพไม่ดี ราคาไม่ถูก ผู้บริโภคก็หนีไม่พ้นต้องเจอผลเสียจากการร่วมมือครั้งนี้

เป็นหน้าที่ของภาครัฐหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

จะต้องช่วยกันควบคุมกำกับดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบกับการให้บริการประชาชนแย่ลงไปกว่าที่เคยเป็น

สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เคยเกิดขึ้นในอิตาลี และสหรัฐอเมริกามาแล้ว

ทั้งสองประเทศดังกล่าวมีการควบรวมกันจนทำให้เหลือผู้ให้บริการในตลาดจาก 4 เหลือ 3 ราย

แต่หน่วยงานกำกับดูแลของทั้งสองประเทศออกกฎให้เปิดทางให้ผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาดำเนินกิจการจนครบ 4 รายเหมือนเดิม

เพราะมองว่าหากเหลือ 3 ราย อาจจะน้อยเกินไป มีโอกาสจะทำให้เกิดผลกระทบกับผู้รับบริการ

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเหลือ 2 ราย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดผลกระทบดังกล่าวหรือไม่

อาจจะเป็นผลดีก็ได้ เพราะจะทำให้ผู้ให้บริการกล้าลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี

บริการ 5จี จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน

ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะกำกับดูแลในการแข่งขันอย่างไร

ไม่ให้เกิดการผูกขาดของภาคเอกชน

ป็นความน่ากลัวยิ่งกว่าการผูกขาดจากภาครัฐ

หวังว่าบิ๊กดีลครั้งนี้คงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น แต่จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยี

ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น ในอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image