ทนายพร้อม 5 บิ๊กนปช. เตรียมขึ้นศาลค้านอัยการยื่นถอนประกัน ยันไม่ได้ทำผิดเงื่อนไข

ขอขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ค นายวิญญัติ ชาติมนตรี

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เเกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีที่วันที่ 3 ตุลาคม ศาลอาญานัดไต่สวนคำร้องที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายจตุพร, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ และนายนิสิต สินธุไพร 5 เเกนนำ นปช.ซึ่งเป็นจำเลยคดีก่อการร้าย จากกรณีจำเลยทั้ง 5 คนให้สัมภาษณ์ออกรายการ “มองไกล” ทางช่องพีซทีวี อันเป็นการสร้างความไม่สงบเเละผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวของศาลว่า จำเลยทั้ง 5 คนจะเดินทางมาศาลอาญาตามเวลานัดหมาย เท่าที่ทราบยังไม่มีจำเลยคนใดเเจ้งมาว่าติดเหตุขัดข้องเเต่อย่างใด ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมในวันพรุ่งนี้นั้น เราจะเตรียมคำคัดค้านเเละเหตุผลประกอบการไต่สวนว่าเราไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไข เเละในเรื่องของความชอบธรรมในการยื่นถอนประกันว่ามีความชอบธรรมหรือไม่ เเต่ตนเชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม

นายวิญญัติกล่าวต่อว่า การยื่นถอนประกันดังกล่าวเป็นการนำคดีที่กล่าวหากันเเล้วนำมาชี้ว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราว การยื่นถอนประกันที่ว่านี้จึงเป็นการตัดสินใจไว้ล่วงหน้าซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายเเละกระทบสิทธิของจำเลยเกินไป อีกทั้งบริบทการตั้งเงื่อนไขขณะนั้นกับเหตุการณ์ปัจจุบันนั้นมีความเเตกต่างกัน

นายวิญญัติกล่าวต่อว่า ในวันพรุ่งนี้จำเลยเเต่ละคนจะมีทนายคอยซักค้านเป็นของตัวเอง เเต่อาจจะมีการมอบอำนาจตัวเเทนเป็นทนายความคนเดียวขึ้นไปซักค้านหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ส่วนจะใช้เวลาไต่สวนเเค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับองค์คณะจะเป็นผู้วางเเนวทางการไต่สวน ส่วนเรื่องมวลชนที่ไปให้กำลังใจ คงมีจำนวนไม่มาก เพราะเเกนนำก็ไม่ได้ชวนใครไป และอยู่ในช่วง คสช.ปกครองบ้านเมือง

เมื่อถามว่า หากไต่สวนเสร็จในวันที่ 3 ตุลาคม ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวเลยหรือไม่ นายวิญญัติกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจขององค์คณะ แต่ในอดีตที่ผ่านมาซึ่งเคยมีการยื่นถอนประกันก็จะนัดวันฟังคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

นายวิญญัติกล่าวสรุปประเด็นที่จะคัดค้านอัยการว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากอัยการได้รับหนังสือของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งอ้างพฤติการณ์กล่าวหาว่าแกนนำให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นและกระทำการในหลายเรื่อง เข้าข่ายการฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ในการประกันตัว ห้ามการปราศรัยปลุกปั่น แต่ที่จริงแล้วคดีก่อการร้ายนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว หากจะมีการแจ้งพฤติการณ์ในกรณีอื่นซึ่งไม่ได้สืบเนื่องจากคดีก่อการร้ายนี้ และเรื่องนั้นดีเอสไอก็ยังไม่ได้รับเป็นคดีพิเศษ ดีเอสไอไม่มีอำนาจที่จะเสนอเรื่องให้อัยการดำเนินการยื่นคำร้อง เพราะหากมีผู้เสียหายจากการกระทำของแกนนำฯ ก็ชอบและควรที่ผู้เสียหายนั้นจะใช้สิทธิดำเนินการทางศาลเอง

อีกทั้งเห็นว่า การยื่นขอให้ถอนประกันนี้ไม่เป็นธรรม เสมือนการลงโทษทางอาญา ทั้งที่คดีก่อการร้ายและพฤติการณ์ต่างๆ ซึ่งถูกกล่าวหานั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิด โดยแกนนำ นปช.ในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ขณะที่ประเด็นหนึ่งซึ่งกล่าวถึงศูนย์ปราบโกงนั้น แกนนำ นปช.แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตในฐานะวิญญูชนและพลเมืองดี ที่ต้องการตรวจสอบการทุจริตเพื่อปกป้องบ้านเมือง

นอกจากนี้ บริบทในวันที่ศาลมีคำสั่งกำหนดเงื่อนไขการประกันคดีก่อการร้ายนั้น ก็มีความแตกต่างจากบริบททางการเมืองขณะนี้ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวการชุมนุม การปราศรัย โดยตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้มีการอ้างถึงพฤติการณ์ของแกนนำว่าพาดพิงบุคคล ทั้งกลุ่มผู้นำและกลุ่มที่มีความคิดเห็นตรงข้ามทางการเมือง ดังนั้นจะเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อจำกัดเสรีภาพแสดงความเห็นและอิสรภาพหรือไม่ และเป็นการกลั่นแกล้งของฝ่ายตรงข้ามที่มีความเห็นทางการเมืองต่างกันหรือไม่

Advertisement

นายวิญญัติกล่าวอีกว่า จะนำพยานบุคคลและหลักฐานที่มีมาแสดงต่อศาลเพื่อให้วินิจฉัย ซึ่งในส่วนของอัยการเบื้องต้นทราบว่ามีพยาน 7 ปาก โดย 2 ปากนั้นเป็นพนักงานสอบสวน ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ถอดเทป และผู้กล่าวโทษ ที่มีเพียงคนเดียวเรื่องศูนย์ปราบโกง คือ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image