‘สอดแนม’ข้อมูล ละเมิดสิทธิ-ภัยมั่นคง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน กรณีบริษัทแอปเปิลแจ้งอีเมล์เตือนว่าหน่วยโจมตีไซเบอร์สนับสนุนโดยรัฐ พยายามแฮกระบบโทรศัพท์มือถือ กลุ่มนักกิจกรรม นักวิชาการ และนักการเมือง

ยุทธพร อิสรชัย
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การแฮกข้อมูลส่วนตัวในสังคมออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ ขณะที่การควบคุมกำกับการใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ส่วนตัวได้ศึกษาวิจัยพบว่ามีลักษณะที่แตกต่างจากการควบคุมโดยหลักสากล ในหลักสากลการควบคุมอินเตอร์เน็ตโดยรัฐ เป็นสิ่งที่จะใช้กฎหมายและใช้กลไกของรัฐเพื่อดำเนินการ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาสาระที่อยู่ในอินเตอร์เน็ตเชิงบวกและลบ มีเนื้อหาที่ส่งกระทบต่อรัฐ หรือผลกระทบส่วนบุคคล

แต่การควบคุมอินเตอร์เน็ตก็คงไม่เป็นสิ่งที่รัฐจะใช้โอกาสนี้เพื่อละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ในประเทศไทยจะเห็นว่าการควบคุมไม่เกิดขึ้นในกลไกปกติ แต่จะมีสิ่งที่เรียกว่ารัฐเร้นลึก ในการที่จะมีส่วนสำคัญในการควบคุมกำกับการใช้งาน

Advertisement

ดังนั้นจึงเห็นได้ทั้งแนวคิด อุดมการณ์ในสังคมพื้นฐานแบบไทยๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงนี้จึงสวนทางกับอินเตอร์เน็ตที่เป็นโครงข่าย แต่โครงสร้างรัฐไทยมีการรวมศูนย์อำนาจ การใช้อินเตอร์เน็ตจึงไม่อยู่บนหลักในการคุ้มครองรักษาสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยรัฐไทยมุ่งรักษาคุ้มครองสิทธิที่เป็นความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าข้อมูลที่พบในงานวิจัย ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา การใช้อินเตอร์เน็ตในไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงข้ามเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตมีทิศทางที่ลดลงและสวนทางอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา ดังนั้นสิ่งที่รัฐพยายามควบคุมกำกับ
ก็มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของคณะรัฐประหาร ความมั่นคงในภาวะฉุกเฉิน หรือประเด็นตามมาตรา 112 เป็นหลัก จึงเห็นได้ว่ามุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจึงไม่ได้รับความสนใจมากนัก

Advertisement

สำหรับนักวิชาการที่ถูกเจาะข้อมูล จะมีผลกระทบ เนื่องจากในอินเตอร์เน็ตจะต้องมีการประเมินหรือศึกษาในเรื่องเสรีภาพ ในองค์กรระหว่างประเทศ ขณะที่ตัวเลขของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นมากมาย แต่สวนทางกับเสรีภาพในการใช้งาน

ล่าสุดเมื่อมีปัญหากับนักวิชาการก็มีคำถามกับเรื่องเหล่านี้ รวมถึงภาพลักษณ์ในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพ ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นภาพรวมของโลกแห่งความเป็นจริงด้วย นอกจากนั้นก็จะถูกถามถึงประเด็นการพัฒนาประชาธิปไตย

วันนี้รัฐต้องยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด เพราะอินเตอร์เน็ตมีการควบคุม 3 ระดับ ทั้งการควบคุมเชิงโครงข่ายในประเทศไทยมีการผูกขาดโดยรัฐ มีรัฐเป็นเจ้าของ ส่วนการควบคุมในระดับผู้ให้บริการ รัฐไม่สามารถดำเนินการควบคุมได้ เพราะจะมีผลกระทบกับผู้ที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง

สำหรับการควบคุมในระดับที่ 3 รัฐอาจควบคุมในระดับตัวบุคคลมากขึ้น เช่น การลงทะเบียนการใช้สื่อสังคมออนไลน์ แต่จะเป็นปัญหากระทบกับสิทธิเสรีภาพ

ในยุคปัจจุบันสิ่งที่จะควบคุมหรือป้องกันไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลต่างๆ แทบจะเป็นไปไม่ได้ จุดนี้รัฐต้องปรับเปลี่ยนมุมคิดหากต้องการจะควบคุมอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือการออกแบบการใช้อินเตอร์เน็ตโดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนึงถึงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ สำหรับบุคคลที่ทำผิดก็ใช้กลไกตามกฎหมายปกติ

ขณะที่ปัจจุบันมีคดีความที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตมากมาย เช่น การโอนเงิน การฉ้อโกง การขายสินค้าออนไลน์ การแฮกเงินในระบบการเงิน รัฐต้องให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ นอกจากจะสนใจเฉพาะความมั่นคงของรัฐ

ขณะที่กฎหมายปัจจุบันน่าจะมีเพียงพอทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่มีการเลื่อนการบังคับใช้หลายครั้ง

สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกที่รัฐใช้จัดการได้ เพียงแต่ว่ารัฐต้องปรับแนวคิดไม่เอากฎหมายเหล่านี้มาใช้เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ

แต่ต้องมองไปถึงความมั่นคงของบุคคลและสังคมในภาพรวม

โคทม อารียา
ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

แฮกเกอร์ที่เจาะข้อมูลระบบโทรศัพท์มือถือในระบบไอโอเอส คงต้องการเข้าไปดูข้อมูลการใช้งานเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสาร หากมีกรณีเกิดขึ้นจริงก็สามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลใด เป็นผู้ที่มีเจตนาเจาะระบบ

ดังนั้นผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายก็ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน หากพบว่าเป็นผู้เสียหาย ก็ต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ นอกจากนั้น กสทช.ก็ควรตรวจสอบให้ชัดเจนเช่นกัน

แต่สังคมอย่าเพิ่งฟันธงว่ากรณีที่นักกิจกรรมที่อยู่ตรงข้ามของรัฐบาล หากถูกแฮกข้อมูลจะต้องประเมินว่าเป็นฝีมือของคนในรัฐบาล เพราะอาจเป็นบุคคลอื่น กลุ่มอื่นที่ต้องการใช้ประโยชน์บางอย่างจากชุดข้อมูล หรือหากมองอีกด้านฝ่ายของรัฐบาลเองก็อาจจะโดนแฮกข้อมูลไปบ้างแล้วก็ได้ แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผย

สำหรับการแก้ไขปัญหานี้ ผู้มีอำนาจต้องศึกษาแนวคิดของนักปรัชญา เอมมานูเอล คาส เขียนถึงสันติภาพถาวร คาสเขียนไว้ชัดเจนว่าในฐานะนักวิชาการที่เสนอความคิดเห็นไม่น่าจะถูกเพ่งเล็งโดยผู้มีอำนาจ เพราะเป็นการเสนอความคิดเห็นต่อสาธารณะ ไม่มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง อาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ ก็ขอให้ผู้มีอำนาจเข้าใจว่าเป็นวิถีของนักวิชาการ อย่าดำเนินการอะไรที่ทำให้ปราศจากเสรีภาพ

นอกจากนั้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในต่างประเทศมีการโวยขึ้นมาว่ามีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมของประเทศอิสราเอล ขายซอฟต์แวร์ให้รัฐบาลต่างๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นพันธมิตร
กับอิสราเอล อ้างว่าใช้เพื่อแฮกข้อมูลโทรศัพท์ เอาไปใช้ป้องกันการก่อการร้าย ต่อมาซอฟต์แวร์ดังกล่าวมีการพัฒนาให้เจาะฐานข้อมูลได้ง่ายกว่าเดิม มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเจ้าของโทรศัพท์ไม่ต้องเปิดอ่านข้อมูล หลังจากนั้นพบว่ามีกระแสโจมตีแต่อิสราเอลก็ไม่ตอบโต้ ในที่สุดก็มีการระบุข้อมูลตรงกันของฝ่ายความมั่นคงในหลายประเทศระบุว่าอิสราเอลไม่ได้ผลิตซอฟต์แวร์เพื่อต้านการก่อการร้ายทั้งหมด เนื่องจากบางประเทศนำไปใช้สอดแนมพลเมืองที่มีพฤติกรรมไม่ชอบรัฐบาล

ขณะที่ประเทศไทยก็คงจะต้องสอบถามหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไร ต้องบอกให้ชัดว่ามีอุปกรณ์พิเศษที่นำไปใช้กับนักวิชาการหรือไม่ เบื้องต้นก็คงจะตอบว่าไม่มี แต่ถ้าหากมีการใช้จริงก็ต้องแนะนำให้ไปอ่านบทบทความของนักปรัชญา เพราะนักวิชาการไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์มากไปกว่ากระดาษกับปากกา มาถึงยุคนี้ก็บวกคีย์บอร์ดไว้พิมพ์ผ่านระบบการสื่อสารยุคใหม่กับสาธารณะ

ขณะที่วิธีคิดแบบโบราณของผู้มีอำนาจชอบคิดว่าเบื้องหลังเหตุการณ์อะไรก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น การก่อเกิดของกลุ่มมวลชนทะลุแก๊ซ ก็ต้องการไปหาบุคคลที่อยู่เบื้องหลังให้ได้ อยากรู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน

เหมือนกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นานกว่า 18 ปี ก็ชอบถามว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง มีการเสนอแนวคิดว่าหากจัดการบุคคลเหล่านั้นได้ เหตุการณ์จะยุติไม่มีปัญหาอีกต่อไป

แต่ความจริง ความสำเร็จคงไม่ได้เกิดจากชุดความคิดเรื่องการสอดแนมทั้งหมด วันนี้รัฐบาลต้องตอบให้ชัดว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้สงบจริงหรือไม่ หรือกลุ่มมวลชนที่ชุมนุมประท้วงรัฐบาลต่อเนื่องมายาวนาน
นับจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 หากมีการสอดแนมเพื่อรู้ข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลัง จะทำให้การชุมนุมยุติโดยสงบจริงหรือไม่

หรือรัฐบาลควรดูตัวเองก่อนหรือไม่ว่ามีอะไรเป็นข้อบกพร่อง!?!

อังคณา นีละไพจิตร
อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรื่องนี้เป็นการแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัวของบุคคล หากกระทำการโดยรัฐถือว่าผิดกฎหมาย ผู้เกี่ยวข้องต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพราะรัฐไม่มีอำนาจแทรกแซงความเป็นส่วนตัว นอกจากบุคคลนั้นเป็นปัญหาของภัยความมั่นคง

แต่จะต้องมีพยานหลักฐานอย่างชัดเจน ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายพยายามที่จะออกกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัว แต่รัฐยังไม่ประกาศใช้ ทราบว่าจะยืดระยะเวลาไปอีก 1-2 ปี

ดังนั้นคนไทยจึงไม่มีหลักประกันที่จะคุ้มครองความเป็นส่วนตัว สำหรับประเด็นนี้ขอให้มีการตรวจสอบให้ถึงที่สุด เพราะเชื่อว่าบริษัทผู้ผลิตมือถือต้องติดตามตรวจสอบเช่นกัน เพราะถือเป็นภัยคุกคามกับลูกค้าผู้ใช้เทคโนโลยี หากมีข้อมูลเปิดเผยว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่

ขณะที่หน่วยงานรัฐควรออกมายืนยันว่าประชาชนทุกคนจะได้รับความคุ้มครองในการใช้ระบบ ต้องแสดงความกล้าหาญด้วยการประกาศว่าจะไม่มีใครถูกแทรกแซงสิทธิความเป็นส่วนตัว สำหรับบุคคลที่ได้รับแจ้งข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตมือถือว่าถูกแฮก ก็ขอให้หน่วยงานรัฐติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตเพื่อขอรายละเอียดทั้งหมด ทำให้สิ้นสุดข้อสงสัยว่ารัฐเข้าไปแทรกแซงเองจริงหรือไม่ ทำแบบนี้ประเทศไทยก็จะได้รับการชื่นชม หรือถ้าพิสูจน์แล้วหากพบว่ารัฐมีส่วนร่วม ถือว่าเป็นการกระทำที่น่าละอาย และจะต้องประณามให้ถึงที่สุด

หากสังเกตในระยะหลัง ผู้ใช้มือถือระบบไอโอเอสจะได้รับโปรแกรมใหม่ให้ผู้ใช้อัพเดตอย่างต่อเนื่อง ต่างจากยุคแรกๆ เพราะทราบว่าที่ผ่านมาในหลายประเทศมีการแฮกข้อมูลผู้ใช้ บริษัทผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องคิดค้นโปรแกรมเข้าไปกีดกัน

สำหรับผู้ที่มีเป้าหมายจะแฮกข้อมูลส่วนบุคคลถือเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างชัดเจน ยกเว้นว่าบุคคลนั้นเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมหรือการก่อการร้าย แต่ไม่ว่ารัฐจะเข้าไปแทรกแซง ล้วงข้อมูล หรือใช้วิธีการอย่างไร หลายประเทศก็มีการก่อเหตุรุนแรงมาโดยตลอด ไม่สามารถป้องกันได้จริง เพราะการป้องกันการใช้ความรุนแรงหรืออาชญากรรมจากความขัดแย้ง ในหลักการจะต้องมีการพูดคุยเจรจา นำกระบวนการสันติภาพเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์

ประเทศไทยมีความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ความคิดทางการเมือง การแก้ปัญหาต้องหาวิธีการพูดคุย งดเว้นการใช้กฎหมายปราบปรามคนเห็นต่าง หากมีบุคคลใดออกมาแสดงความเห็นตรงข้ามกับรัฐไม่ควรจะเข้าไปสอดแนม ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย

จึงขอเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตมือถือนำข้อมูลมาเปิดเผย เพื่อทำให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของขบวนการที่แทรกแซงสิทธิและเสรีภาพ หากถึงที่สุดถ้าพบว่าภาครัฐเป็นผู้กระทำ ก็ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นการกระทำที่น่าละอาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image