ผุดแคมเปญล่าชื่อ จี้รัฐบาลประยุทธ์หยุดคุกคาม ‘แอมเนสตี้’-ชี้พันธกิจหลัก ที่มาเงินหนุน

ผุดแคมเปญล่าชื่อ จี้รัฐบาลประยุทธ์หยุดคุกคาม ‘แอมเนสตี้’-ชี้พันธกิจหลัก ที่มาเงินหนุน

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน สืบเนื่องวานนี้ (26 พฤศจิกายน) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีกลุ่มคนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้ขับไล่องค์การนิรโทษกรรมสากล (แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย) ว่าอยู่ระหว่างการตรวจสอบทางกฎหมายว่ามีความผิดอะไรหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย ว่ามีการจดทะเบียนไว้หรือไม่อย่างไร ซึ่งถ้าผิดก็ต้องยกเลิก ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังไม่มีการเคลื่อนไหวตอบโต้ประเด็นดังกล่าวนั้น

ล่าสุด มีรายงานว่า วันนี้ (27 พฤศจิกายน) เว็บไซต์ change.org ได้เผยแพร่คำร้องออนไลน์ที่สร้างโดย Nattharavut Muangsuk เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องหยุดคุกคามองค์กรแอมเนสตี้ ประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

หลังจากมีประชาชนผู้สนับสนุนรัฐบาลกลุ่มหนึ่งในชื่อ กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบัน และกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลขับไล่องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Amnesty International หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล สำนักงานประเทศไทยออกไปจากการทำหน้าที่ป้องกันและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยใช้ทัศนคติที่ล้าหลัง คลั่งชาติ แสดงการต่อต้านอย่างน่าละอาย และหลังจากที่ยื่นหนังสือกับตัวแทนรัฐบาลคือ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือนายแรมโบ้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับพบว่าตัวแทนรัฐบาลผู้นี้ยังแสดงออกซึ่งการสนับสนุนให้คุกคามองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยประกาศใช้ตำแหน่งของตนเดิมพันในการขับไล่องค์การนิรโทษกรรมสากลออกไปจากประเทศไทย หลังจากนั้นก็ยังพบคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บอกว่ากำลังสั่งให้ตรวจสอบเบื้องหลังขององค์กร Amnesty ด้วยเชื่อว่ากำลังมุ่งทำร้ายประเทศไทย ทำให้เชื่อได้ว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ Amnesty International ประจำสำนักงานประเทศไทย ต้องเผชิญแรงกดดัน และความไม่ปลอดภัยจากรัฐบาลนี้มากขึ้น ในนามประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก และแสวงหาความยุติธรรมให้ผู้ถูกล่วงละเมิดสิทธิขององค์กร Amnesty International ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดแสดงออกซึ่งการคุกคามกลุ่มคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หยุดอ้างความเป็นประเทศที่มีความแปลกแยกจากชาวโลก เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด หรือวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือศาสนาใด และหันมาให้ความสำคัญในการป้องปรามการละเมิดสิทธิมนุษยชน แสดงออกซึ่งความมุ่งมั่นขจัดการเลือกปฏิบัติในการกระบวนการยุติธรรม หยุดใช้อำนาจกฎหมายคุกคามกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง หยุดส่งเสริมหรือให้ท้ายมวลชนของตนเอง อ้างความเป็นคนไทยไปแสดงออกอย่างไร้อารยะต่อองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งหากข้อบกพร่องทั้งหมดนี้ของรัฐบาลถูกแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จะลดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจะไร้บทบาทสำคัญในประเทศที่มีการส่งเสริมด้านสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง หากแต่ปัจจุบันบทบาทของรัฐบาลไทยต่อเรื่องนี้กลับเป็นไปในทางลบในเวทีโลก เพราะการกระทำที่ยังละเมิดสิทธิพลเมืองของตนเองอย่างรุนแรง และแสดงออกในการคุกคามองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนปัญหาและหยุดการกระทำในเรื่องนี้โดยเร่งด่วน

Advertisement

โดยเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์ต้องหยุดคุกคามองค์กรแอมเนสตี้ประเทศไทย
ได้ที่ https://chng.it/mM2HmNsxTK

ด้าน “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” ได้โพสต์ข้อความผ่านทางแฟนเพจ “Amnesty International Thailand” เปิดที่มาขององค์กร และเผยแพร่แถลงการณ์แอมเนสตี้และปฏิบัติการด่วนย้อนหลัง 10 ปี เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจหลัก ความว่า

Advertisement

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เราเป็นขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก ที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน

เรามีพันธกิจในการศึกษาและปฏิบัติการเพื่อป้องกันและยุติปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกระดับ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้มีเสรีภาพในการแสดงออกและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ โดยกิจกรรมรณรงค์ของเรามีรากฐานมาจากงานวิจัย

ไม่ว่าคุณจะมีความคิด ความเชื่อ หรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด หากคุณถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเราจะออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของคุณ และวันนี้ เราขอชวนคุณร่วมย้อนอ่านแถลงการณ์และปฏิบัติการด่วน (บางส่วน) จากเรา เพื่อผลักดันสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

แอมเนสตี้ยืนหยัดเคียงข้างสิทธิมนุษยชนและผู้ถูกละเมิดสิทธิมากว่า 60 ปี

สำหรับตัวอย่าง แถลงการณ์ด่วนของแอมเนสตี้ อาทิ
19 เมษายน 2553 แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์กรณีทหารไทยพยายามสลายผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
25 ตุลาคม 2555 แอมเนสตี้ จี้ ผู้รับผิดชอบกรณี ‘ตากใบ’ ต้องถูกนำมาลงโทษ
11 มกราคม 2556 ปฏิบัติการด่วน : บรรณาธิการไทย เสี่ยงจะถูกตัดสิทธิลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม
16 พฤษภาคม 2557 แอมเนสตี้ เรียกร้องไทยสอบสวนคดีเอ็ม 79 ใส่ กปปส.
21 พฤษภาคม 2557 แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์ชี้กฎอัยการศึกต้องไม่เป็น “พิมพ์เขียวให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
24 พฤษภาคม 2557 แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์ ชี้การจับกุมผู้ชุมนุม สร้าง “บรรทัดฐานที่อันตราย” ย้ำให้กองทัพไทยต้องแสดงความระมัดระวัง
28 พฤษภาคม 2557 แอมเนสตี้ออกปฏิบัติการด่วนชวนคนทั่วโลกยื่น 4 ข้อเรียกร้องถึงหัวหน้า คสช.
2 กรกฎาคม 2558 แอมเนสตี้ออกปฏิบัติการด่วน เรียกร้องไทยปล่อย 14 น.ศ. ระบุทั้งหมดเป็นนักโทษทางความคิด
7 กรกฎาคม 2559 ยื่น 4 หมื่นชื่อหยุด #SingleGateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์
6 ธันวาคม 2560 แอมเนสตี้ ชวนทั่วโลกเรียกร้องไทยยุติดำเนินคดีชาวบ้าน ค้านโรงไฟฟ้าเทพา
22 พฤษภาคม 2561 แอมเนสตี้ ทวงสัญญา คสช. ยกเลิกคำสั่งที่จำกัดสิทธิภายในเดือนมิถุนายนนี้
30 สิงหาคม 2562 แอมเนสตี้ ออกแถลงการณ์ ให้ไทยกำหนดกฎหมายเอาผิดทางอาญา กับการบังคับบุคคลให้สูญหาย
19 พฤษภาคม 2563 แถลงการณ์แอมเนสตี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี พฤษภา 53 ย้ำความยุติธรรมยังมาไม่ถึง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : บิ๊กตู่ สั่งดูข้อกม.จัดการแอมเนสตี้ฯ ถ้าผิดต้องยกเลิก ลั่นไม่ยอมใครทำร้ายประเทศ

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คือขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน เป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ NGO ที่เข้ามาบทบาทในประเทศไทย จากการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็ยังคงมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงขอพาทำความรู้จักผ่าน 6 ความจริงที่หลายคงยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

  • แอมเนสตี้เข้ามามีบทบาทในไทยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

นับแต่เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 จนทำให้กลายเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทย และยังเป็นความทรงจำอันมืดมนของใครหลายๆ คน และเหตุการณ์ในวันนั้นเองที่ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวไทยในนามองค์กรนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะจดหมายนับแสนฉบับที่ถูกส่งมายังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการประท้วง ซึ่งจดหมายเหล่านั้นล้วนแต่มาจากผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลก

และใน พ.ศ.2536 เป็นครั้งแรกที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างจริงจัง มีการเลือกตั้งคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ที่สนใจสิทธิมนุษยชนแขนงต่างๆ ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และจดทะเบียนในฐานะสมาคมตามกฎหมายไทยภายใต้ชื่อ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อร่วมทำงานพัฒนาสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรมด้วยความร่วมมือจากผู้สนับสนุนทุกคนในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2546

  • สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

หลายคนยังคงมีความเข้าใจผิดที่ว่าตั้งอยู่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในความเป็นจริง แอมเนสตี้มีจุดกำเนิดมาจาก ปีเตอร์ เบเนนสัน ทนายความชาวอังกฤษ ผู้เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกส 2 คน ที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับติดคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ ดังนั้น สำนักงานใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

  • เงินสนับสนุนของแอมเนสตี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งอาจทำให้หลายคนสงสัยว่า เรามีเงินจัดกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างไร และบางคนมีความเข้าใจผิดที่ว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่รับเงินมาจากรัฐบาลต่างประเทศ แต่ในความเป็นจริง เงินทุนสำหรับการจัดกิจกรรมของเราล้วนแต่มาจากการรับบริจาคของบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน และค่าสมัครสมาชิกในแต่ละปี เพราะแอมเนสตี้เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร และปฏิเสธที่จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแหล่งทุนอื่นๆ

  • เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง

รณรงค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมือง หรือลัทธิใดๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น เนื่องจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีพันธกิจเพียงเพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบใด แอมเนสตี้ก็ยังต้องทำงานเพื่อเรียกร้องหรือกดดันให้ประเทศนั้นๆ ยกระดับและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน โดยไม่มองว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งหรือว่ารัฐประหาร เพราะทุกระบอบการปกครองล้วนมีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

  • มีสำนักงานกระจายตัวอยู่ทั่วโลก

เนื่องด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมปัจจุบันยังคงมีผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิอยู่มากมาย จึงทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มีสมาชิกและผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคน ในกว่า 150 ประเทศทั่วโลก และมีสำนักงานกระจายตัวอยู่กว่า 70 ประเทศ ยังคงต้องยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกันทางด้านสิทธิมนุษยชน และการที่เรามีสำนักงานกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศ ก็สามารถทำให้เราทราบได้ว่าสถานการณ์ของโลก ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร

  • ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 60 ปี

ตลอดระยะเวลาการทำงานเพื่อสังคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ ให้เกิดความเท่าเทียมมากกว่าที่เป็น จนทำให้เกิดความสำเร็จมากมาย อาทิ การได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการปกป้องเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลกในปี 2520 หรือล่าสุด ฆาลิด ดราเรนี นักข่าวชาวแอลจีเรีย ได้รับการปล่อยตัว หลังจากถูกคุมขังเพียงเพราะทำหน้าที่รายงานข่าวเมื่อปี 2563

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคคลที่ถูกละเมิด เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีความเท่าเทียม ไม่ควรมีใครถูกกดให้ต่ำลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image