แฟลชสปีช : เหตุแห่ง‘สภาล่ม’

กลายเป็นเรื่องที่ควรกำหนดเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว “สภาผู้แทนราษฎรไม่ครบองค์ประชุม” เกิดเป็นการถกเถียงกันให้วุ่นวายว่าเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดกันแน่ที่จะต้องทำให้การประชุมดำเนินต่อไปได้

ฝ่ายค้านบอกว่า เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะต้องควบคุมให้องค์ประชุม ฝ่ายค้านมีหน้าที่แค่มาเสนอความคิดความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อเนื้อหาในวาระการประชุม ไม่มีหน้าที่อะไรกับการรักษาองค์ประชุม

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลชี้ว่าเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกคนที่จะต้องทำให้สภาผู้แทนราษฎรแสดงบทบาทในฐานะหนึ่งของอำนาจอธิปไตยได้

กลายเป็นปัญหาโลกแตกที่เถียงกันไม่จบ

Advertisement

ว่าไปแล้วก่อนหน้านั้นไม่มีปัญหานี้ เพราะ ส.ส. ทั้งสองฝ่ายอะลุ้มอล่วยกัน ต่างรับรู้ว่าเข้ามาทำหน้าที่แทนประชาชน เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามาด้วยกัน

การประชุมวาระใดมีเรื่องที่จะพูด เพื่อเสนอข้อมูลและความคิดก็จะเข้ามา การรับฟังเนื้อหาว่าเพื่อนสมาชิกเสนออะไรบ้างสามารถติดตามได้จากข่าวสารตามช่องทางต่างๆ และถึงเวลาก็มาแสดงตนเพื่อโหวตในวาระที่ต้องแสดงตน

การเสนอให้นับองค์ประชุมนั้นมีน้อยมาก

เป็นแค่เรื่องของเกมการเมือง ในวาระที่ฝ่ายค้านเห็นว่ารัฐบาลจะใช้เสียงข้างมากลากไป
เกิดการโหวตที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติขึ้นเท่านั้น

ที่อะลุ้มอล่วยกันได้ เพราะทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างให้ความเชื่อถือในผลการเลือกตั้งว่ามีความเป็นธรรมในการสะท้อนการตัดสินใจของประชาชนอย่างแท้จริง

จึงต่างคนต่างมุ่งที่จะรักษาความเป็น “ผู้ทรงเกียรติ” ที่มาจากการเป็น “ผู้แทนประชาชน” ไว้

การศรัทธาในความเป็นธรรมของการจัดการเลือกตั้งทั้งระบบยังพอที่จะทำให้ทุกฝ่ายรับได้
ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนต่างมองตาแล้วรู้ใจ อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

ทว่าในยุคสมัยนี้ไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว

การออกแบบเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” โดยเขียนกติกาขึ้นมาด้อยค่าการตัดสินใจของประชาชน

ดีไซน์กติกาขึ้นมาเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคพวกตัวเอง และใช้เป็นอาวุธทำลายล้างคู่ต่อสู้

กระบวนการจัดการเลือกตั้งถูกตั้งข้อครหาในเรื่องศรัทธา

“อำนาจและการตัดสินใจของประชาชน” ถูกด้อยค่า

นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง และที่ใช้การตีความกฎหมายอย่างบิดเบี้ยวส่งบริวารเข้ามา
ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน

หลังจากนั้นเกิดกระบวนการซื้อตัว ส.ส. อันอธิบายไม่ได้ว่าเป็นไปตามหลักการเคารพการตัดสินใจของประชาชนอย่างไร

เหล่านี้คือ “การสร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในบทบาทของผู้แทนราฎร”

เป็นธรรมดาอยู่เองที่ เมื่อเกิดการปฏิบัติต่อกันด้วยความไม่ชอบธรรม ใช้อำนาจที่เหนือกว่าเข้าข่มบังคับ

การอะลุ้มอล่วยต่อกันก็จบลง ด้วยว่าใครจะไปยอมก้มหัวให้กับพวกที่คิดแต่จะใช้อำนาจ
เอาเปรียบ

การแก้ไขที่จะนำการทำงานร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกลับมา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงความเป็นธรรมต่อกันที่หายไป

และนั่นหมายถึง ไม่มีทางที่คนแบบ “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” จะสร้างให้เกิดขึ้นได้ เพราะด้วยความคิดที่แสดงออกมา มีแต่จะทำให้การทำงานร่วมกันเลวร้ายยิ่งขึ้น

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งยินดีปรีดากับการสร้างระบบสืบทอดอำนาจด้วยกลไกที่ด้อยค่าประชาชนไม่มีวันจะเข้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image