ยิ่งค่ำ ยิ่งคึก! เดินแฟชั่นสุดอลังการ ม็อบจี้ปรับถ้อยคำ ‘สามีภรรยา’ เป็น ‘คู่สมรส’ เพื่อความเป็นกลางทางเพศ

ยิ่งค่ำ ยิ่งคึก! เดินแฟชั่นสุดอลังการ ม็อบจี้ปรับถ้อยคำ ‘สามีภรรยา’ เป็น ‘คู่สมรส’ เพื่อความเป็นกลางทางเพศ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน บรรยากาศกิจกรรม ‘ม็อบสมรสเท่าเทียม’ โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยและเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศในนามภาคีสีรุ้ง 43 องค์กร ที่แยกราชประสงค์ เมื่อเวลา 17.40 น. มีกิจกรรมของกลุ่ม snap me! ซึ่งทำการวาดรูปลวดลายดอกไม้ลงบนกระดานวาดภาพที่มีสีรุ้งระบายอยู่ และมีข้อความว่า ‘1,000,000 รายชื่อ สมรสเท่าเทียม’ และเดินถือบอร์ดวาดรูปดังกล่าวบนพื้นที่ปูด้วยธงสีรุ้ง จากนั้น เปิดกิจกรรมการเดินแฟชั่นโชว์ด้วยโชว์ร้องเพลง Chandelier ของศิลปิน Sia และมีการเดินแฟชั่นโชว์ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ บริเวณหน้าเวทีปราศรัย หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ บนลานที่ปูด้วยธงสีรุ้ง โดยมีการร้องเพลงสากลจังหวะสนุกสนานตลอดการเดินแฟชั่นโชว์

ผู้ร่วมเดินแฟชั่นโชว์บางคนได้ถือป้ายข้อความ อาทิ ‘WILL YOU MARRY ME’ should be for everyone และ TRANS MEN ARE MEN. TRANS RIGHTS=HUMAN RIGHTS เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมสมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน เป็นการร่วมมือกันระหว่างประชาชนในการเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 และ 6 เปลี่ยนคำในกฎหมายเป็นคำที่เป็นกลางทางเพศ (Natural Gender) และแก้ไขจากการสมรสระหว่างชายและหญิงมาเป็นการสมรสของบุคคลกับบุคคล เปลี่ยนจากบิดามารดามาเป็นคำว่าบุพการี แล้วสามีภรรยามาเป็นคำว่าคู่สมรส เพียงเท่านี้ก็ทำให้คู่รัก LGBTIQN+ สามารถเข้าถึงกฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ร่วมลงชื่อผ่านระบบอนไลน์แล้วกว่า 144,800 รายชื่อ โดยตั้งเป้าหมายรายชื่อทั้งหมดอยู่ที่ 1,000,000 รายชื่อ โดยรายละเอียดหลักของข้อเรียกร้องได้แก่

Advertisement

1.สมรสเท่าเทียม ไร้ข้อจำกัดเรื่องเพศ ปรับอายุขั้นต่ำจดทะเบียนสมรสได้จาก 17 เป็น 18 ปี ข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. จากภาคประชาชน เสนอแก้ไขมาตรา 1448 ที่กำหนดให้การสมรสกระทำได้ระหว่าง “ชายและหญิง” เป็นการสมรสต่อ “บุคคลสองคน” และเสนอแก้เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการจดทะเบียนสมรส จากที่ ป.พ.พ. ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ กำหนดไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ แต่ข้อเสนอแก้ไข ป.พ.พ. จากภาคประชาชน ปรับเกณฑ์อายุในการจดทะเบียนสมรสไปที่ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสของผู้ที่อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ก็ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (บิดา-มารดา)

2.คู่สมรสต้องดูแลกัน จัดการสินสมรสร่วมกัน รับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายได้ ปรับถ้อยคำให้มีความเป็นกลางทางเพศ โดยใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามีภริยา” โดยกำหนดให้คู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่ว่าเพศใดต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน คู่สมรสไม่ว่าเพศใดย่อมมีสิทธิในการรับมรดกจากคู่สมรสอีกฝ่ายเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต แม้ว่าอีกฝ่ายจะไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ก็ตาม

3.คู่สมรสรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลของคู่สมรสได้ และเสนอแก้ไขคำว่า “บิดา-มารดา” เป็น “บุพการี” เพื่อความเป็นกลางทางเพศ เมื่อคู่สมรสรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน ก็จะมีความสัมพันธ์ต่อบุตรบุญธรรมในฐานะบุพการี ต้องดูแลอุปการะเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม ด้านบุตรบุญธรรมจะมีสถานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น สามารถใช้นามสกุลของคู่สมรสที่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมได้
4.คู่สมรสมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐ เท่าที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิแก่ “คู่สมรส”

Advertisement

ทั้งนี้ ระบบกฎหมายในปัจจุบันยังยอมรับการสมรสแค่เฉพาะเพศกำเนิดชาย-หญิง ส่งผลต่อการจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์บางอย่างที่เชื่อมโยงกับสถานะความเป็นคู่สมรส ทำให้มีแค่คู่สมรสชาย-หญิงเท่านั้นที่มีสิทธิเหล่านั้น เช่น การรับประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ.2553

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image