‘ปิยบุตร’ แถลง 6 ข้อวิจารณ์คำวินิจฉัยศาล รธน.คดีล้มล้างการปกครอง ชี้น่าจะมีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

‘ปิยบุตร’ แถลง 6 ข้อวิจารณ์คำวินิจฉัยศาล รธน.-3 ข้อสังเกตผลสืบเนื่อง-3 ข้อเสนอประนีประนอมถึงทุกฝ่าย ลั่นคำตัดสินจะมีผลผูกพันทุกองค์กร ถ้าชอบตาม รธน. อัดตีความเกินอำนาจ-แต่งเติม ปวศ.-ยกคำสวยหรูผิดหลักการ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่อาคารอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แถลงกรณีที่มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็มลงในราชกิจจานุเบกษา คดีการกระทำของ 3 แกนนำที่ปราศรัยในการชุมนุม 10 สิงหาคม 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่าหลังจากได้อ่านโดยละเอียดแล้วไม่เห็นด้วย และมีข้อวิจารณ์หลายประเด็น จึงขอใช้เสรีภาพการวิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 6 ข้อวิจารณ์คำวินิจฉัย และ 3 ข้อสังเกตซึ่งจะเป็นผลสืบเนื่องจากคำวินิจฉัยนี้

นายปิยบุตรกล่าวว่า ข้อวิจารณ์ที่ 1 คือการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้ชี้แจงแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในศาลระบบกฎหมายมหาชน ใช้วิธีพิจารณาความแบบไต่สวนเป็นหลัก โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดก็คือหลักการรับฟังการต่อสู้โต้แย้งของคู่ความ แต่คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญนำข้อเท็จจริงหลากหลายเรื่องราวมาวินิจฉัยไปทางไม่เป็นคุณต่อผู้ถูกร้อง นำข้อเท็จจริงเรื่องอื่นที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์ 10 สิงหาคม 2563 มาอ้างหลายครั้ง และกรณีนี้ผู้ถูกร้องไม่มีโอกาสชี้แจงอย่างเพียงพอว่าการกระทำหมายความว่าอย่างไร มุ่งหมายปฏิรูปอย่างไร

นายปิยบุตรกล่าวว่า ข้อวิจารณ์ที่ 2 คือศาลรัฐธรรนูญได้นำการกระทำอื่นที่ไม่ใช่วัตถุแห่งคดีมาวินิจฉัย ซึ่งคดีนี้จะต้องเริ่มต้นว่าการกระทำใดเป็นการกระทำที่ถูกร้อง การกระทำใดเป็นวัตถุแห่งคดีที่จะนำมาพิจารณา ซึ่งในตัวคำวินิจฉัยก็ยืนยันเอาไว้ว่ารับคำร้องเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งพูดชัดว่าเฉพาะแค่นี้เท่านั้น ไม่สามารถนำการกระทำในวันอื่น เวลาอื่น ของบุคคลอื่นมาเป็นข้อเท็จจริงเพื่อใช้พิจารณาได้ แต่เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยพบว่าศาลนำข้อเท็จจริงอื่นมาพิจารณา

นายปิยบุตรกล่าวต่อว่า ข้อวิจารณ์ที่ 3 คือการเขียนคำวินิจฉัยที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ เช่น ศาลอธิบายการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี 2475 แล้วสรุปว่าคณะราษฎรเรียกรูปแบบการปกครองระบอบนี้ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งไม่ตรงตามประวัติศาสตร์ เสมือนศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างเสียใหม่ ข้อวิจารณ์ที่ 4 คือศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างหลักเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งคำนี้เกิดจากการปฏิวัติฝรั่งเศส และต่อมาก็รับรองเป็นคำขวัญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส และเป็นหลักการที่เกิดขึ้นของสาธารณรัฐ จึงเป็นส่วนที่ย้อนแย้งมาก ที่นำมาใช้ปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคำว่า “ภราดรภาพ” ไม่ได้หมายความว่าสามัคคี แต่หมายถึงการเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ การร่วมทุกข์ร่วมสุขของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

Advertisement

ข้อวิจารณ์ที่ 5 คือการให้เหตุผลอย่างไม่สมเหตุสมผลว่า ข้อเรียกร้องบางข้อนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เพราะการยกเลิก หรือแก้ไข ม.6 หรือการยกเลิก หรือแก้ไข ป.อาญา ม.112 ไม่ได้ทำให้สถานะพระมหากษัตริย์เปลี่ยนไป ตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้ได้รับการเคารพมากยิ่งขึ้นอีก ถ้ามีการระบุไปให้ชัดว่ารัฐมนตรีจะเป็นผู้รับผิดชอบ

“และ ข้อวิจารณ์ที่ 6 ออกคำบังคับเกินอำนาจ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการกระทำใดเป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้าง ศาลก็มีอำนาจออกคำบังคับคือวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งเกินกว่าอำนาจ 2 ข้อ คือ 1 สั่งไปถึงกลุ่มองค์กรเครือข่าย เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ถูกร้องทั้งสามคน และ 2 สั่งการให้เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดในอนาคต ซึ่งเกินขอบเขต ไม่เฉพาะการกระทำเมื่อ 10 สิงหาคม 2563

“ด้วยเหตุผลทั้ง 6 ข้อ ผมจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะมีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น มาตรา 211 วรรค 4 ที่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น จะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย ถ้าไม่ชอบ มันจะไม่มีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งหากบอกว่าคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบให้ผูกพันนั่นจะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยเกินรัฐธรรมนูญแล้วมีผลบังคับทุกคนได้

Advertisement

“และหากเป็นอย่างนี้ จะเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายอำนาจเกินรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และนานวันเข้าจะผูกขาดการตีความรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว หากวันหนึ่งเกิดเขียนให้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และตกทางทิศตะวันออกแบบผิดธรรมชาติ มันจะต้องมีผลผูกพันทุกองค์กรอย่างนั้นหรือ” นายปิยบุตรกล่าว

นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า สำหรับข้อสังเกตจากผลสืบเนื่องของคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้ก็อาจมีองค์กรของรัฐยึดถือไปใช้และหากใช้มีผลในทางกฎหมาย คาดว่าจะมีผลสืบเนื่องตามข้อสังเกต 3 ประการ คือ 1.การใช้คำวินิจฉัยนี้เป็นฐานดำเนินคดีอาญา หรือยุบพรรคการเมืองต่างๆ จะมีการร้องรับกันไปเป็นลูกระนาด แต่หากจะอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญพูดไว้แล้วว่ามีความผิดผูกพันทุกองค์กร ก็จะเป็นตรรกะที่ประหลาดที่สุด และประเทศนี้ก็ไม่ต้องมีศาลอะไรเลยก็ได้ มีศาลรัฐธรรมนูญเพียงศาลเดียวพอ

นายปิยบุตรกล่าวว่า ข้อ 2 การใช้เสรีภาพในการรณรงค์ปฏิรูปสถาบันจะมีความคลุมเครือ การเรียกร้องยกเลิก 112 มีปัญหาว่าจะทำได้หรือไม่ ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจะทำได้หรือไม่ ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนขึ้น และข้อ 3 การใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนในการนำเสนอประเด็นปฏิรูปสถาบัน กรณีนี้สืบเนื่องจาก กสทช.เชิญตัวแทนสื่อพบเพื่อหารือทำความเข้าใจ และขอความร่วมมือระมัดระวังนำเสนอ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเสรีภาพสื่อมวลชนยังทำได้อยู่ และยิ่งสถานการณ์แบบนี้สื่อยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงบทบาท ทำให้ความเห็นต่างคลี่คลาย นั่นคือเปิดเสรีภาพให้มีการพูดคุยอย่างสันติ

นายปิยบุตรกล่าวด้วยว่า ข้อเสนอเพื่อการประนีประนอมถึงทุกฝ่าย ได้แก่ 1.ถึงฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปสถาบัน จำเป็นต้องปรับวิธีการรณรงค์เรียกร้องเสียใหม่ และจำเป็นต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรให้ฝ่ายอนุรักษนิยมยอมที่จะฟัง ยอมที่จะถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล 2.ถึงสภาผู้แทนราษฎร และพรรคการเมืองต่างๆ ต้องแสดงบทบาทในฐานะผู้นำวาระให้กับสังคม และ 3.ฝ่ายอนุรักษนิยม จำเป็นต้องเปิดใจและเปิดพื้นที่ให้กว้างกว่านี้ และใช้หลักเมตตาธรรมในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งนี่แหละคือคำว่าภราดรภาพที่แท้จริง เราไล่ใครออกจากประเทศนี้ไม่ได้ จึงอยากให้เห็นแก่บ้านเมือง เปิดพื้นที่และทำความเข้าใจให้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image