ก้าวไกล ตั้งธง ออกแบบระบบเลือกตั้ง สร้างฐานพรรคให้เข้มแข็ง-ยุบยาก

‘ก้าวไกล’ รอถก ร่างกม.ลูก 2 ฉบับ 7 ธ.ค.นี้ ตั้งธงออกแบบระบบเลือกตั้ง สร้างฐานพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง-ยุบยาก

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ของพรรคก.ก. ว่า ขณะนี้ต้นร่างของพรรคก.ก.เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้เข้าที่ประชุมส.ส. เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แต่มีข้อสังเกตและความเห็นค่อนข้างหลากหลาย ที่ประชุมส.ส.จึงให้คณะทำงานไปปรับปรุงร่าง โดยจะนำเข้าที่ประชุมส.ส.อีกครั้งในวันที่ 7 ธันวาคม ซึ่งโดยหลักการแล้วจะเน้นให้ระบบการเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมจริงๆ และต้องการให้พรรคการเมืองเป็นพรรคมวลชน เติบโตโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีกติกามาล็อกว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้จนมากเกินไป ตั้งง่าย เติบโตง่าย และยุบยาก ส่วนรายละเอียดอื่นๆ คณะทำงานกำลังจัดทำอยู่ ซึ่งประเด็นที่ที่ประชุมมีความเห็นหลากหลายกัน เช่น เรื่องไพรมารีโหวต แต่โดยหลักแล้วจะต้องให้การคัดสรรง่าย มีระบบกลั่นกรองที่อิงกับประชาชน อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ได้เคาะประเด็นนี้

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า เรื่องไพรมารีโหวต ส่วนตัวมองว่าการเติบโตของพรรคต้องเติบโตโดยธรรมชาติ ถ้าจะให้ได้ผลจริงๆ สมาชิกต้องมีจำนวนมาก เช่น เขตหนึ่งมีเป็นหมื่นคน สมาชิกที่มาโหวตเลือกตัวแทนต้องเป็นสมาชิกที่ทำกิจกรรมกับพรรคมาระยะหนึ่ง ก็จะได้ตัวแทนที่ตัดอำนาจของกรรมการ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเติบโตของพรรค นี่คือสิ่งที่ต่างประเทศเขาทำกัน แต่ของเราตอนนี้สมาชิกในเขตมีจำนวนไม่มาก บางเขตมีสมาชิกหลักร้อย ตนคิดว่ายังไม่สะท้อนมากเท่าไหร่ในกติกาที่มีอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งการล็อกค่าสมัครซึ่งเป็นปัญหามาก ทุกคนไม่อยากจ่ายเงิน หรือบางทีเป็นการบีบให้พรรคที่อยากมีสมาชิกจำนวนมากไปจ่ายเงินเอง ซึ่งควรปล่อยให้พรรคตัดสินใจเองเรื่องค่าสมัคร ไม่ใช่ไปบีบไปตั้งกติกาให้เขาทำงานยาก และเมื่อมีสมาชิกหลายหมื่นคนต่อเขต เมื่อทำไพรมารีโหวต ตนคิดว่าจะได้ผลสะท้อนกับประชาชนมากกว่าหลักร้อยคน

นายธีรัจชัย กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องวิธีการคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP) นั้น ขณะนี้จะเห็นว่ามีการเถียงกันว่าเคยตีความว่าใช้ได้หรือไม่ในศาลรัฐธรรมนูญ แต่ข้อความตามมาตรา 93 ระบุว่าให้มี ส.ส.พึงมี ส่วนมาตรา 91 ที่ระบุว่าในส่วนนี้ให้เป็นกฎหมายลูก เรื่องนี้ยังมีการตีความเป็นสองทางยังไม่มีข้อยุติ ซึ่งระบบ MMP กับระบบคู่ขนานปี 2540 มีข้อแตกต่างกัน คือ ระบบ MMP จะทำให้พรรคการเมืองมีความหมายทุกคะแนน เพราะพรรคต้องเน้นทำนโยบายจริงๆ ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งในอนาคต แต่ระบบคู่ขนานแยกจากกัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเหมือนของแถมจากเขต ความสำคัญที่พรรคจะทำนโยบายหรือไม่ก็ไม่ค่อยสำคัญมากนัก ถ้าเป็นไปได้เป็นระบบ MMP ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้เป็นระบบคู่ขนานก็ไม่เป็นไร มันอยู่ที่การพัฒนาการเมืองของประเทศ ถ้ามีโอกาสปรับปรุงได้ก็ปรับปรุง ซึ่งเรื่องวิธีการคำนวณแบบ MMP พรรคก้าวไกลยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะเอาแค่ไหนอย่างไร หรือจะไปให้ความสำคัญตรงอื่น เรายังเถียงกันอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image