มหาดไทย กำชับผู้ว่าฯ 5 จว.ภาคใต้ สกัดโควิด หลังพบผู้ติดเชื้อ ‘โอไมครอน’ ที่มาเลเซีย

“มหาดไทย” กำชับผู้ว่าฯ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด หลังพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายแรกที่มาเลเซีย

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนเกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงต้องเฝ้าระวัง และได้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนเป็นรายแรกในประเทศมาเลเซีย และมีแนวโน้มอาจจะมีการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทย ตนจึงได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล เน้นย้ำการปฏิบัติโดยใช้กลไกฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ และผู้นำชุมชน บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวทางปฏิบัติ ได้แก่

1.สร้างการรับรู้และความเข้าใจมาตรการสำคัญของทางราชการอย่างต่อเนื่อง ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐ และภาคเอกชน บังคับใช้มาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดในพื้นที่ ตามวิธีป้องกันการติดเชื้อโควิดขั้นสูงสุด (Universal Prevention) และมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) และเน้นย้ำฝ่ายปกครอง ให้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่

2.เพิ่มความเข้มข้นการตรวจตราและสอดส่องดูแล ไม่ให้มีการลักลอบหลบหนีเข้าประเทศและการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติ หากพบการกระทำผิด ให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด ทั้งผู้นำพาและผู้ให้ที่พักพิง

3.ดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองเชิงรุก (Active Case Finding) อย่างเข้มข้น มุ่งเน้นการตรวจคัดกรองในพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก และสถานที่เสี่ยงที่มีการรวมกลุ่มของประชาชน เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เช่น สถานประกอบการ โรงงาน และตลาด เป็นต้น

Advertisement

4.ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนกลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่สมควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

5.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เข้า รับการฉีดวัคซีน โดยมุ่งเน้นกลุ่ม 608 และประชาชนทั่วไป ด้วยการกำหนดจุดรับบริการฉีดวัคซีนทั้งรูปแบบ On – Site และรูปแบบ Mobile unit เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับผู้ที่ไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีนด้วย

“ให้ฝ่ายปกครอง นายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ฯลฯ และผู้นำชุมชน ติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่และตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีข้อมูลเพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้รับรู้ร่วมกัน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image