ครย.ปักธง 12.12 ม็อบล่าชื่อ ‘ยกเลิก 112’ 8-9-10 ธันวา เดินหน้ายื่นค้านศาล รธน. ลุยฟ้อง UN ปมถูกรัฐละเมิดสิทธิ

ครย.ปักธง 12.12 ม็อบล่าชื่อ ‘ยกเลิก 112’ 8-9-10 ธันวา เดินหน้ายื่นค้านศาล รธน.-ลุยฟ้อง UN ปม กสทช.-รัฐไทย ‘ละเมิดสิทธิ’

เมื่อเวลา 11.05 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ตัวแทนกลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และกลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย ร่วมแถลงข่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศเดินหน้ารวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอยกเลิกกฎหมายมาตรา 112, เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง และยกระดับการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ ตลอดเดือนธันวาคมนี้

นายยิ่งชีพกล่าวว่า เราใช้เวลามาเดือนเศษ ตั้งแต่ที่เริ่มเปิดให้ประชาชนที่เห็นว่าควรจะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้าชื่อเสนอแก้ไขให้ยกเลิก ม.112 ออกจากประมวลกฎหมายอาญา ยอดล่าสุด 237,000 กว่ารายชื่อ การลงชื่อสามารถทำได้ทั้งทางออนไลน์และกรอกแบบฟอร์มในกระดาษ สมัยนี้ไม่ต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนแล้ว ซึ่งทั้ง 2 แบบจะนำมานับรวมกัน

นายยิ่งชีพกล่าวว่า ตามกฎหมายในปัจจุบัน การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนที่จะนำไปยื่นต่อรัฐสภาต้องใช้ 10,000 รายชื่อ แต่เราได้ 200,000 กว่าชื่อแล้ว ดังนั้น จำนวนรายชื่อไม่ใช่ปัญหา เรามีมากกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเอาไว้หลายเท่า เราสามารถนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นต่อสภาเพื่อเสนอยกเลิก 112 ได้เลย แต่ว่าเรายังไม่นำไปยื่นต่อสภาในวันนี้ สาเหตุเพราะ ‘เรารอฟังกระแสตอบรับจาก ส.ส. และพรรคการเมืองต่างๆ ในสภา’ ซึ่งพบว่ามีหลายพรรคขานรับ และมีหลายพรรคออกมาแสดงจุดยืนเกี่ยวกับข้อเสนอนี้พอสมควร ถ้าดูจากจำนวนทั้งหมดมีโอกาสมากที่เราจะได้เสียง ส.ส.ในสภาไม่เพียงพอสำหรับรับหลักการวาระแรก ดังนั้น หากนำร่างไปยื่นต่อรัฐสภาพรุ่งนี้ก็ทำได้ แต่เราเห็นว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่เข้าสภาแล้วจะไปเผชิญหน้ากับการโหวตตกในวาระแรก

“การเดินทางเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เป็นการเดินทางระยะยาว ควบคู่ไปกับงานที่จำเป็นต้องทำเพื่อเปลี่ยนเสียงในสภา ถ้าหากว่า ส.ส.ในสภาทราบว่ามีพี่น้องประชาชนลงชื่อและเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้จำนวนมาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งก็จำเป็นที่จะต้องสนใจว่า ถ้าหากไม่รับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ โอกาสที่จะได้รับเลือกครั้งหน้าก็น้อยลง ดังนั้น การเพิ่มจำนวนรายชื่อเพื่อบอกกับ ส.ส.ในสภาเป็นเรื่องสำคัญ

Advertisement

“การเปลี่ยนที่นั่งในสภาให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต้องออกไป ให้คนที่ประกาศชัดเจนว่ามาตรา 112 มีปัญหาและจะต้องถูกแก้ไขอย่างไรเข้าไปให้มากที่สุด เพื่อที่จะลงมติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะต้องทำไปควบคู่กัน

“กิจกรรมรณรงค์เดินหน้าเพื่อป่าวประกาศว่ามาตรา 112 เป็นปัญหาอย่างไร และให้ประชาชนมาลงชื่อให้มากที่สุด จะดำเนินต่อไป ‘รอจังหวะ’ ที่รัฐสภามีที่นั่งที่สะท้อนเสียงของประชาชนได้จริงกว่านี้ รอจังหวะที่รัฐสภามีคนที่พร้อมจะยกมือสนับสนุนข้อเสนอได้มากกว่านี้ วันนั้นเราจะนำไปยื่น” นายยิ่งชีพกล่าว

ยิ่งชีพ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ด้าน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวว่า หลังจากจัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมนั้น ถือเป็นชัยชนะเบื้องต้นสำหรับคนที่มาร่วมชุมนุม จะเห็นได้ว่า 1.คืนวันที่ 31 ตุลาคม พรรคเพื่อไทยก็ออกแถลงการณ์ว่าจะผลักดันให้ข้อเสนอของพวกเราเข้าสู่สภา 2.ทำให้พรรคก้าวไกลผลักดันการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 รวมทุกภาคส่วน

“วันนี้ถือว่า ‘ข้อเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 ได้ ปักธงในสังคมไทย’ เรียบร้อยแล้ว ไม่มีข้อโต้แย้งอันใดอีก ทุกภาคส่วนในสังคมนี้เห็นแล้วว่ามาตรา 112 มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายอย่างล้นเกิน การนำมาเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง คุกคามเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และนำมาใช้ปิดกั้นความจริง ปิดกั้นความคิดเห็นของประชาชน คือข้อพิสูจน์หลังการชุมนุม 31 ตุลาคมที่ผ่านมา” นายสมยศกล่าว

นายสมยศกล่าวต่อว่า ขณะนี้การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านมาตรา 112 ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย แต่ได้ขยายไปทุกภาคส่วนของนานาชาติแล้ว เริ่มต้นจากกลุ่มคนไทยในยุโรปเกือบทุกประเทศ ไม่ว่าสกอตแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมไปถึงอเมริกาหลายรัฐด้วยกัน ในนามของกลุ่ม Thai Rights Now กรณีการชุมนุมกันเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม “บอกลา 112” ก็คือผลสะเทือนจากการชุมนุมวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

นายสมยศกล่าว จากนั้นวันที่ 10 พฤศจิกายน ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยออกมา เป็นที่รับทราบกันว่าการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว แกนนำโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงศ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่ามีลักษณะเป็นการล้มล้างการปกครอง ในนามคณะราษฎรยกเลิก 112 ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าว ด้วยเห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่นำมาสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนที่สุด

“เราเห็นว่าเสรีภาพเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพของประชาชนไทยจะนำมาสู่การมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย’ หรือ ‘อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย’ ถ้าไม่มีเสรีภาพก็จะไม่มีอธิปไตยของปวงชนไทยและไม่มีการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ก้าวหน้าขึ้น นั่นหมายถึงประเทศไทยไปสู่ยุคมืด ดังนั้น มาตรา 112 ที่ปิดกั้นเสรีภาพ จึงเป็นกฎหมายที่ล้าหลัง เราจึงคัดค้าน ที่สำคัญคือถ้อยวินิจฉัย ได้ไปเปลี่ยนแปลงข้อความที่เป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ว่า ‘อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย’ ทำให้มีกลุ่มออกมาคัดค้านเดินขบวน ไม่เห็นด้วยเมื่อ 14 พ.ย.ที่ผ่านมา” นายสมยศกล่าว และว่า

นายสมยศกล่าวว่า ผลของคำวินิจฉัยนี้ยังนำมาสู่การคุกคามสื่อมวลชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวันที่ 26 พ.ย.2564 เมื่อ พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาทำนองว่า ขอความร่วมมือ และให้คำแนะนำที่จะไม่มีการเสนอข่าวการเคลื่อนไหวของแกนนำคณะราษฎร พวกเราถือว่าเป็นการฉวยเอาโอกาสคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน และก็จะทำให้ประเทศไทยมีปัญหากับนานาชาติ เพราะความเป็นจริงแล้วการนำเสนอข่าวเรื่องเหล่านี้ยังมีสำนักข่าวต่างประเทศด้วย

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข

“ต่อไปนี้ประเทศไทยก็จะมีการนำเสนอข่าว 2 แบบ อย่างแรกคือ 1.การนำเสนอข่าวอย่างถูกปิดกั้น ไม่กล้านำเสนอข่าว และ 2.การนำเสนอความจริงที่ถูกปิดกั้นกระจายออกไปยังต่างประเทศ

“ขอเรียกร้องต่อสื่อมวลชนทุกท่านว่าอย่าได้ปิดกั้น หรือเซ็นเซอร์ตัวเองจากคำแนะนำ หรือการขอความร่วมมือของ กสทช. ซึ่งเราเห็นว่าการออกมาของ กสทช.นั้นได้ฉวยโอกาสโดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นการวินิจฉัยกับแกนนำที่ปรากฏในคำร้องเท่านั้น เป็นการห้ามการกระทำดังกล่าวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ไม่ได้มีผลผูกพันต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเสรีภาพของสื่อมวลชน” นายสมยศกล่าว

นอกจากนี้ นายสมยศยังเรียกร้องต่อสื่อมวลชนทุกสำนักให้ยืนยันเสรีภาพของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญที่จะนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงนำเสนอข่าวของราษฎรให้มากขึ้น เนื่องจาก ครย.ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และกำลังนำเสนอขอเรียกร้องเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ก้าวหน้า เพื่อยืนยันเสรีภาพของประเทศไทย เสรีภาพของทุกคน เพื่อให้ประเทศไทยไม่ถูกตำหนิจากนานาชาติ

“เรื่องทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ปิดกั้นการชุมนุมแสดงออกโดยสงบสันติ การแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการของคนไทยนั้น ในวันที่ 10 ธันวาคม เวลา 10.00 น. หน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ครย.จะมีตัวแทนไปยื่นข้อเท็จจริงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัย และ กสทช.ออกมาฉวยโอกาส คุกคามสิทธิเสรีภาพ” นายสมยศกล่าว

ขณะที่ นายธนพัฒน์ กาเป็ง หรือปูน แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า กล่าวว่า หลายท่านคงได้ทราบดีเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื้อหาโดยรวมคือการเสนอ 10 ข้อเรียกร้องของคณะราษฎรเป็นการล้มล้างการปกครอง จะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องต่อสถาบัน เราเห็นได้ว่าการยกตัวอย่างของมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ้างไม่สามารถใช้ได้ เพราะธรรมนูญ 4 ฉบับก่อนหน้านี้ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของการรับบริจาค ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรม ประเพณีอันดีงาม คำวินิจฉัยที่เกินกว่าความเป็นจริงนั้น ย่อมเป็นผลเสียต่อประชาชนเอง เพราะเราใช้สิทธิเสรีภาพ และสิทธินี้เราก็ใช้วิจารณ์โดยสุจริต เราจึงเห็นควรว่าคณะรณรงค์ยกเลิก 112 ต้องจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อตอบโต้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ถูกต้อง และ ‘มติของประชาชน’ คือให้ ‘ยกเลิกมาตรา 112’ พร้อมทั้งนำ ’10 ข้อเสนอของคณะราษฎร’ เข้าสู่วาระของกฎหมายในอนาคตต่อไป

ด้าน น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือไหม แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ที่ต้องยกเลิกมาตรา 112 นั้น เราต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ สังคมตกอยู่ในความหวาดกลัว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องสำคัญโดยสุจริตใจของประชาชน ในการที่จะพัฒนาประเทศของเราเริ่มมีพื้นที่น้อยลงทุกที ไม่มีใครรู้ว่าขอบเขตเสรีภาพในการพูดอยู่ตรงไหน

“มาตรา 112 เป็นข้อจำกัด มีคนที่อยู่ในคุกหลายคนออกมาเรียกร้องความเท่าเทียม เรียกร้องประชาธิปไตย สุดท้ายก็ใช้ ม.112 กลั่นแกล้ง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นข้อสงสัยของสังคมไทย เกิดช่องว่างระหว่างสถาบันกับราษฎร ทุกวันนี้เราคิดว่าถ้าจะอยู่คู่กันต้องมีพื้นที่ มีการพูดคุยถกเถียงโดยเสรีภาพ และสุจริตใจ” น.ส.ธนพรกล่าว

จากนั้น “แชมป์” ตัวแทนกลุ่มศาลายาเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ก่อนถึงวันที่ 12 ธันวาคมนี้ จะมีกิจกรรมของ ครย.และเครือข่าย

โดย วันที่ 8 ธันวาคม จะมีกิจกรรมคาร์ม็อบของทะลุฟ้าในช่วงบ่าย ติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ “ทะลุฟ้า”

วันที่ 9 ธันวาคม ครย.จะไปยื่นหนังสือต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เวลา 11.00 น. เพื่อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง ในประเด็น 1.เสรีภาพ 2.อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร

วันที่ 10 ธันวาคม จะมีการไปยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) เกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกฎหมาย ม.112

สำหรับ การชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 12 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ไม่ได้มีแค่การปราศรัย แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ทั้งดนตรี บูธกิจกรรม และวงเสวนากึ่งวิชาการ ตั้งแต่เวลา 16.00-21.00 น. ที่แยกราชประสงค์

“ขอเชิญชวนทุกคนมาแสดงพลังร่วมกัน ให้รู้ว่าการเข้าชื่อยกเลิก 112 ไม่ใช่กบฏต่อระบอบการปกครองไทย คำตัดสินของศาลธรรมนูญอาจจะสูงที่สุด และผูกพันกับทุกองค์กรของรัฐบาล แต่คำตัดสินนี้ไม่มีทางสูงกว่าเจตจำนงของประชาชนอย่างแน่นอน

“เราไม่ได้ล้มล้างการปกครอง เราแค่ทำเพื่อประชาธิปไตยและเพื่อสังคมที่ดีกว่าของประเทศเรา” แชมป์กล่าว

ด้าน นายเจษฎา ศรีปลั่ง แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี กล่าวว่า เราพอจะเห็นตัวอย่างมากมายว่า คดี 112 มีผลกระทบอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ไปจนถึงผู้สูงวัยก็โดน ม.112 ได้เช่นกัน ถ้าหากบ้านเมืองนี้ไม่สามารถตั้งคำถามได้ แล้วรัฐสวัสดิการประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร พี่น้องประชาชนคนไทยจะได้รับสวัสดิการที่ดีได้อย่างไร ฉะนั้น วันที่ 12 เดือน 12 เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป ที่แยกราชประสงค์ ขอให้มากันให้แน่น

“เตรียมเครื่องกันหนาวให้พร้อม เพราะอากาศน่าจะเย็น แล้วเรามาร่วมฉลองเพื่อส่งเสียงไปถึงฟ้าว่าถึงเวลารับฟังเสียงราษฎรได้แล้ว” นายเจษฎากล่าว

สำหรับ “คณะราษฎรยกเลิก 112” หรือ ครย.112 ประกอบด้วยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม อาทิ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, กลุ่มสลิ่มกลับใจ, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, สหภาพคนทำงาน, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กลุ่ม Supporter Thailand และ We Volunteer เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image