‘ปริญญา’ แนะ ‘ชาวจะนะ’ ฟ้องบิ๊กตู่ คุม ตร.สลายม็อบไม่ชอบ กม.-คำสั่งศาลไม่มีขอ

‘ปริญญา’ แนะ ‘ชาวจะนะ’ ฟ้องบิ๊กตู่ เป็นคดีตัวอย่าง ชี้ที่ผ่านมา ตร.สลายม็อบไม่ชอบ กม.-คำสั่งศาลไม่เคยขอ

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีสลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

การสลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ครับ

ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคสอง จะกำหนดไว้ว่า หน้าทำเนียบรัฐบาลจะเป็นพื้นที่ที่ดำเนินการชุมนุมสาธารณะไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปใช้อำนาจสลายการชุมนุมได้เลย หากต้องดำเนินการตาม มาตรา 21, มาตรา 22, มาตรา 23 และมาตรา 24 จนครบถ้วนก่อน ซึ่งโดยสรุปขั้นตอนได้ดังต่อไปนี้ครับ

1. ต้องแจ้งผู้ชุมนุมให้แก้ไขก่อน (ม.21 วรรคหนึ่ง(2)) ซึ่งก็คือให้ย้ายไปชุมนุมสถานที่อื่น

Advertisement

2.ถ้าผู้ชุมนุมไม่ย้ายที่ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องไป ร้องขอต่อศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม (ม.21 วรรคสอง)

3.ถ้าศาลเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและสั่งให้เลิกชุมนุม ก็ต้องไป ปิดคำสั่งศาลและแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบ (ม.22 วรรคสี่)

4.ถ้าผู้ชุมนุมไม่เลิกชุมนุมก็ให้ประกาศเป็น “พื้นที่ควบคุม” และกำหนดเวลาให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ (ม.23)

Advertisement

5.เมื่อกำหนดเวลาครบแล้วจึงจะถือว่าผู้ชุมนุม “กระทำผิดซึ่งหน้า” แล้ว ถึงจะดำเนินการจับกุมผู้ชุมนุมได้ (ม.24)

และแม้จะจับกุมด้วยข้อหาฝ่าฝืนประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ห้ามมิให้มีการชุมนุม แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มิได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุม ว่าง่ายๆ คือถ้าจะการสลายการชุมนุม ที่เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าด้วยเหตุผู้ชุมนุมมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายใด ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 5 ขั้นนี้ ซึ่งมีขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการไปขอคำสั่งศาลให้สั่งเลิกการชุมนุม จึงจะสลายการชุมนุมได้ครับ

แต่การสลายการชุมนุมของชาวบ้านจะนะ สงขลา ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ (6 ธันวาคม 2565) ไม่มีการดำเนินการไปขออำนาจศาลตามมาตรา 22 ทั้งไม่มีการดำเนินการตามมาตรา 23 และมาตรา 24 แต่ประการใด ผู้ชุมนุมจึงยังมิใช่ “ผู้กระทำผิดซึ่งหน้า” ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปใช้กำลังสลายการชุมนุมและจับกุมได้เช่นนี้ครับ

การสลายการชุมนุมชาวบ้านจะนะ จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และยิ่งเป็นการจับกุมเพื่อให้ชาวบ้านหยุดเคลื่อนไหวเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดี ก็ยิ่งมิชอบด้วยกฎหมายหนักเข้าไปอีก เพราะเป็นการสลายการชุมนุมและจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐจะเอาการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนไปต่อรองกับการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนได้อย่างไร

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกครับ ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การสลายการชุมนุม ไม่มีการไปขอคำสั่งศาลเลย จึงน่าจะมีการดำเนินคดีให้เป็นคดีตัวอย่างครับ เพื่อมิให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้อำนาจเกินเลยกฎหมายกับประชาชนอีกครับ

ฟ้องศาลปกครองก่อน แล้วค่อยไปฟ้องศาลอาญาต่อก็ได้ครับ ฟ้องนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติเป็นจำเลยด้วยก็ยิ่งดี เพื่อมิให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐบาลทำอะไรแบบนี้อีกครับ

ท่านเจ้าหน้าที่ตำรวจโปรดเคารพกฎหมายด้วยครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image