ส่องทางออก
ลดขัดแย้ง ต้านนิคมฯจะนะ
หมายเหตุ – ความเห็นและข้อเสนอแนะของนักวิชาการถึงทางออกในการแก้ปัญหาการจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ถูกประชาชนในพื้นที่คัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง
สายัณห์ ทองศรี
นักวิชาการอิสระด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
โครงการนี้เกิดขึ้นมาจากความพยายามในการผลักดันของหน่วยงาน โดยที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อีกทั้งการจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 ในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP กำหนดจัดขึ้นด้วยการประชุมแบบออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าร่วมในเวที เพราะไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ ดังนั้นจึงมองว่าเป็นความเร่งรีบที่ไม่มีความจำเป็น เมื่อไม่มีความพร้อม ก็ควรจะเลื่อนออกไปก่อนเพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
ต้องยอมรับว่าที่มาของโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตนั้น เป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงเลือกจะนะเป็นโครงการแห่งที่ 4 เพราะมีการกว้านซื้อที่ดินโดยนักการเมืองที่ขายให้นายทุน ใช้จะนะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดย ศอ.บต.ใช้กฎหมายพิเศษในการดำเนินการ โดยอ้างว่าโครงการนี้เป็นของเอกชน แต่กลับใช้งบประมาณของรัฐในการผลักดันโครงการ ใช้การจ้างงาน 1 แสนอัตรา มาดึงดูดให้คนเห็นด้วย ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ไม่สามารถเป็นไปได้ ทำได้ก็เพียงแค่เป็นแรงงานรายวันเท่านั้น
ส่วนทางออกที่จะลดปัญหาความขัดแย้งนั้นมองว่ารัฐต้องแสดงความจริงใจให้คนจะนะ ชุมชน คือเปิดโอกาส รับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจัง โดยไม่ปฏิเสธเขาก่อน และยอมรับข้อเสนอในการทำประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA ตามที่ตกลงกับชาวบ้านในพื้นที่นี้เพราะการทำ SEA จะเป็นทางเลือกดี ที่ได้ศึกษาถึงยุทธศาสตร์พื้นที่ และเป็นที่ยอมรับ ตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกัน
สินาด ตรีวรรณไชย
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความเห็นที่ไม่ตรงกันในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนา เชิงการพัฒนาพื้นที่ เวลามีความเห็นไม่ตรงกันลักษณะการแก้ปัญหาด้วยการบอกว่าให้ใช้ช่องทาง EIA เป็นช่องทางที่ไม่เหมาะสม ถ้าเรารู้จักเรื่องของ SEA จะเป็นทางออกทุกฝ่าย เพราะถือเป็นการศึกษาที่มองถึงระยะกลาง และระยะยาว ในเชิงการมองยุทธศาสตร์ ทางเลือกหรือแนวทางที่จะพัฒนาต่อไปได้ มีการเคลียร์ข้อมูลในพื้นที่ ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นจริง จะไม่พูดกันคนละที คนที่ไม่เห็นด้วย คนที่เห็นด้วย ก็จะได้สามารถจบปัญหาด้วยข้อมูลพื้นฐานที่จะมีความละเอียด รอบด้าน และมีการเสนอแนวทางการพัฒนาในระดับยุทธศาสตร์ มีทางเลือกในการพัฒนา บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีการศึกษาที่มีขอบเขตทั้งในพื้นที่และโดยรอบ
ทางออกสำหรับเรื่องคือ รัฐบาลควรจะเซตซีโร่ ยอมรับข้อเสนอในการทำ SEA ตามที่ได้มีการตกลงกันมาก่อนแล้ว ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่ต้องทำ ซึ่งจริงๆ มองว่าไม่ได้มีความขัดแย้งในตัวโครงการ แต่คนที่เห็นต่างกันนั้นก็จะเห็นต่างกันในยุทธศาสตร์การพัฒนามากกว่า ดังนั้น SEA จึงถือเป็นทางออก เพราะการศึกษาไม่ควรทำเฉพาะในอำเภอจะนะ ไม่ได้มีข้อจำกัดเหมือน EIA เพราะการศึกษาจะมีความหลากหลายในแง่ของพื้นที่ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ นอกจากระดับอำเภอแล้ว ก็ยังขยายไปในระดับภูมิภาคอีกด้วย
ดังนั้นการที่รัฐบาลจะตกลงรับข้อเสนอของชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ในการศึกษา SEA เพื่อเป็นทางออก และเป็นทางเลือกในการกำหนดการพัฒนาพื้นที่ เท่ากับเป็นการเซตซีโร่ หรืออาจจะใช้หน่วยงานที่มีอยู่ก็คือ สภาพัฒน์ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ มีกระบวนการต่างๆ ซึ่งหากรัฐบาลยอมศึกษา SEA ก็อาจจะไม่ได้เท่ากับการเริ่มต้นใหม่ก็ได้
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแม้จะตกลงตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านในเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นก็ไม่ได้ทำให้การพัฒนานั้นล่าช้าออกไป เพราะหากมีผลกระทบเกิดขึ้นจากโครงการก็จะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่อย่างยาวนาน แต่หากมีการศึกษา SEA และพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางที่ได้ศึกษา ก็จะทำให้การพัฒนานั้น เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีความยั่งยืน
ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รัฐบาลควรดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ควรปฏิเสธการทำเอ็มโอยูดังกล่าวเพราะ ร.อ.ธรรมนัส เป็นตัวแทนรัฐบาลไปเจรจากับชาวบ้านแล้ว อย่าอ้างว่าต้องทำเอ็มโอยูกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบดังกล่าวได้ เนื่องจากมีผลผูกพันแล้ว
การทำเอ็มโอยูดังกล่าว ถือว่ารัฐบาลรับทราบตั้งแต่ต้น อย่าอ้างว่าไม่มีผลในทางปฏิบัติหรือกฎหมาย ดังนั้นรัฐบาลควรตั้งโต๊ะ หรือเปิดเวทีเจรจากับเครือข่ายดังกล่าวตามเอ็มโอยู เพื่อหาทางออกและแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีไม่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม หรือจับกุมชาวบ้านกว่า 40 คน โดยอ้างว่าเป็นการก่อความไม่สงบ ส่งผลให้ปัญหาลุกลามในวงกว้าง ถูกคัดค้านหรือต่อต้านมากขึ้น อาจนำไปสู่ความรุนแรงในพื้นที่ภายหลังได้
รัฐบาลควรถอดบทเรียนโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง ไปกักเก็บเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง ก่อนส่งน้ำไปยังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ที่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นพร้อมชดเชยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ปี ก่อนเริ่มก่อสร้างได้ หรือไปศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลได้เข้าไปทำความเข้าใจ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน หรือท้องถิ่นเป็นอันดับแรกก่อน ถ้าชุมชนเข้าใจ ยอมรับ และมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน เชื่อว่าโครงการดังกล่าวสำเร็จ หรือบรรลุตามเป้าหมายได้
สิ่งที่เครือข่ายดังกล่าวเป็นห่วงมากที่สุด คือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน ดังนั้นรัฐบาลต้องศึกษาและเข้าใจบริบทท้องถิ่นก่อน ว่าโครงการดังกล่าวสามารถพัฒนาหรือยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างไร เพราะเมืองอุตสาหกรรมบางแห่ง มีการจ้างงานท้องถิ่นน้อยมาก ทำให้ชุมชนไม่ได้รับประโยชน์แท้จริง ดังนั้นต้องกำหนดจ้างงานในพื้นที่อย่างน้อย 50% สร้างโรงพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพอนามัย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ไม่กระจุกตัวเฉพาะพื้นที่ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมชดเชยชุมชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย
ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่
จะนะเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก เพราะเป็นทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และปัญหาทับซ้อนเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย หากรัฐบาลไม่สามารถพูดคุย หรือรีบด่วนในการตัดสินใจ จะยิ่งทำให้ปัญหาหนักกว่าเดิม ทางออกที่แท้จริงต้องกลับไปพิจารณาที่กระบวนการทั้งหมดว่าด้วยเรื่องของการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ ปัญหาหนึ่งของไทยที่เจอมาตลอดคือกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้อย่างไร ไม่ว่าจะด้านความโปร่งใสในข้อมูลและผู้มีส่วนร่วมทั้งหมด รวมถึงความชอบธรรมในขณะนั้นว่ามีมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ กลุ่มผู้เห็นต่างในสามจังหวัด พยายามจะเข้ามาจับประเด็นนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสของฝ่ายรัฐ ถ้ามองวิกฤตว่าจะมีการขยายผลเรื่องความรุนแรง หรือการหามวลชนเข้ามา จริงๆ แล้วรัฐสามารถเข้าไปพูดคุยได้ แต่โอกาสคือสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า กล่าวคือ หากผู้เห็นต่าง ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกระบวนการด้านการเมือง รัฐบาลสามารถรวบทั้งปัญหาจะนะและปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ดูว่าเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความไม่ชอบธรรมด้านการเมืองหรือการจัดสรรทรัพยากรอย่างไร
ล่าสุด ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า ใครไม่เกี่ยวกับจะนะ อย่ามาวุ่นวายนั้น ส่วนตัวสงสัยว่าท่านหมายความว่าอย่างไร หมายถึงกระบวนการสิ่งแวดล้อมจากภูมิภาคอื่นของประเทศหรือภายนอกประเทศ เพราะประเด็นสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมและการพัฒนา เป็นปัญหาระดับโลก การตัดขาดภาคประชาสังคมจึงเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญคือการสื่อสารที่เป็นไปอย่างค่อนข้างไม่ระมัดระวัง จะทำให้ปัญหาแก้ยากกว่าเดิม เพราะฉะนั้น จะต้องระวังท่าที และคำพูดที่อ่อนไหว โดยประเด็นที่อ่อนไหวที่สุด และจะเป็นวิกฤตก็ได้คือ กรณีที่สามจังหวัดที่เข้ามาเกี่ยว ว่าจะมีการขยายมวลชนหรือจุดประเด็นเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่อหรือไม่ แต่รัฐบาลก็สามารถใช้เป็นโอกาสได้ โดยใช้กลไกรับฟังความเห็นที่โปร่งใส ฉะนั้น การสร้างความยอมรับเป็นปัญหา และโจทย์หลักที่ท้าทายมาก ว่าจะทำให้เกิดการยอมรับกระบวนการรับฟังความเห็นและแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างไร หากรัฐรีบผลักออกไปจากการพูดคุยเหมือนที่นายกฯสื่อสารว่าใครไม่เกี่ยว อย่ามาวุ่นวาย คิดว่าตอนนี้สร้างศัตรูเยอะ
นอกจากนี้ จุดสำคัญคือการล้อมปราบผู้ชุมนุมก็ทำให้เกิดกระแสการจุดติดของภาคประชาสังคมทั้งประเทศ กระตุ้นให้เกิดความเห็นพ้องเพิ่มขึ้นไปอีก กล่าวโดยสรุปคือ ประเด็นจะนะยืดเยื้อ ยาวนาน ขบวนการของชาวบ้านในพื้นที่มีพัฒนาการความเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เกี่ยวข้องทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความไม่เท่าเทียม และสิทธิชุมชน ประกอบกับมีปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้บวกเข้ามาอีก จึงยิ่งต้องใช้ความสุขุมในการตัดสินใจ สร้างกระบวนการยอมรับ นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด